ประเพณีร่อยพรรษา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี

ความเป็นมาและความเชื่อ

ประเพณีร่อยพรรษา เป็นประเพณีดั้งเดิมหลายยุคหลายสมัย ก่อนจะออกพรรษาของทุกปีจะมีผู้สูงอายุรวมกลุ่มกัน กลุ่มละประมาณ 5 – 6 คน แล้วเดินร้องเพลงด้นสดไปตามบ้านต่างๆ ทั้งในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง จากการสัมภาษณ์พ่อเพลงแม่เพลงเล่าว่า เพลงร่อยพรรษามีประวัติความเป็นมาอย่างไรและมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่แน่ชัด หากแต่กล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่า มีมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นปู่แล้ว หากคำนวณอายุจะเห็นว่าร้องเล่นกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 150 – 200 ปี และคำว่า “ร่อยพรรษา” ไม่พบว่ามีผู้ใดให้ความหมายแน่ชัดนัก พ่อเพลงแม่เพลงได้สันนิษฐานไว้ สรุปได้ว่า “ร่อย” น่าจะมาจากคำว่า “ร่อยหรอ” กล่าวคือ ข้าวของที่ญาติโดยมพระในช่วงเข้าพรรษา เมื่อพระสงฆ์ใช้ไปในระหว่างพรรษา และใกล้ออกพรรษาสิ่งของเล่านั้นจึงเริ่มจะร่อยหรอหมดไป ชาวบ้านจึงร่วมใจกันออกไปร้องเพลง เพื่อนำสิ่งของมาทำบุญเพิ่มเติม และเพราะความเชื่อที่ว่าไม่ต้องการพูดสิ่งที่ไม่ดี “ร่อยหรอ” จึงเหลือเพียง “ร่อย”

          เพลงร่อยพรรษามีลักษณะเป็นคำกลอนง่ายๆ ซึ่งอาจจะตรงกับชื่อเพลง คือไปเรื่อยๆ ร่อยๆ ดังกล่าวนี้น่าจะหมายความว่า ร่อยพรรษา มาจากคำว่าไปเรื่อยๆ  ร่อยๆ แต่สำนวนภาษา “ไปเรื่องๆ ร่อยๆ” จากการสอบถามพ่อเพลงแม่เพลงไม่พบว่าคนอำเภอห้วยกระเจาเคยใช้สำนวนนี้ ดังนั้น เพลงร่อยพรรษาจึงเป็นที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพ่อเพลงแม่เพลง ที่จะอุปถัมภ์พระสงฆ์ไม่ให้อยู่ในสภาพที่ขาดแคลน การรวมตัวกันของชาวบ้านที่ออกไปร้องเพลงร่อยพรรษา จึงเป็นวิธีการบอกบุญเพื่อรวบรวมจตุปัจจัยไปถวายพระสงฆ์ไว้ เพื่อจะได้สามารถอยู่วัดปฏิบัติธรรม และเป็นที่พึ่งพาทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ ประเพณีร่อยพรรษามีความสำคัญและคุณค่าทางสังคม 3 ประการ คือ เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นการช่วยบอกบุญมาสร้างศาสนา ถาวรวัตถุในวัดประการหนึ่ง และเป็นการบริจาคทรัพย์เพื่อถวายพระสงฆ์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนิกชน

 

กระบวนการดำเนินกิจกรรม

          การเล่นเพลงร่อยพรรษาแต่ละคณะจะประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 5 – 10 คน บางครั้งอาจจะถึง 15 คน ในคณะจะมีพ่อเพลงหรือแม่เพลงมากกว่า 1 คน บางคณะอาจมี 3 – 4 คน พ่อเพลงแม่เพลงจะผลัดกันเป็นต้นเสียงและเป็นลูกคู่ร้องรับสลับกันไปการเป็นคอหนึ่ง คอสอง หรือคอสาม ไม่มีการแบ่งไว้อย่างชัดเจนว่าใครจะเป็นต้นเสียงเมื่อใด เมื่อเห็นว่าคนแรกร้องจบท่อนหนึ่ง คนต่อไปก็จะต่อไปอีกท่อนหนึ่ง คนต่อไปก็จะต่อไปอีกท่อนหนึ่งหรือสองท่อนบางครั้งก็ต่อเพลงในท่อนเดียวกันก็มี นอกจากพ่อเพลงแม่เพลงแล้วในคณะยังประกอบด้วยลูกคู่ คนที่ยังไม่เก่งเพลงนักจึงมักเริ่มจากการเป็นลูกคู่นี้ พ่อเพลงแม่เพลงทุกคนจะเริ่มต้นฝึกหัดเพลง ด้วยการเข้ามาเป็นลูกคู่ก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาตนเองมาเป็นพ่อเพลงแม่เพลงในโอกาสต่อมา

นอกจากนี้ยังมีผู้ทำหน้าที่อื่นๆ ในคณะด้วย ได้แก่ คนถือพานรับเงินบริจาคซึ่งพานดังกล่าวจะใส่ช่อดอกไม้ประดับไว้พองาม และคนหาบกระบุง ตะกร้า รับข้าวสารอาหารแห้ง ผลไม้ และอื่นๆ ที่มีผู้ร่วมทำบุญ  สำหรับการแต่งตัวของคณะพ่อเพลงแม่เพลงมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าธรรมดา เหมือนชุดที่ใส่อยู่กับบ้านหรือชุดที่ใส่ไปทำไร่ทำนา ผู้ชายนุ่งกางเกงและใส่เสื้อแขนยาว ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าโจงกระเบนหรือผ้าถุง สวมเสื้อแขนยาว สิ่งของอื่นที่มีติดตัวไปด้วยเสมอคือ ไม้เท้า หมวก หรืองอบ ที่มักจะประดับดอกไม้พื้นบ้าน เช่น ดอกชบา ดอกเข็ม เป็นต้น เมื่อรวมตัวกันพร้อมแล้วคณะเพลงร่อยพรรษาก็จะออกเดินทางไปร้องเพลงร่อยพรรษาตามบ้านเรือนในหมู่บ้าน วันแรก ของการออกไปร้องเพลงร่อยพรรษา มักเลือกจะเดินทางไปตามหมู่บ้านไกลๆ ก่อน วันสุดท้ายจึงมาร่อยที่หมู่บ้านของตนเอง

 

 

ลักษณะการร้องเพลงร่อยพรรษาจะใช้แต่เสียงของพ่อเพลง แม่เพลงและลูกคู่เท่านั้น ไม่มีเครื่องดนตรีหรือการปรบมือประกอบการร้อง ท่วงทำนองการร้องจะใช้การเอื้อนเสียงมาก และทอดเสียงยาวและเนิบ คล้ายทำนองสวด มีลูกคู่ร้องรับข้อความบางท่อน บรรยากาศของเพลงจึงดูขรึมขลัง ให้ความรู้สึกวังเวงน่าศรัทธา ชวนฟัง เพลงร่อยพรรษานิยมออกไปร้องในเวลากลางคืน ตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงดึก บางครั้งเล่นกันถึงสว่าง พ่อเพลงแม่เพลงมักจะบอกตรงกันว่า ยิ่งดึกก็จะยิ่งดี รูปแบบการยืนร้องเพลงร่อยพรรษาของคณะพ่อเพลงแม่เพลงไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ที่สังเกตได้ประการหนึ่ง คือ คนหาบกระบุงหรือตะกร้าคนถือพาน จะยืนในตำแหน่งตรงกลางแถวหน้า ทั้งนี้คงเพื่อสะดวกในการรับสิ่งของหรือเงินที่เจ้าของบ้านนำมาร่วมทำบุญนั่นเอง ส่วนเจ้าของบ้านก็จะออกมาต้อนรับด้วยการหาน้ำใส่ขันมาให้ดื่ม บางบ้านจะนำเสื่อมาปูไว้ข้างหน้าของที่คณะพ่อเพลงแม่เพลงที่ยืนร้องอยู่ เป็นการเชื้อเชิญให้นั่งพักก่อน สิ่งของที่ร่วมทำบุญมักเป็นข้าวสารกับเงินเป็นหลัก สิ่งของอื่นๆ เช่น ขนมแห้ง พริกแห้ง กระเทียม หอม ฯลฯ แล้วรวบรวมนำจตุปัจจัยและไทยทานเหล่านั้นไปถวายพระสงฆ์ในวันออกพรรษา

 

แหล่งอ้างอิง

สภาวัฒนธรรมตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *