ความเป็นมาของชุมชนบ้านแม่กระบุง

บ้านแม่กระบุงเป็นหมู่บ้านชาวยไทยเชื้อสายกระเหรี่ยงซึ่งเรียกตัวเองว่า ชาวกระเหรี่ยงมีประวัติมายาวนานกว่า 200 ปี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2327 นายย่องคื้อ ได้อพยพครอบครัวมาจากบ้านลิ่นถิ่นในเขตอำเภอทองผาภูมิ เพื่อหาที่ทำกินแก่งใหม่ต่อมาเมื่อมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นในปี พ.ศ. 2420 ทางการได้แต่งตั้งให้นายตู้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ซึ่งขึ้นกับอำเภอเมืองกาญจนบุรี เมื่อนายตู้เกษียณ นายอ๊อดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านแทน จำนวนประชากรและจำนวนหมู่บ้านก็เพิ่มขึ้น ได้แก่ บ้านต่อเรือ บ้านน้ำมุด บ้านท่าทุ่งนา บ้านสะแดะ บ้านห้วยเล็ก บ้านจองอั่ว บ้านตะเคียนปิดทอง บ้านตาพะคี้ ปัจจุบัน บ้านสะแดะ บ้านห้วยเล็ก บ้านจองอั่ว บ้านตะเคียนปิดทอง บ้านตาพะคี้ ไม่มีราษฎรอาศัยอยู่แล้วแต่มีหลักฐานต่างๆ ได้แก่ ผลหมากรากไม้ เช่น ขนุน มะม่วง มะพร้าว เป็นต้น เมื่อนายอ๊อดเกษียณอายุ นายย่องโกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ตอนนั้นมีชาวบ้าวอยู่กันประมาณ 27 ครอบครัว และขึ้นกับตำบลต่อเรือ อำเภอเมืองกาญจนบุรีโดยตำบลต่อเรือในขณะนั้นมี 5 หมู่บ้านคือ หมู่ที่ 1 บ้านต่อเรือ หมู่ที่ 2 บ้านแม่กระบุง (บ้านต้นมะพร้าวเดิม) หมู่ที่ 3 บ้านน้ำมุด หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนาเก่า และหมู่ที่ 5 บ้านสะแดะ เมื่อนายย่องโกเกษียณ นายเส็ง เขียวเหลือง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านแทน มีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 36 ครอบครัว และมีชาวบ้านอพยพย้ายที่ทำกินไปอยู่บริเวณบ้านนาสวน บ้านองสิต บ้านถ้ำองจุ คงเหลือชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 20 ครอบครัว และมีการประกาศจากทางการให้พื้นที่เหนือลำห้วยสะด่องเป็นกิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์ จึงได้ยุบหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 รวมกับหมู่ที่ 3 ขึ้นกับตำบลหนองเป็ด เมื่อนายเส็งเกษียณและเสียชีวิต ประมาณปี พ.ศ. 2525 นายบุญชู ศรีสุวรรณ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านแทน และมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านอีกต่อมาคือ นายแสวง สำเภาทอง นายชัยชนะ กลีบบัง และนายสนธิ เขียวเหลือง

          ต่อมาทางการประกาศให้บ้านต้นทะพร้าว (บ้านแม่กระบุงในปัจจุบัน) แยกออกจากหมู่ที่ 3 ตั้งเป็นหมู่ที่ 6 ขึ้นกับตำบลหนองเป็ด และในปี พ.ศ. 2534 ได้เปลี่ยนตำบลหนองเป็ดเป็นตำบลแม่กระบุงและมีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ ดังนี้

หมู่ที่ 1 บ้านหาดแดง

หมู่ที่ 2 บ้านแม่กระบุง (บ้านต้นมะพร้าว)

หมู่ที่ 3 บ้านน้ำมุด

หมู่ที่ 4 บ้านพุชะนี

หมู่ที่ 5 บ้านต้นมะพร้าว (บ้านต่อเรือเดิม)

บ้านแม่กระบุง ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่กระบุง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ตามพิกัด UTM ที่ E 497250 N 1607189  บ้านแม่กระบุงตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ พื้นที่ทั้งหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และบางส่วนมีพื้นที่คาบเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเอราวัณ สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นภูเขาสูง มีที่ราบสลับไหล่เขา ป่าไม้บริเวณโดยรอบยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ห้วยแม่กว้า ห้วยน้ำมุด และห้วยต้นมะพร้าว ฯลฯ ซึ่งไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ กอปรกับลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านตั้งอยู่ริมเขื่อนศรีนครินทร์ ส่งผลให้เมื่อมองจากหมู่บ้านแม่กระบุงจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่งดงามของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้นานพรรณที่อยู่รอบหมู่บ้าน

อาณาเขตติดต่อ

          ทิศเหนือ ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ บ้านปากเหมือง หมู่ที่ 7 ตำบลด่านแม่ แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี

          ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านบนเขาแก่งเรียง หมู่ที่ 3 ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี

          ทิศตะวันออก ติดต่อกับ พื้นที่อ่างเก็บน้ำหน้าเขื่อนศรีนครินทร์ ติดต่อกับพื้นที่อำเภอไทรโยค

          ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอไทรโยค

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม·

          ป่าไม้ : ป่าไม้ในเขตพื้นที่หมู่บ้านอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่ผากและไผ่นวลขึ้นผสมกับไม้ตะเคียน และไม้แดง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 เกิดปัญหาแล้งหนัก เนื่องจากไม้ไผ่ผากตายขุย ทำให้ไม่มีพื้นที่ดูดซับน้ำ ทั้งยังถูกหนูรบกวน ส่งผลให้ชาวบ้านทำข้าวไร่ได้ผลผลิตไม่ดีนัก เพราะขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร และประสบปัญหาศัตรูพืช กระทั่งในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการสํารวจพื้นที่ป่าประมาณ 500 ไร่ จัดทำเป็นป่าสาธารณะให้ชาวบ้านหาของป่าและเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ชาวบ้านมีพื้นที่หาของป่าเสริมรายได้และปลอดภัยจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน

          แหล่งน้ำ : บ้านแม่กระบุงมีลำน้ำธรรมชาติที่ไหลจากเขาตะกวด (เขาเผ่ง) ไหลผ่านหมู่บ้านลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ได้แก่ 1) ห้วยต้นมะพร้าว ลำน้ำสายหลักของหมู่บ้าน 2) ห้วยโจ้ไหว้ ซึ่งไหลกัดเซาะพื้นที่ทางการเกษตรของหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้ใช้น้ำจากลำน้ำสายนี้ในการทำไร่ และ 3) ห้วยทีเพื่อ เป็นห้วยที่เกิดจากตาน้ำ คือ มีน้ำไหลตลอดปี เป็นลำห้วยที่มีขนาดเล็ก และไหลมาบรรจบกับห้วยต้นมะพร้าว จากนั้นไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์

       สัตว์ป่า : ด้วยความที่ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ป่าโดยรอบหมู่บ้านแม่กระบุงยังคงมีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เลียงผา เก้ง เก้ง หมูป่า กวาง ช้างป่าค่าง ชะนี ลิงกัง กระทิง หมี นกเงือก เสือโคร่ง
เสือดำ เม่น อีเห็น ถิ่น เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยวบ้านแม่กระบุง

          ห้วยน้ำอุ่น-น้ำเย็น : ลำห้วยนี้อยู่บริเวณลำห้วยต้นมะพร้าว ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักของหมู่บ้าน ห้วยน้ำอุ่นน้ำเย็นนี้เป็นห้วยที่เกิดจากความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เมื่อลำน้ำสองสาย สายหนึ่งเป็นน้ำอุ่น อีกหนึ่งเป็นน้ำเย็นไหลมาบรรจบกัน บริเวณจุดกึ่งกลางการบรรจบของลำน้ำแห่งนี้จึงได้กลายเป็นสถานที่สำคัญ และแหล่งท่องเที่ยวประจำหมู่บ้าน

          น้ำตกแม่กระบุง : เป็นน้ำตกขนาดความสูง 3 ชั้น มีโขดหินลดหลั่นกันลงมา บรรยากาศโดยรอบน้ำตกแห่งนี้ถูกรายล้อมด้วยป่าเขาและต้นไม้นานาพรรณ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านแม่กระบุง ทว่าน่าเสียดายที่น้ำตกแห่งนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเท่าใดนัก

          ถ้ำพระปรางค์ : หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าถ้ำต้นมะพร้าว ภายในถ้ำแห่งนี้มีหินย้อยรูปร่างคล้ายพระปรางค์ และบริเวณหินงอกย้อยมีแร่ไมก้าปะปนอยู่ เวลาต้องแสงไฟจะสะท้อนเป็นประกายงดงาม

          ป่าชุมชนแม่กระบุง : ป่าชุมชนบ้านแม่กระบุง แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชและสัตว์ป่ามากมายหลากหลายชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งทุ่งสมุนไพรหลากสายพันธุ์ ซึ่งเจริญเติบโตผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดทั้งปี

การคมนาคม การคมนาคมในหมู่บ้านสามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง ดังนี้

  1. เส้นทางคมนาคมสายหลักประจำหมู่บ้านและประจำตำบล คือ ถนนสายคึกฤทธิ์ เป็นถนนลูกรัง ระยะทางจากเขื่อนศรีนครินทร์มาถึงบ้านแม่กระบุง ระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร เส้นทางตัดผ่านภูเขาจึงมีลักษณะคดเคี้ยว ลาดชัน เป็นหลุมเป็นบ่อค่อนข้างอันตราย เมื่อถึงฤดูฝนการเดินทางลําบากมาก เพราะน้ำฝนกัดเซาะถนนทำให้ลื่นเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ปัจจุบันการคมนาคมมีทางลาดยางตลอดเส้นทางสายเขื่อนศรีนครินทร์-น้ำตกห้วยแม่ขมิ้นเป็นเส้นทางหลัก ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
  2. เส้นทางเอราวัณ-ศรีสวัสดิ์ถึงท่าแพขนานยนต์ห้วยแม่ละมุน โดยข้ามจากฝั่งแม่ละมุ่นด้วยแพขนานยนต์มายัง อำเภอศรีสวัสดิ์ ใช้เวลา 15 นาที จากนั้นขับรถต่ออีกประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงท่าแพขนานยนต์ที่ 2 ข้ามจากศรีสวัสดิ์ทางแพขนานยนต์มายังน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น ใช้เวลา 45 นาที ขับรถต่อจากท่าแพอีกประมาณ 7 กิโลเมตร จะถึงน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เส้นทางนี้เหมาะสำหรับรถเล็กและรถตู้
  3. เรือ โดยการเช่าเหมาเรือเอกชนจากท่าต่าง ๆ เช่น ท่าเรือหม่องกระแทะ ท่าเรือท่ากระดาน และท่าเรือเขื่อนศรีนครินทร์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้ามาเทียบท่าที่หมู่บ้าน ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง 30 นาที

บ้านแม่กระบุงมีประชากรทั้งสิ้น 133 ครัวเรือน 397 คน โดยจำแนกเป็นประชากรชาย 210 คน และประชากรหญิง 187 คน (ข้อมูลเมื่อปี 2555) ประชากรในหมู่บ้านกว่าร้อยละ 90 เป็นชาวกะเหรี่ยงโพร่ง กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมอันโดดเด่นทั้งภาษา การแต่งกาย รวมถึงประเพณี และวิถีชีวิต

          ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสัตว์เลี้ยง เช่น การปลูกข้าวไร่ ชาวบ้านจะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีหลายชนิด ทั้งสายพันธุ์นกกระจอก ข้าวเบา 3 เดือน เป็นข้าวตระกูลนิ่ม เมล็ดสีขาวเหลือง เรียวยาว รวมทั้งข้าวพันธุ์คด ซึ่งเมล็ดจะคดและสั้น โดยทั่วไปการปลูกข้าวจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน ยกเว้นข้าวเบา 3 เดือน ที่ใช้เวลาปลูกเพียง 4 เดือน โดยข้าวที่ปลูกจะใช้รับประทานภายในครัวเรือนทั้งหมด ครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คนต้องปลูกข้าวประมาณ 3 ไร่จึงจะเพียงพอตลอดทั้งปี และรอบ ๆ ไร่จะปลูกพืชอื่น ๆ เช่น แตงเปรี้ยว พริกกะเหรี่ยง ผักกาด มันเทศ และมันหม้อ ผสมผสานในพื้นที่ด้วย การปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ พริก ข้าวโพด และมะขามหวาน ในชุมชนมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ในชุมชนประมาณ 3,000 ไร่

การเลี้ยงสัตว์ตามบริเวณพื้นที่รอบบ้าน เช่น ไก่ นอกจากนี้ยังมีอาชีพหาของป่าและรับจ้างทั่วไป ในเขตพื้นที่ ตำบลแม่กระบุงไม่มีหน่วยธุรกิจแต่อย่างใด นอกจากร้านขายของชํา และร้านอาหารขนาดเล็กเท่านั้น

นอกจากการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์แล้ว บ้านแม่กระบุงยังมีผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาของชาวบ้านแม่กระบุงร่วมกับการปรับประยุกต์ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในและบริเวณโดยรอบชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์สมบัติและแหล่งรายได้ของชาวบ้านแม่กระบุง โดยผลิตภัณฑ์สินค้าของชาวบ้าน ได้แก่  ผ้าทอกะเหรี่ยง กระด้ง ชาใบเถาวัลย์เหล็ก ตะกร้าไม้ไผ่ น้ำมันไพร ยาหม่องไพร มะม่วงหาวมะนาวโห่เชื่อม และยาสระผมมะกรูด อนึ่ง บ้านแม่กระบุงยังมีการจัดตั้งอันเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง และกลุ่มเกษตรกรปลูกพริก ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้บ้านกะเหรี่ยง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่กระบุง เช่น การนวดตอกเส้น และการแปรรูปสมุนไพร ฯลฯ

          สำหรับชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษาหลักทั้งการพูดและการเขียน (กะเหรี่ยงไม่มีอักษรเขียน อักษรภาษากะเหรี่ยงจะเขียนเป็นอักษรมอญ แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษากะเหรี่ยง) ชาวบ้านในช่วงวัยนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสือตามการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากในอดีตการศึกษายังเข้าไม่ถึงคน เช่นเดียวกับคนที่ก็เข้าไม่ถึงการศึกษาดังเช่นในปัจจุบัน ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงอ่านภาษาไทยไม่ออก แต่พูดได้บ้างเล็กน้อย และอาจไม่เข้าใจคำบางคำที่เป็นศัพท์ทางราชการหรือศัพท์เฉพาะ ส่วนชาวบ้านที่เป็นคนรุ่นใหม่ สามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับของแต่ละช่วงอายุ ในหมู่บ้านยังมีโรงเรียนต้นมะพร้าวเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านสามารถส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษายังสถานแห่งนี้ ซึ่งมีการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย ทำให้คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านสามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้

 

แหล่งอ้างอิง

          ธง บุญเรือง. (2558). การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชุมชนชาวกระเหรี่ยงบ้านแม่กระบุง ตำบลแม่กระบุง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. กาญจนบุรี: มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี.

ณุภัทรา จันทวิช. กระบวนการสื่อสารเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กับชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านแม่กระบุง อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรีวิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตรพัฒนาการ ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ประเดิม ศรีจรรยา จำปา ทองผาแสงสี ประวิทย์ ทองเปอะ และคณะ. (2556). โครงการแนวทางการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นเพื่อการดูแลรักษาป่า โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านแม่กระบุง ตำบลบ้านแม่กระบุง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว).

ลาพักเที่ยว. (2564). ชุมชนบ้านแม่กระบุง. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/lapakteaw/

อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร. (2555). ตัวแบบของการป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ในอุทยานแห่งชาติเขื่อศรีนครินทร์ ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตกกรุงเทพฯ: สมอลล์ ไทเกอร์ ดีไซน์.

Wow Together. (ม.ป.ป.). บ้านแม่กระบุง จังหวัดกาญจนบุรี. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.wowtgt.com/

 

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *