ปราชญ์ของชุมชนแห่งบ้านห้วยสะพาน

รักษาป่าไผ่พง              ลุงประยงค์  แก้วประดิษฐ์

ปราชญ์ชุมชนต้นคิด       สืบป่าสวยห้วยสะพาน

“ป่าคือชีวิต” เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ป่าชุมชนอันมีคุณค่าของชุมชนบ้านห้วยสะพาน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยการเริ่มจากพื้นที่เพียงไม่กี่ไร่แล้วขยายออกไปเรื่อยๆ จนเกิดสิ่งที่เกิดขึ้นจากป่าชุมชนมากมายไม่ว่าจะเป็นประเพณีไทย เช่น รำเหย่อย ร่อยพรรษา และที่สำคัญคือการเกิดเป็นกลุ่มอาชีพขึ้นในชุมชนมากกว่า 20 กลุ่ม ที่ทำให้คนในชุมชนอยู่กันอย่างมีความสุข มีรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวและมีความเป็นอยู่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

คุณประยงค์ แก้วประดิษฐ์ หรือลุงเปียก ผู้ได้รับฉายาว่าปราชญ์ของชุมชนแห่งบ้านห้วยสะพาน เป็นคนพนมทวนโดยกำเนิด เกิดในหมู่บ้านชุมชนบ้านห้วยสะพาน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2494 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดห้วยสะพาน และได้ทำการศึกษาพิเศษในหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน จากอำเภอพนมทวนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภายหลังทำงานให้กับชุมชนด้วยความมุ่งมั่นจนได้รับ ปริญญากิตติมศักดิ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2549

เพราะเหตุใดลุงเปียกจึงเป็นปราชญ์ของชุมชน

          ด้วยบทบาทที่สำคัญของลุงเปียก ประธานอนุรักษ์ป่าไม้ชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี องค์ความรู้ที่สำคัญ คือทำอย่างไรที่จะให้คนในชุมชนมีหัวใจที่รักป่า หวงแหน ป่าที่เป็นสมบัติของคนในชุมชนและของคนทั้งชาติ คุณประยงค์ได้ใช้ศาสตร์ของความสามัคคีเป็นรากฐานสำคัญทำให้คนในชุมชนมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันนับเป็นองค์ความรู้ที่คุณประยงค์ยึดเป็นหลักในการพัฒนาจนบังเกิดเป็นผลผลิตของการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มอาชีพที่สร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนมากกว่า 20 กลุ่มอาชีพ อาทิตย์

– กลุ่มอาชีพข้าวเกรียบสมุนไพร

– กลุ่มอาชีพการทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ตาล

– กลุ่มอาชีพการทำตาลโตนด

– กลุ่มอาชีพประดิษฐ์จากตอไม้ลูกตาล

– การทำบัญชีครัวเรือน ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจในรูปแบบของโฮมสเตย์ (Home Stay) เปิดเป็นบ้านพักชั่วคราวให้คนได้พักอาศัย เพื่อศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิดในการทำงาน

          ตลอดเวลาที่เป็นความพยายามรวมกลุ่มคนในชุมชนทำการพัฒนาป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีจะมีบุคคลหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนโรงเรียนทั้งในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดอื่นๆ ได้ให้ความสนใจมาศึกษาและดูวิธีการทำงานอย่างต่อเนื่อง คุณประยุงค์ แก้วประดิษฐ์หรือลุงเปียก ก็จะเป็นผู้นำกลุ่มบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแนวคิด และวิธีการทำงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งทำให้ผู้ฟังได้มองเห็นได้จากการบอกเล่าถึงความยากลำบากปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เป็นความภาคภูมิใจ

ในปัจจุบันป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี คือแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีตลอดจนโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ในการให้นักศึกษามาฝึกงานและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ซึ่งลุงเปียกจะเป็นวิทยากรหลักในการให้ความรู้นักศึกษาหรือจัดกิจกรรมจัดฐานการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เข้ารับการอบรมนับเป็นความเชี่ยวชาญในด้านป่าชุมชนของคุณประยงค์ แก้วประดิษฐ์

          หลักของการทำงานเพื่อชุมชน

          คุณประยงค์ แก้วประดิษฐ์ ใช้การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างรั้วให้กับป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานด้วยวิธีดังนี้

  1. จัดกิจกรรมให้แก่เด็กและเยาวชนแกนนำให้เข้ามาทำกิจกรรมภายในป่าจะเป็นการปลูกฝัง

สร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กและเยาวชน

  1. การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นโดยนำเนื้อหาของป่าชุมชนทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นโดยการสนับสนุนจาก อบต. บ้านห้วยสะพาน
  2. ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วเด็กหรือคนในชุมชนจะยอมรับและทำตาม
  3. ใช้แนวคิดเป็นเจ้าของกันทุกคนป่ายังยืนได้เพราะทุกคนได้เห็นคุณค่าและความสำคัญ
  4. การจัดเวรยามให้เฝ้าระวังอย่างเป็นรูปธรรมแต่เป็นเวรยามโดยธรรมชาติ คือชาวบ้านที่นำวัวไปเลี้ยงในป่าจะเป็นพวกคอยสอดส่องดูแลผู้ที่ประสงค์ร้ายกับป่าแห่งนี้

ผลของการทำงาน

  1. ชุมชนบ้านห้วยสะพานได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจาก ปตท. ปี พ.ศ. 2548
  2. ชนะเลิศการประกวดครอบครัวนักอนุรักษ์ทรัพยากร ป่าไม้ดีเด่นของจังหวัดกาญจนบุรี
  3. รับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติเป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี สาขาภูมิปัญญา ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2549

การสืบทอดนับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ป่าชุมชนยังคงอยู่ต่อไปได้ป่าชุมชนแห่งบ้านห้วยสะพาน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี จัดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือกันในการอนุรักษ์ให้คงอยู่เพื่อให้เป็นสมบัติของชุมชนที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้ของดีที่มีอยู่ในป่าและยังมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *