บ้านกองม่องทะ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

ประวัติความเป็นมา

บ้านกองม่องทะ  หมู่ที่ ๒  ตำบลไล่โว่ ตั้งอยู่ในที่ราบระหว่างหุบเขา มีแม่น้ำรันตีไหลผ่าน พื้นที่หมู่บ้านยาวไปตามลำน้ำทั้งสองฝั่ง บ้านเรือนตั้งอยู่เป็นหย่อมๆ ต่อเนื่องกัน มีไม้ผล เช่น หมาก มะพร้าว ทุเรียน มังคุด เงาะ กล้วย ลางสาด ลองกอง ขนุน เป็นไม้ผลที่ปลูกกระจายรายล้อมบ้านเรือน ส่วนรอบนอกเป็นพื้นที่ที่คนนอกหมู่บ้านมาซื้อแล้วปลูกยางพาราบ้าง สวนส้มบ้าง สวนเงาะและทุเรียนบ้าง ขนาดพื้นที่ของหมู่บ้านอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ มีพื้นที่ทั้งหมด  ๑,๐๗๗,๘๔๗ ไร่ พื้นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร จำนวน ๑๓,๐๐๐ ไร่ พื้นที่สาธารณะไม่กำหนดแน่นอน พื้นที่ป่าไม้   ๑,๐๖๔,๘๔๗ ไร่

อาณาเขตของหมู่บ้าน 

ทิศเหนือติดต่อกับบ้านเกาะสะเดิ่งในเขตทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ทิศตะวันออกติดต่อกับผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ทิศใต้ติดต่อกับตำบลปรังเผล หมู่ที่ ๔ ทิศตะวันตกติดต่อกับทางหลวงสังขละบุรี – กาญจนบุรี(สาย๓๒๓)  เส้นทางเข้าหมู่บ้านแยกจากถนนทางหลวงสาย ๓๒๓ ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑๔ จากสังขละบุรีระยะทางเข้าหมู่บ้านกองม่องทะประมาณ  ๙  กิโลเมตร ต้นทางเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กลางทางและปลายทางเป็นทางลูกรังดินผสมหินก้อนใหญ่ตลอดสาย

ลักษณะหมู่บ้าน

เป็นหมู่บ้านชาวไทยกะเหรี่ยง มีประชากรประมาณ ๖๕๐ คน มีผู้พลัดถิ่น (บัตรสี) ประมาณ ๕๐๐ คน จำนวนครัวเรือน  ๑๔๐  ครัวเรือน จำนวนหลังคาเรือน ๑๗๐ หลังคาเรือน มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตการศึกษา ๓ จำนวน ๑ แห่ง  เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล ๑ – มัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๑ แห่ง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนแม่ฟ้าหลวง ๑ แห่ง สถานีอนามัย ๑ แห่ง วัด  ๑  แห่ง สำนักสงฆ์ ๒ แห่งศูนย์วัฒนธรรม ๑ แห่ง  เป็นหมู่บ้านที่อยู่อาศัยต่อเนื่องมามากกว่า ๑๐๐ ปี

 

ข้อมูลประชากรหมู่บ้าน

จำนวนประชากร หญิง ชาย แยกตามอายุ (วัยแรงงาน วัยการศึกษา วัยเด็ก วัยชรา)

ช่วงอายุประชากร จำนวนเพศชาย(คน) จำนวนเพศหญิง(คน) จำนวนรวม(คน)
น้อยกว่า ๑ ปีเต็ม
ตั้งแต่ ๑ ปีเต็ม –  ๒ ปี ๑๐ ๑๗
ตั้งแต่ ๓ ปีเต็ม – ๕ ปี ๒๓ ๑๙ ๔๒
ตั้งแต่ ๖ ปีเต็ม –  ๑๑ ปี ๕๔ ๔๒ ๙๖
ตั้งแต่ ๑๒ ปีเต็ม – ๑๔ ปี ๒๒ ๑๙ ๔๑
ตั้งแต่  ๑๕ ปีเต็ม – ๑๗ ปี ๒๗ ๑๐ ๓๗
ตั้งแต่ ๑๘ ปีเต็ม – ๔๗ ปี ๙๘ ๙๐ ๑๘๘
ตั้งแต่ ๕๐ ปีเต็ม – ๖๐ ปีเต็ม ๑๘ ๑๔ ๓๒
มากกว่า ๖๐ ปีเต็มขึ้นไป ๑๓ ๑๘ ๓๑
รวมทั้งหมด ๒๖๘ ๒๒๓ ๔๙๑

ที่มา : องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ ๒๕๕๕

 

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ผลการสำรวจข้อมูล กชช.๒ค. ปี ๒๕๕๐  หมู่บ้านมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชผักทุกชนิด มีน้ำที่สะอาดใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ และเหมาะสำหรับการเลี้ยงปลา หรือเพาะพันธุ์ปลา มีปลาในธรรมชาติหลายชนิดในแม่น้ำ แหล่งน้ำกินน้ำใช้ส่วนใหญ่มาจากประปาภูเขา ต่อมาจากห้วยบนเขาห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร นอกจากนี้ในหมู่บ้านยังมีบ่อน้ำตื้นของครอบครัวประมาณ  ๑๐ บ่อ  ส่วนน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาล ซึ่งคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินเหมาะแก่การเพาะปลูก และใช้บริโภคอุปโภค ครัวเรือนมีน้ำสะอาดดื่ม บริโภคและใช้ในครัวเรือนเพียงพอตลอดปี ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร เว้นแต่หน้าแล้งน้ำไม่เพียงพอ

ลักษณะภูมิศาสตร์

พื้นที่โดยรอบหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นภูเขา สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย ๘๐๐ – ๑,๒๐๐  เมตร มีสภาพอากาศและฤดูกาลเช่นเดียวกับจังหวัดในภาคกลางทั่วไป คือ ๓ ฤดู ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงปลายเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงปลายเดือนตุลาคม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนมกราคาม สภาพทางกายภาพของหมู่บ้านเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำลดลง ทำให้ริมตลิ่งที่ถูกกัดเซาะพังลง แม่น้ำจึงกว้างใหญ่และตื้นเขินในบางแห่ง ส่วนป่ารอบหมู่บ้านเริ่มมีการบุกรุกแผ้วถางปลูกยางพาราและพืชสวนอื่นๆ มากขึ้น

ลักษณะสังคมและวัฒนธรรม

ความเป็นอยู่ วิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนเป็นไปอย่างเรียบง่าย บนรากฐานวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อจากบรรพบุรุษ ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผสมผสานกับความเชื่อพื้นบ้าน มีประเพณี พิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อที่เป็นไปตามจังหวะเวลาแต่ละเดือน เช่น พิธีกินข้าวใหม่ พิธีขอที่ถางไร่ พิธีรับขวัญแม่โพสพ พิธีฟาดข้าว งานบวช งานแต่งงาน แห่เทียนเข้าพรรษา   ลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น โดยชาวบ้านยังคงเคร่งครัดยึดมั่นและเข้าร่วมพิธีต่าง ๆ ตามประเพณี

การปกครองและการพัฒนาหมู่บ้าน

ได้แบ่งส่วนตำแหน่งต่างๆ ออกตามระเบียบการปกครองหมู่บ้านและการปกครองท้องถิ่น มีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) และอสม. ประจำหมู่บ้าน คณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับหมู่บ้าน (กพสม.) คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน คณะกรรมการ กองทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน(กข.คจ.)คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตและคณะกรรมการหมู่บ้าน

คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ของหมู่บ้าน มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน ตามภารกิจต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ได้แก่ ฝ่ายพัฒนา มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพของชาวบ้านและพัฒนาหมู่บ้าน ด้านต่าง ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของหมู่บ้าน  ฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน รวมทั้งจัดกำลังป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ฝ่ายปกครอง  มีหน้าที่เกี่ยวกับบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของชาวบ้าน และดูแลกิจกรรมในหมู่บ้าน ให้เป็นไปตามกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ส่งเสริมให้ราษฎรมีความสนใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฝ่ายสาธารณะ  มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การอนามัย การวางแผนครอบครัวและการสุขาภิบาล รักษาบ้านเรือน หมู่บ้านให้สะอาดสวยงาม ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์ปราศจากโรคภัย ไข้เจ็บ ฝ่ายศึกษาและวัฒนธรรม  มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา การลูกเสือ และเยาวชน ตลอดจนกิจกรรมทางศาสนาวัฒนธรรม การกีฬาและการพักผ่อนหย่อนใจ  ฝ่ายคลัง  มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของหมู่บ้าน ฝ่ายสวัสดิการและสังคม มีหน้าที่เกี่ยวกับสวัสดิ์การ คือ ให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ราษฎรผู้ยากไร้ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ตามความจำเป็น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง  ๆ เช่น อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย  ฝ่ายเยาวชน มีหน้าที่เกี่ยวกับงานพัฒนาศักยภาพของเยาวชนด้านการดำรงชีวิตในสังคมและด้านการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของจริยธรรม โดยยึดถือคนรุ่นเก่าเป็นแบบอย่าง  ฝ่ายกิจการสตรี มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาหมู่บ้าน ฝ่ายการศึกษา  มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาหมู่บ้าน ฝ่ายส่งเสริมอาชีพ  มีหน้าที่เกี่ยวกับส่งเสริมอาชีพในด้านต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า กลไกต่างๆ เหล่านี้ จัดขึ้นเป็นไปตามระเบียบการปกครองหมู่บ้านของทางราชการและของ อบต. เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่ได้เกิดจากความต้องการในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนของคนในชุมชนโดยตรง ทำให้ผลการปฏิบัติงานในหน้าที่จึงเป็นไปเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของราชการมากกว่าความต้องการของชาวบ้าน

สถานการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม

โดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายเคียงกับที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านสะเน่พ่อง คือ คนรุ่นใหม่ไมใส่ใจในวัฒนธรรมของชุมชน มีค่านิยมสมัยใหม่ที่เป็นไปตามสังคมเมือง เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสทางการศึกษา แม้จะมีโรงเรียนขยายโอกาสในหมู่บ้าน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ เยาวชนไม่สามารถไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ด้วยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การขาดแรงงานในครัวเรือน ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่ต้องไปทำงานบริการในห้างร้านต่างๆ ในเมือง เป็นต้น สถานการณ์การลักขโมย เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เชื่อมโยงกับการที่คนในชุมชนชอบดื่มสุราและเล่ยการพนันเกิดขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์การหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยกเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะกดดันทางเศรษฐกิจสังคมที่มีความเข้มข้นขึ้น อีกด้านหนึ่งมีผู้อพยพพลัดถิ่นเข้ามาในหมู่บ้านมากขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งเป็นญาติและผู้ที่มากับญาติ เข้ามาอาศัยอยู่กินในครอบครัว

สถานการณ์ด้านการศึกษา

เด็กและเยาวชนอายุ ๖- ๑๕ ปี ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาภาคจบชั้นประถมศึกษา ส่วนคนอายุ ๑๕ – ๖๐ ปี ส่วนหนึ่งเขียนชื่อตัวเองได้ และอ่านภาษาไทยได้บ้าง ส่วนหนึ่งอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่อ่านเขียนภาษากะเหรี่ยงได้ ด้านสุขภาพในหมู่บ้านไม่มีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑  ปีเสียชีวิต ไม่มีคนตายด้วยโรคระบาด เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วย มีสถานีอนามัยอยู่ในหมู่บ้าน และถ้าอาการเล็กน้อยหรือเจ็บไข้ได้ป่วยทั่วไป ยังคงมีการรักษาตามอาการด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านอยู่บ้าง และพบว่าชาวบ้านเริ่มพูดถึงการเจ็บป่วยเนื่องจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบ้างแล้ว

นอกจากนี้ สถานการณ์ยาเสพติดกล่าวกันว่าไม่มีผู้ใช้ยาเสพติด แต่คนในชุมชนห่วงกังวลและเฝ้าระวัง ไม่ไว้วางใจนัก ส่วนผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเป็นผู้สูงอายุ ๓๐ คน ผู้พิการ ๙ คนได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวและลูกหลาน  คนในชุมชนยังคงเคารพและให้ความสำคัญในผู้สูงอายุ วันพระวันศีล ลูกหลานจะพามาส่งให้จำศีลที่วัด ส่งข้าวส่งอาหาร และตามมาดูแล เมื่อถึงตอนเย็นสวดมนต์เสร็จแล้วจึงมารับกลับ

สถานการณ์ด้านภูมิปัญญาพื้นบ้าน 

แม้ชุมชนยังมีปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญการอาชีพในชุมชนและแหล่งเรียนรู้ชุมชนหลายด้าน แต่สถานการณ์ของสิ่งเหล่านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับบ้านสะเน่พ่อง กล่าวคือ คนปัจจุบัน ผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนไม่ค่อยเห็นคุณค่าความสำคัญมากนัก ภูมิปัญญาพื้นบ้านส่วนใหญ่อยู่กับผู้สูงอายุ และไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้งานบ่อย รวมทั้งไม่ค่อยมีผู้สนใจเรียนรู้ ทำให้บรรยากาศของภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีสภาพไม่แตกต่างจากหมู่บ้านสเน่พ่อง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบ้านกองม่องทะยังคงมีผู้ทรงภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านต่างๆ หลายด้าน เช่น ด้านการจักสาน มีนายกิตติศักดิ์ ธาราวนารักษ์ นายโท่ลา ไทรสังขชวาลลิน นายประเสริฐ ช่วยบำรุงวงศ์ นายประดิษฐ์ ช่วยบำรุงวงศ์ ด้านสมุนไพร มีนายย่อง ช่วยบำรุงวงศ์ นางโพ่  มือหนี่ พนาอุดม ด้านภาษากะเหรี่ยง มีนายอภิชาติ  เสตะพันธ์ นายณรงค์ เพลินไพรเย็น นายกิตติศักดิ์ ธาราวนารักษ์ นายส่วยละเหย่ง ไทรสังขทัศนีย์  ด้านการทอผ้า มีนางเปี้ยยิง ไทรสังขชวาลิน นางสาวอังคณา ไทรสังขชวาลิน นางโพ่มื้อหนี่ พนาอุดม  นางวิไล พนาวรารักษ์  ด้านรำตง มีนางเรณู ยื่นเครือ นางศิริพร สุขเจริญประเสริฐ นางมะโซหน่าย เกียรติก้องกุล  นางมะเหน่งโซ ช่วยบำรุงวงศ์ ด้านดนตรีพื้นเมือง มีนายอภิชาติ เสตะพันธ์  นายคองเจอ  นายเซ่อทู  ด้านช่างไม้ มีนายอนุชา ไทรสังขชวาลิน ด้านการบีบนวด มีนางนองโพ่เค่ ด้านอาชีพ มีนายอภิชาติ เสตะพันธ์  จ.ส.อ.บุญโกย ยื่นเครือ นายอำพล พลีเพื่อชาติ  นายธงชัย สุขเจริญประเสริฐ นายณรงค์ เพลินไพรเย็น นายวีรวัฒน์ รัตนโนดม  เป็นต้น

ผู้ทรงภูมิปัญญาดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่มีผู้สืบสานหรือเรียนรู้ใหม่ ทำให้บรรยากาศการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาในหมู่บ้าน ไม่เป็นที่แพร่หลาย แม้คนในชุมชนยังคงใช้อยู่ แต่ส่วนทำใช้ในครัวเรือน ไม่ได้ผลิตออกมาจำหน่ายสร้างรายได้เป็นเงินทองแต่อย่างใด

ลักษณะทางเศรษฐกิจ 

โดยภาพรวมลักษณะทางเศรษฐกิจชุมชนยังคงเป็นแบบยังชีพ หรือแบบพอเพียง ผลผลิตใดที่เหลือบริโภคในครัวเรือนจึงนำมาขายบ้าง ผลผลิตสำคัญมาจากการทำการเกษตร เช่น พริกกะเหรี่ยง  ข้าวไร่  หน่อไม้ดอง ผลไม้ ตามฤดูกาล หมาก เงาะ ทุเรียน ส้มโอ ลิ้นจี่ ลูกเนียง มะม่วงหิมพานต์ ลองกอง กล้วย สับปะรด และมีเครื่องจักสานบ้าง ส่วนยางพาราและพืชสวน เช่น เงาะ ทุเรียน ส่วนใหญ่เป็นของนายทุนนอกหมู่บ้าน

รายการใช้จ่ายในครัวเรือน ส่วนใหญ่ใช้จ่ายในหมวดต่างๆ เป็นต้นว่า……

รายจ่ายที่เป็นต้นทุนเพื่อการผลิต เช่น ค่าพันธุ์พืช ค่าพันธุ์สัตว์ ค่าวัตถุดิบการผลิต ค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถ ค่าอุปกรณ์การผลิต  ค่าเครื่องมือการเกษตร  ค่าจ้างแรงงาน ค่ายาฆ่าแมลง ค่าปุ๋ยหมัก ค่าปุ๋ยเคมี ค่าน้ำมันรถไถ ส่วนนี้เริ่มเพิ่มขึ้นชัดเจน

รายจ่ายในครัวเรือน เช่น ผัก  ผลไม้ ข้าวสาร เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ขนม ไข่  /หอม/กระเทียม น้ำมันพืช น้ำตาลทราย น้ำปลา/เกลือ มาม่า/อื่น ๆ ผงชูรส อาหารกระป๋อง น้ำดื่ม เสื้อผ้า ค่าเทอม อุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนพิเศษ กฐิน/ผ้าป่า งานบวช/งานแต่ง/งานขึ้นบ้านใหม่/งานศพ บริจาค เครื่องบำรุงกำลัง น้ำอัดลม เหล้า/เบียร์ ดูหนังฟังเพลง บุหรี่ เสี่ยงโชค การพนัน เครื่องปรุง กาแฟ/โอวัลติน นมผง/นมสด ยาแก้ปวด ยาแก้ไข้เด็ก สบู่/ครีมอาบน้ำ แชมพู/ครีมนวดผม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม แปรงสีฟัน ผ้าอนามัย กระดาษชำระ เครื่องสำอาง  ค่าโทรศัพท์มือถือ ของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น โดยรวมค่าใช้จ่ายทุกหมวดของชุมชนมากกว่า ๑๐ ล้านบาทต่อปี รายการที่ใช้จ่ายมากที่สุดได้แก่ ในหมวดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

ส่วนรายรับ  ได้จากภาคเกษตร การแปรรูปอาหาร ค้าขาย รับจ้าง บริการ ลูกส่งมาให้และอื่นๆ เช่น เงินเดือน ค่าตอบแทน ชุมชนมีรายรับส่วนใหญ่ได้จากการเกษตร มากกว่า ๑ ล้านบาทต่อปี  นอกจากนี้ ชุมชน ยังมีหนี้สินกองทุนหมู่บ้าน ๕๐๐,๐๐๐ บาท หนี้สินกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ๒๕,๐๐๐ บาท โครงการ กข.กจ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ไม่ได้ประมาณการหนี้สินของครัวเรือน ซึ่งกล่าวกันว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีหนี้สิน ด้วย ส่วนเงินออมกลุ่มสัจจะกองทุนหมู่บ้าน ๕๐,๐๐๐ บาท กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการผลิต ๑๐,๐๐๐ บาท โดยกลุ่มได้ดำเนินงานตามระเบียบอยู่ในหมู่บ้าน แต่สอบถามได้ความว่า เงินเหล่านี้ขาดสภาพคล่อง คือปล่อยกู้แล้ว ไม่มีกำลังส่งคืน ทำให้เงินหยุดหมุนเวียน และเป็นปัญหาในการทวงคืน

ความพยายามปรับปรุงพัฒนาด้านเศรษฐกิจของชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงานพัฒนาชุมชน ร่วมกับหน่วยงานอื่น ได้พยายามดำเนินการต่อเนื่องมาทุกปี เช่น ในรอบปี ๒๕๕๓ มีโครงการ ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อดิน จัดตั้งโรงสีข้าวชุมชน ส่งเสริมการปลูกพืชแบบเศรษฐกิจพอเพียง จัดยุ้งฉางกองทุนข้าวเปลือก ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมการเลี้ยงหมูหลุม ตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง  อนุรักษ์พิทักษ์ป่า  ใช้งบประมาณอยู่ดีมีสุข ๖๓๐,๐๐๐ บาท แต่ได้ผลไม่เป็นที่พอใจนัก  โครงการที่จัดลงไปขาดความต่อเนื่องและความยั่งยืน

โดยสรุปสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน ที่คนส่วนใหญ่ทำไร่หมุนเวียน ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาใดๆ ได้ ส่วนพื้นที่ทำกินในชุมชน กำลังถูกพลังการพัฒนาจากนายทุนมาครอบงำ ยึดครองกรรมสิทธิ์ทางการเกษตรในพื้นที่โดยรอบชุมชน เนื่องจากชาวบ้านขาดเงินทุนในการทำการเกษตรเพื่อการค้า และขาดทักษะการทำการค้าขาย หรือการต่อรองทางเศรษฐกิจ

สถานการณ์ชุมชน

ด้านความยากจน  หน่วยงานภาครัฐและภาคท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับชุมชนวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความยากจนเกิดจากขาดที่ทำกิน ขาดเงินทุน ขาดความรู้การตลาด การพนัน สุขภาพ การคมนาคม การมีลูกมาก รายได้ไม่สมดุลรายจ่าย ขาดการอบรม มีหนี้สินนอกระบบ การสื่อสารไม่ดี แหล่งน้ำทางการเกษตรไม่เพียงพอ โดยหลักในการวิเคราะห์ได้นิยามความยากจนว่า “การไม่มีเงินเพียงพอในการซื้อหาปัจจัยจำเป็นมาใช้ในการดำรงชีพ”  แต่ฝ่ายชาวบ้านยังมีการกล่าวกันว่า “คนในหมู่บ้านนี้ ถ้าขยันไม่อดตาย” “เพราะที่ดินทำไร่หมุนเวียนมีรายรอบหมู่บ้านให้ชาวบ้านเลือกขอพื้นที่จากแม่ธรณี เจ้าป่าเจ้าเขามาทำไร่หมุนเวียนได้อย่างเพียงพอ เมื่อได้ทำไร่หมุนเวียนแล้ว อาหารอื่นๆ จะตามมาเอง ในไร่มีอาหารครบทุกอย่าง ยิ่งกว่าตู้เย็นในบ้านคนในเมืองอีก” นี้คือความเข้าใจของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่เคยมีเงินมาแต่โบราณ จึงยังไม่คิดว่า จำเป็นต้องใช้เงิน  สถานการณ์ดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ร้านค้าชุมชน การส่งเสริมการอาชีพ การพัฒนาอาชีพทางเกษตร การพัฒนาแปรรูปทางเกษตร การจัดทำปุ๋ยอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์  การส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งเสริมงานหัตถกรรมหมู่บ้าน

ด้านการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับชุมชนวิเคราะห์ว่า การที่เยาวชนมีการศึกษาต่ำ ไม่สนใจการศึกษา เกิดจากลักษณะพื้นที่ตั้งชุมชนเป็นจุดอับและกันดาร การเดินทางเข้าออกเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เส้นทางคมนาคมไม่สะดวก ระยะทางไกล มีแหล่งเรียนรู้น้อย ขาดการมีส่วนร่วมในการศึกษาของชุมชน ผู้ปกครองมีรายได้น้อย สุขภาพและโภชนาการไม่ถูกต้อง ขาดครู/บุคลากรทางการศึกษา จึงทำให้โอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไม่เท่าเทียมคนในชุมชนเมือง ส่วนคนในชุมชนวิเคราะห์สถานการณ์นี้ว่า โดยพื้นฐานเราเกิดในป่า ย่อมมีประสบการณ์ในเรื่องของป่า จะไปมีประสบการณ์เรื่องเมืองให้เท่าเทียมคนเกิดในเมืองย่อมเป็นไปไม่ได้  สถานการณ์การศึกษาของเด็กและเยาวชน จึงน่าจะอยู่ที่หลักสูตรการศึกษามากกว่า หลักสูตรได้นำสาระความรู้อะไรมาจัดการเรียนการสอน และประเมินผล ซึ่งความเป็นจริงสาระความรู้ที่นำมาสอนล้วนแต่เป็นเรื่องของเมืองทั้งเชิงหลักการและเนื้อหาสาระ ที่ซึ่งเด็กๆ และเยาวชนของเราไม่เคยพบเห็นมาตั้งแต่เกิด บางคนยังหุงข้าวหม้อไฟฟ้าไม่เป็น แต่หุงข้าวกับเตาไฟได้ เมื่อถึงคราวสอบแข่งขัน จึงไม่เคยได้รับการพิจารณาเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ผลคือเด็กและเยาวชนท้อแท้ กลับบ้านหรือไม่ก็เตลิดไปขายแรงงานในเมืองแทนการศึกษา สถานการณ์ด้านการศึกษาดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามจัดทำแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ส่งเสริมรายได้ระหว่างเรียน ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน จัดการศึกษาแบบเรียนรวมห้องเรียนพิเศษ ในพื้นที่หมู้บ้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก ๓ ห้องเรียน

ด้านสุขภาพ หน่วยงานภาครัฐและภาคท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับชุมชนวิเคราะห์ว่า สาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อม การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพ ขาดบุคลากร/เจ้าหน้าที่ ขาดหลักโภชนาการที่ดี โรคประจำท้องถิ่น สุรา/บุหรี่ ซึ่งประเด็นนี้ ชุมชนไม่ได้วิเคราะห์ลึกลงไปเพียงแต่ชี้ให้ดูผู้สูงอายุ ว่าคนนั้นอายุ ๘๐ ปี  คนนี้อายุ ๗๕ ปี แล้ว ทุกคนเกิดและใช้ชีวิตอยู่มาตั้งแต่ไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้ามาในชุมชนอย่างปัจุบัน และกล่าวว่าแท้จริงแล้วในวิถีวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาของกะเหรี่ยงในอดีต คนไม่กินเหล้า จะกินบ้างเพียงแต่เป็นยา นิยมกินมังสะวิรัติ อาหารในชุมชนที่บริโภคส่วนใหญ่ไม่เป็นพิษ เศษเหลือก็ไม่เป็นภัยต่อใคร เพราะมันย่อยสลายไปในธรรมชาติ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นอาหารมาจากเมือง ไม่ได้เป็นอาหารมาจากป่าหรือในหมู่บ้าน สถานการณ์ด้านสุขภาพ ดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามส่งเสริมสุขภาพในชุมชน รณรงค์ป้องกันโรค และการบริโภคอาหารที่ส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดี

ด้านสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภาครัฐและภาคท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับชุมชนวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี มาจากขยะในระบบนิเวศที่บุคคลภายนอกที่เข้ามาเที่ยวในหมู่บ้าน แต่คนในชุมชนยังไม่เห็นสถานการณ์นี้มากนัก ด้วยสิ่งที่เห็นจำพวกที่เป็นเศษเหลือจากธรรมชาติ อาจจะไม่เป็นปัญหาของชุมชนที่นี้ก็ได้ ด้วยธรรมชาติต่างๆ ยังช่วยจัดการได้ เพียงแต่สิ่งของบางอย่าง เช่น พลาสติกลักษณะต่างๆ ที่มาจากเมือง อาจจะจัดการยาก ยิ่งเอามารวมกันก็จะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เกษตรกรรมสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะเป็นระบบ ส่งเสริมอนุรักษ์สมุนไพรในท้องถิ่น

ด้านศิลปวัฒนธรรม  หน่วยงานภาครัฐและภาคท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับชุมชนวิเคราะห์ว่า เกิดจากการนำวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาเผยแพร่ การมีส่วนร่วมของผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การขาดผู้สืบทอดจากผู้สูงอายุ แต่คนในชุมชนกล่าวว่าสาเหตุหลักได้แก่ การจัดการเรียนการสอนเด็กที่เกิดขึ้นในชุมชน ไม่ได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมเข้าไปสร้างเป็นสาระการเรียนรู้ที่ถูกต้อง รวมทั้งการสร้างค่านิยมใหม่ที่ฝักใฝ่ความแปลกตา ความน่าทึ่ง ความสวย ความงามแบบเมือง ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาและไม่เจตนา ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น การยอมรับยกย่องศิลปะการแสดงแบบเมืองว่าสุดยอดความสวยความงาม ขณะที่ไม่เคยกล่าวถึงความสวยความงามของกลุ่มชาติพันธุ์ ย่อมเป็นการทำลายศิลปวัฒนธรรมไปโดยปริยาย  สถานการณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น โดยการสำรวจและประมวลคงวามรู้ รวมทั้งเผยแพร่ไปในสังคม

ด้านสังคม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เช่น  ผู้นำชุมชน ครู พระ อบต.และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการหย่าร้าง การพนัน / สุรา การลักขโมย ขาดการส่งเสริมด้านคุณธรรม/การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนร่วม ส่วนชาวบ้านคุยกันว่า สาเหตุที่กล่าวข้างต้นเกิดขึ้นเป็นมานานแล้ว เพราะเป็นสิ่งคู่กับสังคม เมื่อมีสังคม ต้องมีปัญหาเหล่านี้ ไม่มีสังคมที่ไม่มีปัญหาเหล่านี้ แม้ในหมู่ภิกษุสงฆ์ก็ยังมี สาเหตุสำคัญของปัญหาสังคมจึงน่าจะมาจากรากฐานเรื่องจิตใจของคนที่ถูกครอบงำด้วยภูมิปัญญาอื่น ละเลย ไม่รู้ ไม่เข้าใจภูมิปัญญาของตนเอง เปิดโอกาสให้ใจตนเองเกิดความความโลภมากขึ้น สถานการณ์ด้านสังคมดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตตามเศรษฐกิจพอเพียง ให้ชาวบ้านขยัน ประหยัด ลดภาวะการเป็นหนี้สิน

ความพยายามแก้ไขสถานการณ์และการพัฒนาชุมชน ผู้นำชุมชน ครู พระ อบต.และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้อง พยายามหาแนวทางแก้สิ่งต่างๆ ที่คิดว่าเห็นว่าเป็นปัญหา โดยในระยะเวลา ๔-๕ ปีที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการต่างๆ ตามแนวทางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  แต่ชาวบ้านเล่าว่า ผลการดำเนินงาน เป็นแบบไฟไหม้ฟาง เป็นแบบราชการ เคลื่อนไหวเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามความต้องการและความจำเป็นของหน่วยงานนั้นๆ กิจกรรมบางอย่างเพิ่งเริ่มต้น กิจกรรมอื่นเข้ามาเพิ่มแล้ว ต้องละกิจกรรมเดิมไว้ แล้วหันไปสนใจกับกิจกรรมใหม่ แต่ยังไม่ทันได้ผล มีกิจกรรมอื่นๆ เวียนมาอีก ทั้งหมดล้วนเป็นกิจกรรมใหม่ๆ ที่ชาวบ้านยังไม่มีทักษะ ต้องอาศัยเวลาสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ จากการทดปฏิบัติ จนทำได้ จากนั้นถ้าเป็นที่พอใจจึงนำมาใช้ ถ้าไม่พอใจก็ต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้ดูเหมือนว่า ยิ่งแก้ไขพัฒนาชุมชนยิ่งตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ดีมากขึ้น

แหล่งอ้างอิง

คณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตำบลไล่โว่.  (2558). โครงการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเสริมพลังการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลไล่โว่ และตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *