บ้านอีต่อง “บ้านเทพเจ้าแห่งขุนเขา” อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ประวัติความเป็นมาของชุมชน

ที่มาของชื่อหมู่บ้าน “อีต่อง” เพี้ยนมาจากคำว่า “ณัตเอ่งต่อง”  โดยคำว่า “ณัต”  แปลว่าเทพเจ้าหรือเทวดา ส่วนคำว่า “เอ่ง” แปลว่า บ้าน และคำว่า “ต่อง” แปลว่า ภูเขา (ทินกร, สัมภาษณ์, 18 ตุลาคม 2561) จึงมีความหมายโดยรวมว่า “บ้านแห่งภูผาหรือบ้านแห่งเทพเจ้า/เทวดา” หรือ “บ้านเทพเจ้าแห่งขุนเขา”

เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีหมู่บ้าน การจัดตั้งชุมชนหมู่บ้านอีต่อง เริ่มต้นจากที่คนอพยพเข้ามาขุดแร่ในพื้นที่โดยทำเหมืองแร่ดีบุและวุลแฟรม  เล่ากันว่า ได้มีการสำรวจขุดพบแหล่งแร่ในพื้นที่ ในสมัยก่อนอังกฤษซึ่งปกครองประเทศพม่า ได้ทำการสำรวจสายแร่บริเวณพื้นที่แนวรอยต่อระหว่างประเทศพม่า (เมียนมา) และไทย ปรากฏมีแหล่งแร่ในพื้นที่ อังกฤษจึงได้เข้ามาทำเหมืองแร่ โดยมีชาวพม่าและเนปาลเป็นแรงงานขุดหาแร่ต่อมามีนายพรานจากหมู่บ้านบ้านไร่ ชื่อ ผาแป ได้ไล่ล่าตามรอยสัตว์ป่า เนื่องจากในพื้นที่ป่าดงดิบมีสัตว์เข้ามาหากิน นายพรานได้ตามรอยมาถึงบริเวณชายแดนซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณตำบลปิล๊อก ได้พบชุมชนเล็กๆ โดยมีคนงานชาวพม่า นายพรานจึงได้สอบถามคนงานว่า มาทำอะไร ได้รับคำตอบจากพม่าว่ามาขุดแร่ นายพรานจึงได้ขอตัวอย่างแร่กลับมายังหมู่บ้านบ้านไร่ และแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบและให้ผู้ใหญ่บ้านแจ้งกับทางอำเภอทราบ ประมาณปี พ.ศ. 2481 (นิพนธ์ สูนคำ, สัมภาษณ์ 18 ตุลาคม 2561)  ต่อมาทางราชการจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่และได้ทำการเปิดเหมืองแร่อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2484 เนื่องจากพบแหล่งแร่ดีบุกและวุลแฟรม อยู่ 3 แห่ง คือ เมืองอีต่อง เหมืองอีปู่ และเหมืองผาแป เรียกรวมว่า “หมู่เหมืองปิล๊อก”

          เนื่องจากสมัยก่อนการเดินทางสัญจรมีความยากลำบาก เส้นทางสัญจรจะเป็นทางคนเดินตามสันเขา และต้องลุยป่าเป็นระยะทางไกล การพบแร่บริเวณนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวพม่าทำการขุดโดยไม่มีการขอประทานบัตร ประกอบกับสมัยนั้นยังไม่มีการปักปันเขตแดนอย่างชัดเจนเหมือนปัจจุบัน ขอ้มูลที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของศูนย์เรียนรู้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ระบุว่า ก่อนที่จะมีการจัดตั้งองค์การเหมืองแร่รัฐบาลได้มีการขุดแร่จากแหล่งปิล๊อกนำไปขายทางฝั่งประเทศพม่า ซึ่งสามารถเดินทางได้สะดวกกว่า เห็นได้ว่าจากบริเวณพรมแดนมีกองหิน ซึ่งเกิดจากคนที่ข้ามพรมแดนแต่ละครั้งก็จะนำก้อนหินมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่ด่านปิล็อกมีบริเวณคับแคบ ผู้บริหารองค์การเหมืองแร่สมัยนั้นจึงได้นำหินนั้นมาก่อสร้างเป็นพระเจดีย์ ณ สถานที่แห่งใหม่ด้วยแรงศรัทธาของชาวเมืองปิล็อกที่มีทั้งไทย พม่า มอญ และแขกกูรข่า อีกทั้งได้นมัสการสมเด็จพระมหาวีรวงศ์สังฆมนตรีว่าการเผยแพร่ ไปประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งคุณผลวงบริบาลบุรีภัณฑ์มอบให้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2500 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พลตรีประมาณ อดิเรกสาร) ในฐานะประธานกรรมการองค์การเหมืองแร่ไปอ่านคำอาราธนาด้วยตนเอง โดยเจดีย์นี้ได้รับการขนานนามว่า “พระเจดีย์ศรีปิล็อก” (ศูนย์การเรียนรู้อุตสาหกรรม, 2555) เมื่อมีการทำเหมืองแร่ขึ้นในตำบลปิล๊อก ส่งผลให้มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่เพื่อมาเป็นแรงงานขุดแร่ จนเกิดเป็นชุมชนชาวเหมืองขึ้น โดยผู้คนที่เข้ามาเป็นแรงงานขุดแร่ ประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ หลายภาษามีทั้งชาวไทย ชาวพม่า กระเหรี่ยง ทวาย มอญ เนปาล เป็นต้น

         ในช่วงประมาณหลังปี พ.ศ. 2500 กล่าวได้ว่า ตำบลปิล๊อกเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ที่มีความรุ่งเรืองมาก มีเหมืองเล็กและเหมืองใหญ่ราว 50 – 60 เหมือง ผู้คนพากันเรียกบรรดาเหมืองทั้งหลายในพื้นที่แบบเหมารวมว่า “เหมืองปิล๊อก”  โดยมีเหมืององค์การเป็นเหมืองของรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุด ปิล๊อกในสมัยนั้นเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของบรรดานายเหมืองทั้งหลายที่ต่างหลั่งไหลเข้ามาแสวงโชค ปิล๊อกสมัยนั้นจึงถือว่าเป็นแหล่งการค้าและการขายแรงงาน เหมืองแร่ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชาวบ้านในชุมชนจนถึงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา เหมืองแร่ต่างๆ เริ่มค่อยๆ ปิดกิจการลงเพราะสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรกเนื่องจากราคาแร่วุลแฟรมและแร่ดีบุกราคาตกต่ำมาก เกิดจากภาวะราคาแร่โลกตกต่ำ ประการที่สองส่วนใหญ่ปิดกิจการใหญ่เนื่องจากแร่หมด หรือหมดสัมปทานจะขอใหม่ก็ช้ามากและยิ่งเป้นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ โอกาสจะขอได้แทบจะไม่มี จึงทยอยกันปิดกิจการลงปัจจุบันไม่มีเหมืองแร่เหลือเลยคงเหลือชาวบ้านอยู่ไม่กี่ร้อยหลังคาเรือน เมื่อไม่มีการทำเหมืองแร่ในพื้นที่คนงานเหมืองที่เคยมีมากมายเป็นพันเริ่มทยอยหรืออพยพย้ายออกจากพื้นที่มีจำนวนน้อยที่ยังคงปักหลักในพื้นที่อยู่โดยคนที่ยังอยู่เพราะมีช่องทางหินก้องยังมีการติดต่อค้าขายกับชาวพม่า ฝั่งชาวพม่ามักจะเอาชนิดสินค้าวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ กะปิ ปลาเค็ม กุ้งแห้ง ไข่เต่า ปูทะเล เป็นต้น มากแลกเปลี่ยนค้าขาย ขณะที่ฝั่งไทยมีสินค้าจำพวกจักรยาน เครื่องเรือหางยาว ผ้าสะโหร่ง ผ้าถุง เครื่องใช้ในครัวเรือมาขาย จึงเกิดเป็นชุมชนศูนย์การค้าคึกคักในพื้นที่ นอกจากนี้ได้รับทราบข้อมูลจากการสัมภาษณ์ว่าหมู่บ้านอีต่องเคยมีสถานบันเทิง โรงบ่อน และมีโรงหนังถึงสองโรงด้วยกันที่ฉายประชันกันระหว่างโรงหนังทรายทองดราม่ากับโรงหนังปิล๊อกดราม่า

ต่อมาการทำเหมืองแร่ดีบุกวุลแฟรม ได้มีการเปลี่ยนผู้บริหารองค์การมาจนถึงประมาณปี พ.ศ. 2529 ตำบลปิล๊อกได้มีการแยกหมู่บ้านออกเป็น 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านอีต่อง  หมู่ที่ 2 บ้านโบอ่อง หมู่ที่ 3 บ้านใหม่ไร่ป้า และหมู่ที่ 4 บ้านปิล๊อกคี่ ตามความสะดวกในการบริหารจัดการประกอบกับพื้นที่ห่างระหว่างชุมชนหมู่บ้านห่างไกล

 

แหล่งอ้างอิง

สุทิน  อ้อนอุบล. (2562).  การส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สมุนไพรเพื่อสุขภาพของชุมชนตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. กาญจนบุรี: มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *