ความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชน
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยงในประเทศไทย อาศัยอยู่ใน 15 จังหวัด 68 อำเภอ 2,130 หมู่บ้าน ประชากรรวม 353,574 คน (ทำเนียบชุมชนฯ 2540, น.27) กะเหรี่ยง เป็นคำเรียกของคนไทยภาคกลาง คนพม่าเรียก กะยิน (Kayin) คนพื้นเมืองภาคเหนือและไทยใหญ่เรียกว่า ยาง ชาวตะวันตก (ฝรั่ง) เรียก Karen มีด้วยกัน ๔ กลุ่มใหญ่ คือ กะเหรี่ยงสะกอ กะเหรี่ยวโปว์ กะเหรี่ยงคะยา (แบรหรือบเว) และกะเหรี่ยงตองสู(ตองตูหรือปาโอ) (ดูราย ละเอียดเรื่องกะเหรี่ยงสะกอ จาก สุริยา รัตนกุล และสมทรง บุรุษพัฒน์ ๒๕๓๘) โดยบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ได้กล่าวถึงลักษณะทั่วไปของชาวกะเหรี่ยงไว้ว่า(2506)
- กะเหรี่ยงสะกอ (Sgaw Karen) เรียกตัวเองว่า กันยอ (Kanyaw) คนไทยเรียก ยางขาว กะเหรี่ยงสะกอในแถบตะวันตกของเชียงใหม่ เรียกตัวเองว่า บูคุนโย (Bu Kun Yo) ผู้ชายนิยมใส่เสื้อสีแดง รัดเอวด้วยเชือก มีพู่ และโพกผ้าสีต่างๆ ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานนุ่งกระโปรงทรงกระสอบ สีขาวยาว มีปักบ้างเล็ก น้อย ส่วนที่แต่งงานแล้ว นิยมใส่เสื้อแขนสั้นสีน้ำเงินเข้ม ส่วนล่างประดับด้วยลูกปัดสีแดงและขาว สวม กระโปรงสีแดง ลายตัด โพกผ้าสีแดง
- กะเหรี่ยงโปว์ (Pwo Karen) คนไทยเรียก ยางโปว์ พม่าเรียกว่า ตะเลียงกะยิน (Taliang Kayin) ผู้ชายแต่งตัวเหมือนชาวไทยพื้นราบทั่วไป ผู้หญิงแต่งงานแล้วใส่เสื้อทรงกระสอบเหมือนพวกสะกอ แต่ยาวกว่าและสีแดงกว่า ท่อนบนปักลวดลาย ประดับลูกปัด เกล้าผมมีปิ่นเงินปักผม กระโปรงยาวคลุมข้อเท้า มีปิ่นปักและพู่ห้อย ใส่กำไลมือและแขน ผู้หญิงสักหมึกเครื่องหมายสวัสดิกะที่ข้อมือ ส่วนน่องสักเป็นรูปกระดูกงู เชื่อว่า สามารถป้องกันเวทย์มนต์คาถาและภูตผีปีศาจได้
- กะเหรี่ยงบเว (B’ghwe Karen) หรือ แบร (Bre) หรือกะเหรี่ยงแดง เรียกตัวเองว่า กะยา (Ka-ya) คนไทยเรียก ยางแดง พม่าเรียกว่า คะยินนี (Kayin-ni) สมัยใหม่เรียก คะยา (Kayah) ชาวอังกฤษ เรียกคาเรนนี (Karen-ni) ตามชื่อที่ชาวพม่าเรียก กะเหรี่ยงบเว ผู้ชายนุ่งกางเกงขาสั้นสีแดง โพกศีรษะ นิยมสักข้างหลัง ผู้หญิงนุ่งกระโปรงสั้น และสวมกำไลไม้ไผ่ที่ข้อเท้า กะเหรี่ยงแดงถือว่าตนเป็นชาติใหญ่ และไม่ยอมรับพวกสกอและโปว์ว่าเป็นพวกที่มีเลือดกะเหรี่ยงอย่างแท้จริง
- กะเหรี่ยงตองสู หรือปะโอ (Pa-O) คนไทยและพม่าเรียก ตองสู (Thaung thu) ไทยใหญ่เรียก ตองซู (Tong-Su) กะเหรี่ยงเผ่าสะกอเรียกตองสูว่า กะเหรี่ยงดำ ตองสูแต่เดิมอาศัยอยู่บริเวณเมืองต่างๆ ใกล้ทะเลสาบอินเล แห่งมะเยลัต ในรัฐฉานตอนใต้ ประเทศพม่า เมืองที่ตองสูอยู่มากที่สุด คือ หลอยโหลง และเมืองสะทุ่ง ผู้หญิงตองตูนิยมแต่งชุดสีดำ โพกผ้าสีขาวหรือดำ ผู้ชายนุ่งกางเกงขายาวสีดำ และ สีขาว เสื้อแขนยาว ผ่าอกกลางใช้กระดุมผ้า
กล่าวกันว่า ถิ่นฐานเดิมของชาวกะเหรี่ยง อาศัยอยู่ในธิเบตตะวันออก เข้ามาตั้งถิ่นฐานในราชอาณาจักรจีนเมื่อ ๗๓๓ ปี ก่อนพุทธกาล หรือประมาณ ๓๒๙๑ ปี ล่วงมาแล้ว หลังจากจีนรุกรานจึงหนีมาอยู่ในบริเวณแม่น้ำแยงซีเกียง ต่อมาปะทะกับชนชาติไทยจึงถอยร่นมาอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขง และแม่น้ำสาละวินในพม่า อย่างไรก็ตาม ขจัดภัย บุรุษพัฒน์(๒๕๑๘ : ๗๓) กล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศไทยไว้ว่า “กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในประเทศไทย ก่อนที่ชนชาติไทยจะเคลื่อนย้ายมาสู่สุวรรณภูมิ แต่มีจำนวนเล็กน้อย”(อ้างในสุจริตลักษณ์ ดผดุง และสรินยา คำเมือง.สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยงโป. ๒๕๔๐ : หน้า ๕)
ตำนานกำเนิดชาวกะเหรี่ยงที่เล่าสืบต่อกันมาว่า กะเหรี่ยงเกิดจากนางฟ้าบนสวรรค์ที่ลงมาเกิดลูกไว้ในเมืองมนุษย์แล้วกลับขึ้นไปบนสวรรค์ กะเหรี่ยงเมื่อเกิดแล้วได้รับมอบหนังสือจากแม่เล่มหนึ่ง แต่ทำลืมไว้บนตอไม้ ฝรั่งซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องที่เกิดจากนางฟ้าคนอื่นได้ถือเอาไป ทำให้กะเหรี่ยงไม่รู้หนังสือ กะเหรี่ยงมีพี่น้องสามคน คือ กะเหรี่ยง กะหร่าง และตองสู อยู่ด้วยกัน วันหนึ่งกะเหรี่ยงและกะหร่าง ล่าเม่นได้ ไม่แบ่งเนื้อให้ตองสูๆ น้อยใจ จึงหนีพี่ไป ทำให้ต้องแยกจากกัน ส่วนตำนานตองสูเล่าว่า กะเหรี่ยงไปเที่ยวป่า เอามีดแทงตาปลากั้ง เป็นบรรพบุรุษฝ่ายมารดาของพม่า พม่าจึงไล่ฆ่ากะเหรี่ยงและกะหร่าง ทั้งสองจึงได้หลบหนีเข้ามาอยู่ในพื้นที่เป็นเมืองไทยปัจจุบัน พี่น้องจึงต้องพลัดพรากจากกัน
ตำนานกะเหรี่ยงอีกตอนหนึ่งที่เล่าถึงความยากลำบากในชีวิตก่อนจะได้รับนับถือพุทธศาสนา ว่า สมัยมาอาศัยอยู่กับชาวมอญที่บ้านสุกะร่อง เมืองทวาย มอญข่มเหง รังแก ไม่ยอมคบค้าสมาคม ไม่ยอมให้เรียนหนังสือ เด็กชายชาวกะเหรี่ยงชื่อ “พู่ตะไม๊” อยากเรียนหนังสือมาก จึงไปแอบฟังมอญเรียนหนังสือที่วัด วันหนึ่งพระอาจารย์ถามปัญหา เด็กมอญตอบไม่ได้ พู่ตะไม๊แอบฟังอยู่ใต้ถุนศาลาจึงตอบแทน พระอาจารย์ชื่นชอบมาก พู่ตะไม๊จึงขอบวชเรียนกับพระอาจารย์ แต่ภิกษุรูปอื่นคัดค้าน ด้วยเห็นว่า เป็นคนป่า พู่ตะไม๊จึงว่า สมัยพุทธกาลลิงซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานแท้ๆ พระพุทธเจ้ายังเมตตาเอาผ้าเหลืองมาห่มให้คลายหนาว ตนเองเป็นมนุษย์กลับไม่ให้บวชเรียน พระอาจารย์จึงตกลงบวชให้ เมื่อบวชแล้วได้เพียรศึกษาธรรมะ อ่านเขียนภาษามอญได้คล่องแคล่ว ได้ไปเรียนบาลีธรรมในสำนักใหญ่ เมืองหงสาวดี จนแตกฉานในธรรมพุทธศาสนา พู่ตะไม๊ จึงนำพุทธศาสนาและตัวหนังสือของมอญมาเผยแพร่ ให้กะเหรี่ยงได้เรียนรู้ สืบมาถึงปัจจุบัน
การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของกะเหรี่ยง บุญช่วย ศรีสวัสดิ์(2506) กล่าวไว้ว่า กะเหรี่ยงอยู่อาศัยรวมกันเป็นหมู่บ้าน บ้านเรือนและยุ้งฉางสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงแฝก เรียกว่า “โขน” ยกพื้นด้วยเสาไม้สูง 5-6 ฟุต บริเวณบ้านไม่มีรั้ว ซึ่งขจัดภัย บุรุษพัฒน์(2538) ได้อธิบายว่า กะเหรี่ยงสะกอ และโปว์ มีแบบแผนการสร้างบ้านเรือนคล้ายกันส่วนตองตูจะตั้งบ้านเรือนอยู่เนินเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000-3,500 ฟุต แบบบ้านคล้ายชาวไทยใหญ่ ในหมู่บ้านไม่มีวัด ไม่มีลานเต้นรำ แบ่งลักษณะที่ตั้งหมู่บ้านได้เป็น 3 ประเภท คือ
- หมู่บ้านถาวร ตั้งอยู่ตามหุบเขา เป็นหมู่บ้านค่อนข้างใหญ่ มีบ้าน 16-72 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ตั้งมานานกว่า 50 ปีขึ้นไป
- หมู่บ้านค่อนข้างถาวร ตั้งอยู่ตามหุบเขาสูง ขนาดปานกลาง มีบ้านประมาณ 11 หลังคาเรือน ทั้ง 2 ประเภทนี้ ชาวบ้านจะดำรงชีพด้วยการทำนาเป็นหลัก
- หมู่บ้านบนภูเขา ชาวบ้านมักทำไร่ หมู่บ้านมีขนาดเล็ก
หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง มีหัวหน้าหมู่บ้าน เรียกว่า เซี่ยเก็งคู หรือ ซะปร่า เปอฮี่ (บุญช่วย 2506, น.81) ได้มาจากการสืบสานตามสายบิดา หน้าที่ของหัวหน้า คือ พิจารณาตัดสินกรณีพิพาท ตัดสินคดีเกี่ยวกับความประพฤติผิดทางเพศ ลักขโมย เป็นต้น
ระบบครอบครัวและตระกูลของกะเหรี่ยง โดยทั่วไปเป็น ครอบครัวเดี่ยว ปกติคู่สมรสจะตั้งครอบครัวของตนภายหลังที่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิงระยะหนึ่งแล้วจึงออกมาสร้างบ้านหลังเล็กก่อนแล้วค่อยต่อเติมให้ใหญ่ขึ้นเมื่อมีลูก กะเหรี่ยงเชื่อว่าบ้านเป็นสถานที่ทางวิญญาณของภรรยา ต้องมีพิธีเตอะเซี่ย หลังจากภรรยาย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ เพื่อแจ้งแก่ผีสายมารดาให้ทราบถึงการแต่งงาน (ขจัดภัย 2538,น78-79)
ศาสนาของชาวกะเหรี่ยง บางกลุ่มนับถือพุทธศาสนา เช่น กะเหรี่ยงโปว์ บางกลุ่มนับถือคริสต์ เช่น กะเหรี่ยงสะกอ ที่อาศัยในพื้นราบ แต่ชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด รวมผู้ที่นับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนา ยังคงนับถือผี โดยเชื่อว่า ผีสิงสถิตอยู่ในป่า ในไร่ หรือในหมู่บ้านอยู่ทุกหนทุกแห่ง ผีที่นับถือ คือ ผีเรือน ผีบ้าน ผีเรือน คือ ผีประจำบ้านเรือน เป็นวิญญาณของปู่ย่าตายายที่วนเวียนอยู่ภายในบ้านเรือนคอยป้องกันรักษาบุตรหลานให้อยู่อย่างสงบสุข ส่วนผีบ้าน เป็นผีหรือเทพารักษ์รักษาหมู่บ้านบางทีเรียกว่า ผีเจ้าเมือง หรือผีเจ้าที่หรือเจ้าพ่อ มีความสำคัญต่อการทำการเกษตรและความอยู่ดีมีสุขของคนทั้งหมู่บ้าน จะต้องเลี้ยงผีตามประเพณี ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ชาวกะเหรี่ยงถือว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดจากการกระทำของผีร้ายต่างๆ ซึ่งสิงสถิตตามป่า เขา แม่น้ำ ลำธาร เมื่อมีผู้เจ็บป่วยจะต้องจัดพิธีเลี้ยงผี โดยหมอผีในหมู่บ้าน การเลี้ยงผี เป็นการขอขมาผีจะได้หายโกรธแค้นผู้ที่ไปลบหลู่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้ที่ประกอบพิธีเซ่นสังเวยผี ได้แก่หมอผี ซึ่งมีสองคน คือ ตัวจริง และตัวสำรอง ทั้งสองคนต้องเป็นญาติกัน (ขจัดภัย 2538, น.81-82) พวกกะเหรี่ยงแดง จะปลูกสร้างเสาสูงไว้ให้ผีหมู่บ้านอาศัย เสานี้เรียกว่า เสามงคล มีพิธีปลูกเสา ปีละ 1 ต้น ในเดือนเมษายน เรียกพิธี “กู่โตโป” บางแห่งใช้เสาไม้ไผ่ บางแห่งใช้เสาไม้จริง ไม่ให้คนหรือสัตว์ข้าม มีความสูง 10-12 เมตร บนยอดเสาแกะสลักเป็นรูปศีรษะมนุษย์ (บุญช่วย 2506, น.125-126)
ระบบเศรษฐกิจของกะเหรี่ยง ขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นหลัก พืชหลักที่ปลูก คือข้าว การปลูกข้าวมีสองประเภท คือ กะเหรี่ยงบนภูเขาปลูกข้าวไร่ กะเหรี่ยงที่ราบหุบเขาปลูกข้าวนาขั้นบันได นอกจากข้าวแล้ว ยังปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ผัก ฟักทอง พริก มะเขือ เป็นต้น กะเหรี่ยงแต่ละครอบครัวจะโค่นถาง ทำไร่ของตนเองอยู่ในเขตหมู่บ้านของตนเท่านั้น(ขจัดภัย 2538, น.77) สัตว์เลี้ยง ได้แก่ หมู ไก่ เลี้ยงไว้ใช้ในพิธีบวงสรวง วัว ควาย ช้างเลี้ยงไว้ใช้งาน สำหรับ ช้างจะเลี้ยงในครอบครัวที่มีฐานะดี รายได้ส่วนใหญ่ได้จากการขายปศุสัตว์ รับจ้างทำงานกับคนไทย ขายของป่า อุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น ตะกร้า มีด เครื่องครัวที่ทำจากไม้ เป็นต้น (ขจัดภัย 2538, น.78)
แหล่งอ้างอิง
คณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตำบลไล่โว่. (2558). โครงการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเสริมพลังการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลไล่โว่ และตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.