พิธีแห่ศาลตาเพชร ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

หมู่บ้านหนองกระจันทร์ ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี มีพิธีกรรมที่ใช้สำหรับการบวงสรวง อ้อนวอน เสี่ยงทายของหมู่บ้าน คือ พิธีแห่ศาลตาเพชรเพื่อขอฝน โดยมีรายละเอียดในการทำพิธีดังต่อไปนี้ การทำนาของชาวบ้านหนองกระจันทร์ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ คือ ฝน ฝนจึงเป็นสิ่งที่ชาวนาต้องการมากที่สุดในหน้าทำนา ดังนั้นเมื่อได้เวลาไถดำแล้วแต่ปรากฏว่าฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวนาจะมีประเพณีขอฝนซึ่งมักจะแตกต่างกันไปบ้างในท้องถิ่นต่างๆ สำหรับหมู่บ้านหนองกระจันทร์ก็จะมีพิธีการขอฝนที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง คือ พิธีแห่ศาลตาเพชร ซึ่งชาวบ้านจะทำพิธีนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี พิธีแห่ศาลตาเพชรเป็นพิธีแห่ของชาวบ้านหนองกระจันทร์ที่มีมานานแล้ว จากความเชื่อที่ว่าถ้าจัดขบวนแห่ขึ้นแล้งฝนฟ้าก็จะตกหรือตกหลังพิธีแห่ภายในไม่กี่ชั่วโมงหรืออาจไม่เกิน 3 วัน 7 วัน

พิธีแห่ศาลตาเพชรที่หมู่บ้านหนองกระจันทร์ดำเนินการนั้นมีชั้นตอนในการทำพิธี ดังนี้

  1. ชาวบ้านนำขบวนกลองยาวของหมู่บ้านหนองกระจันทร์ มารวมกันที่บริเวณศาลพ่อขุนด่าน (ปู่ดำ) หรือ “ศาลตาเพชร” เพื่อเข้าร่วมพิธีแห่ศาลตาเพชรเพื่อขอฝน

ศาลพ่อขุนด่าน (ปู่ดำ) หรือชาวบ้านเรียกว่า “ศาลตาเพชร” เป็นศาลคู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านหนองกระจันทร์ที่คอยปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้อยู่เป็นสุข

บุปผา คงควร (สัมภาษณ์ 15 มีนาคม 2554) ชาวบ้านหนองกระจันทร์เล่าว่า ศาลพ่อขุนด่านชาวบ้านเรียกว่า “ศาลตาเพชร” มีมาแต่โบราณกว่า 100 ปีแล้ว เป็นศาลที่ศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านจะมากราบไหว้บูชาขอพรต่างๆ มีความเชื่อว่าหากขอสิ่งใดแล้วก็สมหวังทุกประการ ส่วนใหญ่ชาวบ้านหนองกระจันทร์ประกอบอาชีพเกษตรกรรมพอถึงช่วงทำนาฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเกรงว่าผลผลิตจะไม่ดีจึงเกิดพิธี “แห่ศาลเพชร” เพื่อขอฝนขึ้น

ภายในสาลตาเพชรมีเครื่องรางของขลังอย่างหนึ่งชื่อว่า “ไม้ตาเพชร” เป็นไม้ที่แกะสลักทำเป็นรูปศิวลึงค์หรืออวัยวะเพชรและที่ปลายไม้ทาสีแดง ชาวบ้านหนองกระจันทร์ใช้ไม้ตาเพชรทำพิธีเพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล

  1. เริ่มต้นพิธีโดยตัวแทนชาวบ้านทำพิธีไหว้ครูกลองยาวโดยของเซ่นไหว้ประกอบด้วย ธูป เทียน ดอกไม้ เหล้าขาว บุหรี่ และเงินค่าครู
  2. คณะกลองยาวเริ่มตีบรรเลงเพลงเพื่อเริ่มพิธี
  3. ตัวแทนชาวบ้านจุดธูปเทียนสักการะพ่อขุนด่าน อธิษฐานขอให้ฝนตกภายใน 3 วัน 7 วันแล้วจึงนำ “ไม้ตาเพชร” ขึ้นรถเข็นเพื่อแห่รอบหมู่บ้าน โดยมีขบวนกลองยาวแห่นำรอบหมู่บ้าน
  4. ขบวนแห่เวียนรอบหมู่บ้านไปเรื่อยๆ ระหว่างที่เดินชาวบ้านจะท่องข้อความสำคัญคือ “ไม้ตาเพชรเอ๋ย ตาเพชรขอฝน ขอน้ำฝนรดหัวข้าเถิด” โดยท่องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเสร็จพิธีและในระหว่างที่เวียนรอบหมู่บ้านทุกคนที่เข้าร่วมขบวนแห่จะต้องไม่ดื่มน้ำจนกว่าจะเสร็จพิธีถือเป็นข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อแสดงถึงความอดทนอดกลั้นและความพยายามเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เห็นใจในความตั้งใจจริงของทุกคน
  5. ในระหว่างที่เดินผ่านไปแต่ละบ้านจะมีชาวบ้านนำข้าวสาร มะพร้าว น้ำดื่ม เงิน ฯลฯ มาบริจาคตามแต่กำลังศรัทธา เพื่อใช้เป็นกองกลางสำหรับหุงข้าวมันเลี้ยงเพื่อนบ้านที่มาร่วมเดินขบวนแห่เมื่อตอนที่ทำพิธีเสร็จแล้ว
  6. เมื่อเดินรอบหมู่บ้านจนครบทุกบ้านแล้วก็จะย้อนกลับไปที่ศาลพ่อขุนด่าน (ปู่ดำ) หรือศาลตาเพชรแล้วนำไม้ตาเพชรเก็บไว้ที่ศาลพ่อขุนด่านตามเดิน
  7. หลังจากเสร็จพิธีชาวบ้านจะช่วยกันหุง “ข้าวมัน” เพื่อใช้เลี้ยงผู้เข้าร่วมขบวนแห่ทุกคน

“ข้าวมัน” เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวบ้านหนองกระจันทร์ มีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาลทราย และเกลือ และมีขั้นตอนในการทำแบบง่ายๆ ดังนี้

  • นำข้าวเจ้ามาซาวในน้ำสะอาดแล้วใส่หม้อเตรียมหุง
  • นำกะทิที่ผสมเกลือและน้ำตาลแล้วเทใส่ลงในหม้อแล้วตั้งไฟให้ร้อน
  • ระหว่างที่ตั้งไฟให้ร้อนใช้ไฟอ่อนๆ แล้วใช้ไม้พายกวนข้าวไปเรื่อยๆ
  • กวนข้าวไปจนกว่าจะสุก (ใช้เวลาประมาณ 20 นาที) โดยสังเกตจากเมื่อข้าวสุกกะทิจะแห้งพอดี
  1. ชาวบ้านร่วมรับประทานข้าวมันและเครื่องดื่ม แล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน

แหล่งอ้างอิง

ราตรี แจ่มนิยม และอเนก อัครบัณฑิต. (2553). รายงานการวิจัยวัฒนธรรมข้าว:วัฒนธรรมสร้างชุมชนในจังหวัดกาญจนบุรี. กาญจนบุรี: มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *