ประเพณียกธงบ้านเบญพาดวัดเบญพาด ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี

ประชาชนในตำบลพังตรุเริ่มตั้งขบวนแห่ธงด้วยการทั้งพอกหน้า ทาตัว แต่งกายเป็นตัวประหลาด หรือสวมชุดสีสันสดใสในงานประเพณีโบราณของชาวตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีทั้งสนุกสนานและเป็นการสร้างความร่วมไม้ร่วมมือในชุมชนไปในคราวเดียวกัน ซึ่งประเพณีนี้มีมากว่า 100 ปีแล้ว ประเพณียกธงของชาวบ้านเบญพาดเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาไม่ขาดสาย ชาวบ้านซึ่งมีเชื้อสายไทยทรงดำ ลาวครั่ง และลาวโซ่ง เชื่อว่าการช่วยกันยกธงในวันสงกรานต์จะทำให้คนในบ้านเมืองมีความสุข น้ำท่า ข้าวปลาอาหาร อุดมสมบูรณ์ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจในวันปีใหม่ ถ้าปีไหนไม่ได้ยก ชาวบ้านจะไม่สบายใจ

การยกธงยังเป็นประเพณีแห่งความสนุกสนานและสร้างความสามัคคีของประชาชนในชุมชนโดยอาศัยเวลาที่คนกลับมารวมตัวกันในช่วงสงกรานต์มาช่วยกันทำธงให้สวยงามคนละไม้คนละมือ และยังถือเป็นการทำบุญร่วมกันด้วย ที่น่าสนุกคือแต่ละบ้านในชุมชนเบญพาด ทั้ง 7 หมู่บ้าน จะแข่งขันกันใครยกธงขึ้นสำเร็จก่อนจะเป็นผู้ชนะ แม้จะไม่มีรางวัลให้ แต่ก็เป็นความภูมิใจของบ้านนั้น มีเรื่องคุยไปได้ตลอดทั้งปี

วันยกธงกำหนดไว้ที่ 17 หรือ 18  เมษายนของทุกปีช่วงท้ายของวันสงกรานต์ของคนทั่วไป ก่อนถึงวันงานชาวบ้านจะมาช่วยกันทำธง ผู้ชายจะเข้าป่าไปหาไม้ไผ่ลำดีๆ ที่ยาวไม่ต่ำกว่า 10-20 เมตร ยิ่งเป็นลำตรง ทรงสวยได้ยิ่งดี จากนั้นช่วยกันแบกกลับมา ขูดผิว ตกแต่งกิ่งก้าน แล้วนำขมิ้นผสมน้ำ ทาให้เหลืองสวยเพื่อทำเป็นเสาธง ขาดไม่ได้คือไม้ที่ติดกับเสาเพื่อใช้แขวนผืนธง ซึ่งจะแกะสลักเป็นรูปพญานาค ด้วยความเชื่อว่าท่านจะให้น้ำ ฝนจะตกตามฤดูกาล

ส่วนผู้หญิงจะช่วยกันทำเครื่องประดับ ทั้งดอกไม้ประดิษฐ์ ใยแมงมุมที่ทำจากด้ายหลากสี ติดตามกิ่งก้านของเสาไม้ไผ่ ถ้าเป็นแบบดั้งเดิมจะใช้เศษผ้าสีต่างๆ มาผูก และนำใบตาลมาสานเป็นปลาตะเพียน นก ตะกร้อ กบ ไซหาปลา ฯลฯ ซึ่งล้วนมีความหมายผูกพันกับความอุดมสมบูรณ์ ผูกผ้าธงที่ประดับอย่างสวยงาม ไม่จำกัดชนิดผ้า สีสัน และความยาว แต่เมื่อยกขึ้นไปโดนลมแล้วควรจะสะบัดสวยงาม ชายธงไม่ละพื้น

เมื่อธงพร้อม คนก็พร้อม เมื่อถึงวันงาน แต่ละบ้านนัดกันแต่งชุดกันเพื่อตั้งขบวนแห่ธงจากหมู่บ้านไปที่วัด วันนี้คือวันแห่งสีสันและความสนุกสนาน เสียงเพลงลำซิ่งดังสนั่น ทุกคนร้องรำกันเต็มที่ สนุกกันสุดเหวี่ยง บางคนก็ฉีดน้ำใส่ขบวนแห่ให้ความเย็นฉ่ำ

พอขบวนแห่ธงมาถึงวัดเบญพาด ก็จะนำเสาธงมาวางพาดกับฐานที่ตั้งเรียงรายบนลาน ส่วนผ้าธงนำไปเวียนรอบโบสถ์ แล้วม้วนตั้งไว้ให้ชาวบ้านพรมน้ำอบน้ำหอม จนกระทั่งขบวนแห่นำเสาธงทั้ง 7 หมู่บ้านมาประจำการที่ฐานจนครบ จากนั้นเข้าสู่ช่วงพิธี พระจะสวดให้ศีลให้พร ชาวบ้านน้ำผ้าธงมาผูกกับเสาธง จากนั้นคอยฟังพระให้สัญญาณตั้งธง

          หลังเสียงสัญญาณ ชาวบ้านคนหนุ่มคนแก่ก็ช่วยกันตั้งเสาธงที่ยาวกว่าสิบเมตรให้เร็วที่สุด ทั้งใช้มือยก และใช้ไม้ช่วยกันค้ำ เป็นบรรยากาศร่วมแรงร่วมใจกันที่แสนวุ่นวาย ไม่กี่วินาทีเท่านั้นเสาธงของแต่ละหมู่บ้านก็ตั้งกันเด่นสง่าจนครบทั้ง 7 หมู่บ้าน เสียงไชโยโห่ร้องดังขึ้น ชาวบ้านช่วยกันมัดเสาธงเข้ากับฐานก็เป็นอันเสร็จสิ้น จะประดับธงไว้ราว 3-4 วัน ก่อนจะปลดธงลงเพื่อถวายวัด

เมื่อตั้งเสาธงกันเสร็จแล้วก็ถึงเวลารื่นเริงอีกครั้ง เพลงมันส์ๆ ก็มา ชาวบ้านเต้นกันสุดใจขาดดิ้น ทั้งหนุ่มสาว รุ่นพ่อแม่ คนเฒ่าคนแก่ แล้วขบวนผู้คนก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากลานวัดไปเฉลิมฉลองที่ด้านนอกวัดกันอย่างเต็มที่ สาดน้ำเล่นกันสนาน บรรยากาศครึกครื้นคึกคัก

 

แหล่งอ้างอิง

วัดเบ็ญพาด ตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

https://www.viriyah.co.th/th/content/article.php?page=152

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *