บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

ประวัติความเป็นมา

บ้านเกาะสะเดิ่ง เป็นหมู่บ้านที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยง ตั้งบ้านเรือนมากกว่า ๑๖๐ ปี นับ ชุมชนเริ่มเล่าเรื่องจดจำกันมาประมาณ ปี ๒๓๘๓ เป็นอย่างน้อย ด้วยชุมชนตั้งรกรากขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับหมู่บ้านอื่นๆ ในตำบลไล่โว่ หมู่บ้านนี้ มีต้นไม้ชื่อต้นเกาะสะเดิ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ริมห้วย รากยึดเกาะดินได้เป็นอย่างดี จึงให้ชื่อหมู่บ้านว่า“ เกาะสะเดิ่ง”

ลักษณะหมู่บ้าน

เป็นชุมชนขนาดเล็ก บนที่ราบริมฝั่งลำห้วยโรคี่ ที่ไหลลัดเลาะตามซอกเขาสูงชันผ่านลงมา ชาวบ้านที่นี่ใช้ชีวิตอยู่คู่กับป่ามานาน ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า จนส่งผลให้ป่าไม้บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านยังคงอุดมสมบูรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของป่ามรดกโลก อาณาเขตเขตของหมู่บ้าน  ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านทิไร่ป้า ตำบลไล่โว่ ทิศใต้ติดต่อกับบ้านกองม่องทะและบ้านสะเนพ่อง ทิศตะวันตกติดต่อกับบ้านสะเน่พ่อง ตำบลไล่โว่ ทิศตะวันออกติดต่อกับผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก หมู่บ้านอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ มีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ พื้นที่อาศัยและทำการเกษตร จำนวนประมาณ ๘๐๐ไร่ พื้นที่ป่าไม้ที่ใช้ทำไร่หมุนเวียนประมาณ ๗๐๐ ไร่ ในหมู่บ้าน ครัวเรือนที่มีน้ำสะอาดดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี  สภาพภูมิอากาศ  เช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆ และหมู่บ้านในจังหวัดในภาคกลางทั่วไป คือ มี ๓ ฤดู  ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนตุลาคม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนมกราคม

ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน

จำนวนประชากร รวม ๓๑๒ คน ครัวเรือนมี ๔๒ ครัวเรือน เป็นชาย ๑๘๘ คน หญิง ๑๒๔ คน (๒๕๕๐)

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในปี ๒๕๕๐  กชช.๒ ค สำรวจข้อมูลพบว่า หมู่บ้านมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชผักทุกชนิด  มีแหล่งน้ำสะอาดใช้อุปโภคบริโภค เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาได้หลากหลายชนิด แม้ในปัจจุบัน สภาพของทรัพยากรธรรมชาติยังไม่เปลี่ยนแปลง วิถีชาวบ้าน ยังคงดำรงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียนเหมือนเดิม รอบเวลาหมุนเวียนของพื้นที่ไร่ยังอยู่ระหว่าง ๗-๑๐ ปี สภาพที่ดินยังคงอุดมสมบูรณ์

ลักษณะทางสังคม และวัฒนธรรม  สภาพความเป็นอยู่  วิถีการดำเนินชีวิต

ชาวบ้านบ้านเกาะสะเดิ่งดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย มีวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นหลักการดำเนินชีวิต ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธทั้งหมด  มีความเชื่อโบราณและพิธีกรรมทางศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ งานประเพณีสำคัญๆ เป็นต้นว่า งานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพตามประเพณีของชาวไทยกะเหรี่ยง งานกินข้าวใหม่ งานฟาดข้าว งานสงกรานต์ เป็นต้น มีวัดพุทธศาสนา ๑ แห่ง และสำนักสงฆ์ ๑ แห่ง ชาวบ้านยังเคร่งครัดการปฏิบัติตามศาสนาและความเชื่อของตนๆ

 กลุ่มผู้นำชุมชน

หมู่บ้านมีผู้นำชุมชนในตำแหน่งต่างๆ ตามระเบียบราชการและระเบียบของท้องถิ่นทุกตำแหน่ง รวมทั้งยังมีผู้นำตามแบบแผนภูมิปัญญาของชาวบ้าน คือ กลุ่มผู้อาวุโสของชุมชน เป็นต้นว่า ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (๓ คน) สมาชิก อบต.(๒ คน) อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) และ อสม. ประจำหมู่บ้าน (๕ คน)  คณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับหมู่บ้าน(กพสม.) (๔ คน) คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ( ๑๐ คน) คณะกรรมการกองทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)(๔ คน)คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ( ๘  คน) นอกจากนี้ บ้านเกาะสะเดิ่ง เป็นหมู่บ้าน อพป. มีคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ตามระเบียบของหมู่บ้าน เป็นต้นว่า ฝ่ายพัฒนาพัฒนาอาชีพและพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ  ฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย  ฝ่ายปกครองที่คอยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของชาวบ้าน ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายการศึกษาและวัฒนธรรม ฝ่ายการคลังฝ่ายสวัสดิการและสังคม ฝ่ายเยาวชน ฝ่ายกิจการสตรี ด้วย อย่างไรก็ตามการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นทีทราบโดยทั่วไปว่า แต่งตั้งเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ เช่นเดียวกับการทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ต้องการสนองตอบความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่าความจำเป็นและความต้องการของหมู่บ้าน ส่วนภาวะการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านยังไม่เป็นที่ชัดเจนนัก

ภูมิปัญญาพื้นบ้าน 

ศาสตร์สำคัญที่คนในชุมชนแห่งนี้ได้ใช้เพื่อเข้าถึงความจำเป็นและความต้องการในชีวิตมาแต่โบราณ มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับชุมชนอื่นๆ โดยมีคนในชุมชนที่เป็นผู้ทรงภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านต่างๆ ที่สามารถเป็นครูช่วยแนะนำสั่งสอนคนอื่นๆ แต่ละด้าน เป็นต้นว่า..ด้านจักสาน  มีนายตงซิ กิตติขจรศรี นายเอ่อข่อ พนาพิทักษ์สกุล และนายโจ้อีเหย่ง สุขเจริญประเสริฐ  ด้านภาษากะเหรี่ยง มีนายเซงหงี่โพ่ ก้องสนั่นเมือง นายเอ่งหยาโพ่ ทองผาชะง่อน และนายคำพุธพรหมมี ด้านการแสดงพื้นบ้าน(รำตง) มีนางจันทร์เพ็ญ ไทรสังขทัศนีย์ นางมะปองเอ       กิตติคุณขจรไกล นางมะมิ๊วเหมี่ย ก้องธรรมคุณ ด้านสิ่งแวดล้อม มีนายเข่งลิเส่ง โชคศรีเจริญ นายเข่งอีโพ่ เสตะพันธ์  นายทวี คงนานดี ด้านสมุนไพรมี นายส่วยล่งเข่ง แกล้วกล้าพนา นายโจ่ซาโพ่ เก่งวาณิชย์  นางบุญช่วย สุธาวารินทร์ ด้านทอผ้า มีนางสาวลักษณา ขจัดพิษภัย นางสาวมะเสอะอะ พนาพิทักษ์สกุล  นางบัวทอง ขยายกิจการ ด้านดนตรีพื้นเมือง มีนายโจ่ได้ดี พนาพิทักษ์สกุล นายสุเมธ พนาพิทักษ์สกุล  และนายอภิวันท์ ไทรสังขสินธิติ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การสืบทอดและบทบาทคุณค่าความสำคัญของภูมิปัญญาพื้นบ้านในปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนแปลงในในทิศทางเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆ คือ ขาดผู้สืบทอด  ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ยังคงมีความจำเป็นในชุมชน สาเหตุสำคัญกล่าวกันว่า เนื่องจากเด็กและเยาวชนไม่มีเวลามาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ด้วยต้องไปเรียนหนังสือและอยู่กับบ้าน ส่วนผู้ใหญ่ต้องไปอยู่ไร่ หรือต้องไปป่าหาของกิน ส่วนของเยาวชนบางกลุ่มต้องไปทำงานรับจ้างในเมือง เมื่อเข้าไปอยู่ในเมืองแล้ว จึงไม่ค่อยสนใจในสิ่งเหล่านี้ เพราะชีวิตในเมืองมีสิ่งอื่นมาใช้แทนสิ่งเหล่านี้ได้ เช่น เครื่องมือพลาสติก ถังน้ำพลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น เมื่อกลับมาบ้าน จึงไม่สนใจที่จะเรียนรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในปัจจุบันจึงรอตายไปกับผู้ทรงภูมิปัญญาเหล่านั้น

ลักษณะเศรษฐกิจ

หมู่บ้านยังคงทำมาหากินแบบยังชีพหรืออาจจะเรียกว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียง  มีไร่หมุนเวียนเป็นแกนหลักทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน ปัจจัยการดำรงชีพส่วนใหญ่ได้จากไร่หมุนเวียน กล่าวคือ ในไร่หมุนเวียนนอกจากข้าว พริก พืชผัก ยาสูบ ฟัก แฟง แตง ถั่ว เผือก มัน อันเป็นผลผลิตตามวัตถุประประสงค์ที่เป็นเป้าหมายปลายทางของการทำไร่แล้ว ยังมีผลผลิตที่เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่เป็นเป้าหมายรายทางอีกมากมาย  โดยในช่วงเวลา ๕-๗ เดือนที่อยู่ในไร่ ชาวบ้านจะเอาแต่เกลือหรือน้ำปลาขึ้นไปเท่านั้น อาหารการกินอื่นๆ ไปหาจากไร่ เมื่อจะลงมาอยู่ในหมู่บ้านต่างหาก จึงจะต้องเอาอาหารการกินจากไร่ลงมาใช้ในชุมชน เช่น ต้องเอาข้าวสาร พริก ผัก ฯลฯ ลงมาใช้ในหมู่บ้าน ไม่เช่นนั้น จะไม่มีอะไรกิน และความเป็นจริงในอดีต ชีวิตของชาวบ้านอยู่กับไร่มากกว่าอยู่ในหมู่บ้าน จะลงมาหมู่บ้านเฉพาะมีการมีงานที่ต้องทำบุญ หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ เท่านั้น

ผลผลิตที่เป็นสินค้าสำคัญของชุมชน เป็นรายได้แก่ครอบครัว เช่น พริกกะเหรี่ยง ข้าวไร่ ยาสูบ เครื่องจักสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวไร่ นำมาตำเป็นข้าวสาร โดยครกพลังน้ำซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณลำธาร สามารถลดการใช้แรงงานลงได้มาก และเป็นสิ่งแปลกตานักท่องเที่ยว สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เพียงแต่ยังไม่ได้ส่งเสริมเท่านั้น นอกจากนี้ บ้านเกาะสะเดิ่ง เป็นแหล่งตีมีด และเครื่องมือเหล็กอื่นๆที่ใช้ในไร่ หรือใช้ในครัวเรือน โดยนำเหล็กแหนบรถมาจากชุมชนเมือง นำมาตีมีดขายตามการสั่งจองด้วย

ชุมชนบ้านเกาะสะเดิ่ง ไม่มีตลาดชุมชน ส่วนมากจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างครัวเรือน และผลผลิตที่ผลิตได้ จะนำไปขายนอกหมู่บ้านได้ในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากเส้นทางเดินยากลำบาก ส่วนการค้าขายกับนักท่องเที่ยวยังมีน้อยอยู่ ปัจจุบันมีคนในหมู่บ้านซื้ออาหารแห้งมาขายบ้าง นอกจากนี้ ในพื้นที่ชุมชนมีแหล่งที่สามารถพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติได้ เช่น ถ้ำธารลอด ห้วยโรคี่ น้ำตกทีเชิง และช่องแคบส้องเกิง เป็นต้น

สถานการณ์ชุมชน

สถานการณ์เศรษฐกิจ  วิถีเศรษฐกิจชุมชนเป็นแบบยังชีพ หาอยู่หากิน  สิ่งใดมี สิ่งใดขาด อาศัยการแลกเปลี่ยนแบ่งปันตามวิถีของชุมชนและฤดูกาล ชุมชนจึงยังไม่มีตลาดในการรับสินค้า ไม่ต้องการความรู้ด้านการตลาด ไม่จำเป็นต้องมีการคมนาคมสะดวกสบาย และไม่ต้องการเงินทุน ซึ่งความไม่มีสิ่งเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สรุปว่าเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจของชุมชน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ชาวบ้านเริ่มมีรายจ่ายที่เป็นเงินทองในการทำการเกษตรมากขึ้น ตามการเข้าไปของค่านิยมการมีเงินทองจากสังคมเมือง เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์พืชบางอย่าง ที่ต้องซื้อหาจากตลาด ค่าเดินทางไปแสวงหา ค่าอุปกรณ์การทำการเกษตร รวมทั้งค่าเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำการเกษตรด้วย ส่วนความยากจนนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชนร่วมกันวิเคราะห์สรุปว่า สาเหตุความยากจนเกิดจากขาดที่ดินทำกิน ขาดเงินทุน ขาดความรู้การตลาด สุขภาพไม่ดี การคมนาคมลำบาก รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย  ขาดการอบรมความรู้ ขาดแหล่งน้ำทางการเกษตรที่เพียงพอ  พร้อมกันนี้ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนว่า สมควรทำแนวเขตพื้นที่ทำกิน จัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ตั้งร้านค้าชุมชน / ธนาคารข้าว ส่งเสริมการอบรมให้ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการนำหลักธรรมมาพัฒนาจิตใจ  รณรงค์ให้ความรู้เรื่องสุขภาพ จัดทำบัญชีครัวเรือน คาดว่าสามารถจะลดภาวะความยากจนลงได้

สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

โดยทั่วไปเป็นเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆ (บ้านสะเน่พ่อง บ้านกองม่องทะ)โดยส่วนราชการมักจะนำเสนอปัญหาในกรอบเดียวกัน คือ ปัญหาทางการศึกษา เส้นทางคมนาคมไม่สะดวก  การสาธารณสุขไม่สม่ำเสมอ โซล่าโฮมได้รับไม่ครบ ถูกก้าวก่ายสิทธิในการทำกินชุมชนไม่สามารถมองเห็นศักยภาพของตัวเอง  ขาดความรู้ด้านการตลาด โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)(เงินทุน ๒๘๐,๐๐๐.บาท) รวมถึงปัญหาทางกายภาพของชุมชน  เช่น  หน้าดินเกิดการไหลชะล้างในช่วงฤดูฝนน้ำหลาก  ริมตลิ่งถูกกัดเซาะพัง พันธุ์ปลาเริ่มหายไปจากแม่น้ำ การเดินทางเข้า – ออก หมู่บ้านยากลำบาก  ซึ่งชาวบ้านกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นลักษณะธรรมชาติของชุมชนที่ตั้งอยู่ในผืนป่าระหว่างหุบเขา เมื่อใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกับเมืองมาชี้วัดจะเห็นเป็นปัญหาไปหมดทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริง ชาวบ้านที่นี้ดำรงชีวิตมาด้วยความพอเพียงอย่างนี้มาแต่โบราณ

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชนได้วิเคราะห์สรุปสถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมไว้ในทำนองเดียวกับหมู่บ้านสะเน่พ่องและกองม่องทะว่า ชุมชนเกาะสะเดิ่ง มีสถานการณ์ด้านต่างๆ และได้เสนอแนวทางแก้ไขพัฒนาละด้านควบคู่กันไป ว่า…..

สถานการณ์ด้านการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชนร่วมกันวิเคราะห์สรุปว่า สถานการณ์ทางการศึกษา เกิดจากลักษณะพื้นที่มีความทุรกันดาร ขาดแหล่งเรียนรู้ ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เส้นทางคมนาคมไม่สะดวก ระยะทางไกล  ผู้ปกครองมีรายได้น้อย ภาวะโภชนาการไม่ดี ทำให้เด็กขาดสติปัญญา พร้อมมีข้อเสนอว่า สมควรระดมทรัพยากรจากภายนอกเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ สมควรประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอสนับสนุนงบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มเติม และเพิ่มอัตราครูสอนในห้องเรียนของหมู่บ้าน

สถานการณ์ด้านสุขภาพ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชนร่วมกันวิเคราะห์สรุปว่าสถานการณ์สุขภาพเป็นผลจากการขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพ และการดูแลรักษา ขาดบุคลากรเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขาดภาวโภชนาการที่ดี/ถูกต้อง จึงเห็นสมควรมีหน่วยสุขาภิบาลในชุมชน เพื่อให้คำปรึกษาและดูแลรักษา รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยต่าง ๆ รวมทั้งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอสนับสนุนงบประมาณดำเนินการในเรื่องนี้

สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชนร่วมกันวิเคราะห์ สรุปว่า บุคคลภายนอกที่เข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านเป็นผู้นำขยะที่เข้ามาทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนไป ส่วนคนในชุมชนทำขยะที่ย่อยสลายได้ ไม่มีพิษภัยต่อระบบนิเวศน์ จึงเห็นสมควรพัฒนาระบบการกำจัดขยะให้ถูกต้อง ส่งเสริมการปลูกป่า และปลูกหญ้าแฝกริมตลิ่งเพื่อป้องกันการชะล้าง และกำหนดกติกาการท่องเที่ยวที่คนภาย นอกเข้ามาในหมู่บ้าน ให้ทุกคนรับผิดชอบขยะที่นำมาด้วย

สถานการณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชนร่วมกันวิเคราะห์ สรุปว่า การนำวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาเผยแพร่ การมีส่วนร่วมของผู้เข้ามาเกี่ยวข้องในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม คือ นำวัฒนธรรมอื่นเข้ามาเผยแพร่ และการขาดผู้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมจากผู้สูงอายุหรือบรรพบุรุษ ทำให้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเปลี่ยนแปลงไป สมควรที่ชุมชนร่วมมือรณรงค์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชุมชน ส่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมของชุมชน สมควรจัดให้มีการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยจัดการการศึกษาแบบบูรณาการ นำเอาความรู้พื้นบ้านมาเป็นสาระความรู้ด้วย

สถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าวนี้ ชาวบ้านวิเคราะห์ว่า เป็นแนวทางที่ดี เห็นด้วย เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ผล เพราะไม่ทำอย่างจริงจัง มีเพียงโครงการในกระดาษ จะโทษชาวบ้านหรือหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ เพราะทั้งหมดต้องมีงบประมาณมาใช้จ่าย เมื่อไม่มีงบประมาณสนับสนุนตามโครงการที่เสนอไว้ มีเพียงบางโครงการเท่านั้นที่ทำได้ เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน แต่ก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะทุกอย่างจบลงเมื่อการกู้เงินสิ้นสุดลง หรือเมื่อดำเนินโครงการจบลง ทุกอย่างก็ยุติ ไม่มีต่อเนื่อง ไม่มีการประเมินผล แต่ถึงกระนั่นชาวบ้านยังอยากให้ส่งเสริมโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้น แม้ทุกวันนี้ เพราะอย่างน้อยชาวบ้านจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการดำเนินงานได้บ้าง ไม่ว่าจะดีหรือไม่

ทิศทางการพัฒนาหมู่บ้าน 

ในช่วงปี ๒๕๕๐-๒๕๕๕ หน่วยงานองค์การบริหารส่วนตำบลมีโครงการพัฒนาชุมชน คือโครงการส่งเสริมการตีมีด โครงการปรับปรุงและรักษาพื้นที่ริมทางน้ำห้วยโรคี่ และโครงการส่งเสริมการออมทรัพย์  หลังจากนั้นได้ทำแผนส่งเสริมการพัฒนาต่อเนื่องอีกหลายโครงการ  ทั้งประเภท ชุมชนทำเอง  ชุมชนทำร่วมกับหน่วยงาน / องค์กร และองค์กรลงไปทำให้ชุมชน เป็นต้นว่า โครงการอบรมฟื้นฟูวัฒนธรรมการศึกษาท้องถิ่น โครงการส่งเสริมการปลูกหอมกระเทียม โครงการส่งเสริมเลี้ยงโค กระบือ โครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปลาโครงการการแปรรูปผลผลิตการเกษตร โครงการส่งเสริมการเพาะเห็ดนางฟ้า โครงการส่งเสริมพันธุ์ไม้สวนโครงการสร้างแนวกันน้ำเซาะตลิ่งโครงการ โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ โครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าพื้นเมือง โครงการส่งเสริมการทำน้ำยาล้างจาน ซักผ้า โครงการส่งเสริมอาชีพตีมีด โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน โครงการสร้างฝายการเกษตร  โครงการครกกระเดื่องพลังน้ำ  โครงการส่งเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งโครงการจัดการพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนโครงการก่อสร้างสะพานแขวนข้ามแม่น้ำโรคี่ โครงการก่อสร้างอาหารเด็กนักเรียน โครงการต่อเติม อาคาร ศสมช. โครงการฝึกอบรมให้ความรู้สาขาอาชีพต่าง ๆ โครงการส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ โครงการก่อสร้างห้องน้ำ – ห้องส้วมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โครงการต่อเติมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โครงการศึกษาดูงานนอกพื้นที่ ของกลุ่มอาชีพ โครงการเสริมสร้างสุขภาพชุมชน โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการเหล่านี้ ได้ดำเนินการเป็นบางโครงการ แต่หลายโครงการไม่ได้ดำเนินการ เพราะขาดการสนับสนุนทุน

เป้าหมายของหมู่บ้านที่กำหนดไว้ในทิศทางการพัฒนา ต้องการให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตของประชาชน เพื่อให้ประชาชนประกอบอาชีพและดำรงชีพอยู่ได้ตามหลักที่ว่า “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้” ตามแบบอย่างบรรพชน

 

แหล่งอ้างอิง

คณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตำบลไล่โว่.  (2558). โครงการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเสริมพลังการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลไล่โว่ และตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *