ประเพณีสงกรานต์แห่ปราสาทผึ้ง

ความเป็นมาและความเชื่อ

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งเป็นประเพณีนิยมที่ทำกันมาแต่โบราณด้วยเหตุผลหรือคติที่ว่าเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อตั้งความปรารถนาไว้ หากเกิดในภพมนุษย์ขอให้มีปราสาทราชมณเฑียรอาศัยอยู่ด้วยความมั่งมีศรีสุข ถ้าเกิดในสวรรค์ขอให้มีปราสาทอันสวยงามมีนางฟ้าแวดล้อมเป็นบริวารจำนวนมาก และเพื่อรวมพลังสามัคคีทำบุญทำกุศลร่วมกันพบประสนทนากันฉันท์พี่น้อง และเพื่อเป็นการประกาศหลักศีลธรรมทางบุญทางกุศลให้ปรากฏ

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งเป็นประเพณีที่ชาวบ้านตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านานแล้วสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการก่อตั้งวัดหนองปรือซึ่งก่อตั้งมาประมาณ 60 ปีเศษชาวบ้านหนองปรือ ดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นชนชาวลาวและมีชนชาวเผ่ากระเหรี่ยงอยู่บ้างเป็นส่วนน้อย สำหรับชนชาวลาวที่อาศัยอยู่ในอำเภอหนองปรือจะสืบเชื้อสายมาจากนครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาวสมัยนั้นมีข่าวเล่ากันว่านครเวียงจันทน์แตก เพราะถูกข้าศึกรุกรานผู้คนจึงอพยพหนีไปคนละทิศละทาง ส่วนหนึ่งของชนชาวลาวที่หนีข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาทางฝั่งไทยและพากันอพยพลงมาเรื่อยๆ และปักหลักสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่งได้พากันมาตั้งบ้านเรือนขึ้นที่บ้านหนองปรือ ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2400 หรือประมาณ 136 ปีมาแล้ว

          การจัดทำและแห่ปราสาทผึ้งเกิดจากเมื่อสมัยก่อนนั้น ประชาชนคงยังไม่มีไต้ใช้หรือน้ำมันตะเกียงเพื่อแสงสว่างในยามค่ำคืนคงต้องอาศัยการไปเที่ยวเก็บหาขี้ชันก้อนบ้าง ขี้ชันโพรงบ้างตามต้นไม้ในป่า หรือได้จากน้ำมันพืชบ้าง เช่น น้ำมันมะพร้าวเอามาทำเป็นประทีปตามไฟเพื่อแสงสว่าง ฉะนั้น พอถึงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน หรือนับเดือนทางจันทรคติก็คือเดือน 5 ของทุกๆ ปี ผู้คนก็จะออกไปหารวงผึ้ง กัน และในช่วงเดือน 5 นี้ ตัวแมลงผึ้งก็กำลังสะสมน้ำหวาน (น้ำผึ้ง) เอาไว้ในรังผึ้งจนเต็ม เพื่อเก็บไว้สำหรับเลี้ยงลูกอ่อน เมื่อคนได้น้ำผึ้งและขี้ผึ้งมาก็ได้อาศัยน้ำผึ้งนี้รับประทานเป็นของหวานและได้นำมาถวายพระภิกษุสงฆ์บ้าง ส่วนขี้ผึ้งนั้นก็จะเก็บรวบรวมกันมาก บ้างน้อยบ้างตามแต่จะหาได้และก็นำมาถวายพระภิกษุสงฆ์เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้นำขี้ผึ้งมาทำเทียนตามไฟ สำหรับอ่านและเขียนหนังสือบ้าง และบูชาพระบ้างต่อมาคงจะคิดได้ว่าการนำเอาขี้ผึ้งไปถวายพระ ภิกษุสงฆ์น่าจะได้ทำให้เป็นประเพณีประจำปีสืบต่อกันมาจึงได้มีการจัดทำปราสาทผึ้งขึ้น ลักษณะของปราสาทผึ้งนี้ทำด้วยโครงไม้ไผ่และบุด้วยกาบต้นกล้วย เพื่อให้มีการเสียบประดับประดาตกแต่งด้วยดอกไม้อันทำขึ้นจากขี้ผึ้งวิธีทำดอกไม้ด้วยขี้ผึ้งนั้นคือ เมื่อถึงฤดูกาลหรือเทศกาลประจำปีชาวบ้านจะถือวันท้ายวันสงกรานต์คือวันที่ 17 เมษายนเป็นวันพิธีแห่ปราสาทผึ้ง

          น้ำผึ้งและขี้ผึ้งมาก็ได้อาศัยน้ำผึ้งนี้รับประทานเป็นของหวานและได้นำมาถวายพระสงฆ์บ้างส่วนขี้ผึ้งนั้นก็จะเก็บรวมๆ กันตามแต่จะหาได้และก็นำมาถวายพระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้นำขี้ผึ้งมาทำเป็นเทียนตามไฟสำหรับอ่านและเขียนหนังสือ ก่อนที่จะนำเอาขี้ผึ้งไปถวายพระสงฆ์ได้มีการจัดทำอย่างสวยงาม จึงทำให้เกิดเป็นประเพณีประจำปีสืบต่อมากันจนถึงปัจจุบัน

วิธีการจัดเก็บขี้ผึ้งเป็นก้อนและเก็บรักษาไว้ที่วัดวัสดุที่ใช้นั้นก็ได้จากธรรมชาติ สำหรับตัวปราสาทผึ้งที่เป็นโครงของตัวปราสาทก็ทำจากไม้ไผ่ตัวดอกผึ้งเก็บโดยการนำมารวมกันเป็นก้อนๆ โดยสามารถแบ่งเก็บได้เพียงแค่ขี้ผึ้งกับโครงไม้ไผ่เท่านั้น ส่วนเกสรดอกผึ้งไม่นิยมเก็บเพราะว่าจะทำขึ้นมาใหม่โดยใช้ไม้ไผ่ที่มีอยู่ในธรรมชาติในการเก็บรักษาต้องแยกดอกผึ้งออกจากตัวปราสาทผึ้งก่อน ให้เรียบร้อยสำหรับในส่วนตัวโครงปราสาทผึ้งจะเก็บไว้ที่ร่มไม่ให้โดนแสงแดด หรือนำมาเก็บไว้ในตู้เก็บของที่มีลักษณะทึบโดยหลีกเลี่ยงจากแสงแดดและความร้อนจะเก็บรักษาไว้ในบริเวณภายในวัด โดยแยกการเก็บออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนของดอกผึ้ง โครงปราสาทและเกสรดอก

กระบวนการและพิธีกรรม

ก่อนพิธีแห่ปราสาทผึ้งในวันที่ 17 เมษายน ประมาณวันที่ 15 เมษายน ชาวบ้านจะเริ่มทำปราสาทผึ้งก่อนโดยจะเริ่มจากการเตรียมทำโครงไม้ไผ่และบุด้วยกาบต้นกล้วย เพื่อใช้สำหรับเสียบดอกไม้ที่ทำมาจากขี้ผึ้งเมื่อถึงวันนี้ชาวบ้านจะน้ำขี้ผึ้งมา รวมกันที่วัดแล้วนำขี้ผึ้งใส่กระทะใบใหญ่ตั้งไฟเคี่ยวให้ละลายต่อจากนั้นก็จะนำเอาผลมะละกอผลเล็กๆ มาแกะเป็นรูปดอกไม้ต่างๆ ตามความต้องการแล้วเอารูปที่แกะได้ไปจุ่มลงในกระทะที่เคี่ยวขี้ผึ้งแล้วนำมาจุ่มในน้ำเย็น ขี้ผึ้งก็จะหลุดออกมาเป็นรูปดอกไม้ที่คล้ายกรวย จากนั้นนำดอกผึ้งที่คล้ายกรวยนั้นไปติดเกสรสำหรับการทำเกสรของดอกผึ้งจะนำขมิ้นมาปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ปัจจุบันมีการนำแครอทมาใช้ด้วยแล้วเหลาไม้ไผ่ให้ได้เท่าขนาดไม้จิ้มฟันฉีกปลายให้บานออกเล็กน้อยนำไม้ไผ่ไปเสียบเข้ากับขมิ้นหรือแครอทที่หั่นรอไว้ จากนั้นก็นำไปเสียบเข้ากับดอกผึ้งแล้วจึงนำดอกไม้ขี้ผึ้งที่ได้ไปเสียบประดับที่ตัวปราสาททำให้แลดูสวยสดงดงาม เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้วชาวบ้านจะตั้งขบวนแห่ปราสาทผึ้ง โดยจะแห่ไปรอบๆ หมู่บ้านแล้ววกกลับมาที่วัดตามเดิมต่อจากนั้นก็จะทำพิธีถวายปราสาทผึ้งแด่พระสงฆ์พอตอนค่ำจะนิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น วันรุ่งขึ้นเวลาเช้าชาวบ้านจะพากันมาทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นการฉลองปราสาทผึ้งถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีแห่ปราสาทผึ้ง

     

          นอกจากพิธีแห่ปราสาทผึ้งแล้วในช่วงวันสงกรานต์ของชาวอำเภอหนองปรือจะจัดให้มีการทำบุญตักบาตรตามปกติมีการปล่อยนก ปล่อยปลา ก่อพระเจดีย์ทรายสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์การจัดขบวนรถบุปผาชาติการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ

แหล่งอ้างอิง

พ.จ.ท.วัชรพงษ์ ศรีคำอ้าย สำนักงานเทศบาลตำบลหนองปรือ ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี โทรศัพท์ 0-3464-5200

ปรีชา ดาวเรือง  พีรสิทธิ์ คำนวณศิลปะ. กระบวนการอนุรักษ์ประเพณีการแห่ปราสาทผึ้งตำบลหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี . วารสารการบริหารท้องถิ่น ก ปี ที่ 5 ฉบับที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2555)

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *