บ้านทิไล่ป้า ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

ประวัติความเป็นมา

บ้านทิไล่ป้า หมู่ที่ ๕ ตำบลไล่โว่  เป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตั้งบ้านเรือนมานานกว่า ๑๖๐ ปี เช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆ ชื่อหมู่บ้าน “ทิไล่ป้า” หมายถึงห้วยแผ่นหิน  เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ผู้คนในชุมชนเป็นเครือญาติผูกพันกันมาแต่โบราณ มีการพึ่งอาศัยกัน เป็นอยู่อย่างสงบสุข ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก  หมู่บ้านตั้งอยู่จากตัวอำเภอประมาณ ๕๕  กิโลเมตร จากตัวอำเภอสังขละบุรี หากเดินเท้าใช้เวลามากกว่า ๑๔ ชั่วโมง เดินผ่านบ้านสะเนพ่อง บ้านเกาะสะเดิ่ง ฤดูฝนยานพาหนะไม่สามารถเข้าได้ ต้องเดินเท้าอย่างเดียว  อาณาเขตหมู่บ้าน ทิศเหนือติดต่อกับป่ามติ ครม. ทิศตะวันออกติดต่อกับบ้านจะแกและป่าทุ่งใหญ่ ทิศใต้ติดกับบ้านเกาะสะเดิ่ง ทิศตะวันตกติดกับประเทศเมียนม่าร์

ลักษณะภูมิประเทศ

หมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก มีลำน้ำแม่กษัตริย์ เป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงชุมชน ที่ไหลคดเคี้ยวไปมาตามหุบเขา อากาศที่เย็นชื้น ท่ามกลางป่าไม้นานาพันธุ์ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๒๐,๒๐๐ ไร่  ภูมิอากาศ เป็นเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆ ในตำบล คือมี ๓  ฤดู ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงปลายเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงปลายเดือนตุลาคม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์

 ระบบสาธารณูปโภค

ปัจจุบันการติดต่อกับภายนอกกรณีที่เดือดร้อนต้องใช้บริการหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนการให้บริการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) จำนวน ๒ หมายเลข ปัจจุบันยังใช้ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียม ระบบประปาใช้น้ำประปาภูเขา และแหล่งน้ำตามธรรมชาติในลำน้ำแม่กษัตริย์ ซึ่งหน้าแล้งเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคเกษตร

สถานที่ท่องเที่ยว

ลำน้ำแม่กษัตริย์  บรรยากาศที่เย็นสดชื่น ท่ามกลางป่าไม้นานาพันธุ์ มีสายหมอกยามเช้าคอยต้อนรับผู้มาเยือน พร้อมกับรอยยิ้มที่อบอุ่นของชาวบ้านทุกฤดูกาล

ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน

จำนวนประชากร หญิง ชาย แยกตามอายุ (วัยแรงงาน วัยการศึกษา วัยเด็ก วัยชรา) จำนวนครัวเรือน  ๗๘  ครัวเรือน (ข้อมูลเฉพาะ ทร.๑๔)

ช่วงอายุประชากร จำนวนเพศชาย(คน) จำนวนเพศหญิง(คน) จำนวนรวม(คน)
น้อยกว่า ๑ ปีเต็ม ๑๘ ๒๖
ตั้งแต่ ๑ ปีเต็ม –  ๒ ปี ๑๒ ๒๐
ตั้งแต่ ๓ ปีเต็ม – ๕ ปี ๑๒ ๑๐ ๒๒
ตั้งแต่ ๖ ปีเต็ม –  ๑๑ ปี ๒๑ ๒๙ ๕๐
ตั้งแต่ ๑๒ ปีเต็ม – ๑๔ ปี ๑๑ ๒๔ ๓๕
ตั้งแต่  ๑๕ ปีเต็ม – ๑๗ ปี ๑๖
ตั้งแต่ ๑๘ ปีเต็ม – ๔๗ ปี ๗๘ ๕๕ ๑๓๓
ตั้งแต่ ๕๐ ปีเต็ม – ๖๐ ปีเต็ม ๑๔
มากกว่า ๖๐ ปีเต็มขึ้นไป ๑๑ ๑๘
รวมทั้งหมด ๑๖๔ ๑๗๐ ๓๓๔

ที่มา :  องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ ปี ๒๕๕๕

 

ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

มีภูมิปัญญาพื้นบ้านหลากหลาย มีปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้เชี่ยวชาญที่เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน เป็นผู้อาวุโสด้านต่างๆ หลายด้าน เช่น การใช้สมุนไพรรักษาโรค การจักสานวัสดุเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  การดนตรีประจำเผ่า เช่น การรำตง  การทอผ้ากะเหรี่ยง  การตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง  การสืบสานภาษาถิ่น การแต่งกายพื้นบ้านเช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาศรมภูมิปัญญาผู้อาวุโส ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ศาสตร์การเมือง การปกครอง ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิต การทำมาหากินของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ชาวบ้านผู้สนใจใฝ่รู้สามารถมาเรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนได้ตลอดเวลา  เป็นพื้นที่ถกเถียง วิพากษณ์วิจารณ์เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์  สังคมและวัฒนธรรมทั่วไป จนดูเหมือนว่า ที่นี้เป็นวิทยาลัยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่และพื้นที่ทั่วไป รงมทั้งเป็นที่สนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนภายนอกชุมชนที่สนใจด้วย

ลักษณะสังคมและวัฒนธรรม

สภาพความเป็นอยู่ ผู้คนมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ประกอบอาชีพการเกษตรเพื่อยังชีพ บนรากฐานภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีปัจจัยจำเป็นขั้นพื้นฐานพอเพียง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความรักความอบอุ่นความเข้มแข็งในครอบครัว และชุมชน
มีอัตลักษณ์ของกลุ่มที่ชัดเจน มีชีวิตเรียบง่าย

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผสมผสานกับความเชื่อพื้นบ้าน  มีพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม เช่น งานแต่ง งานศพ มีสถานที่สำคัญทางศาสนา คือ สำนักสงฆ์ทิไล่ป้าและโบสถ์คริสต์ มีประเพณีสำคัญของหมู่บ้าน เช่น งานสงกรานต์ ประเพณีฟาดข้าว ทำบุญข้าวใหม่  ผูกข้อมือเดือนเก้า ชาวบ้านในหมู่บ้านจะเข้าร่วมพิธีต่าง ๆ ทางประเพณีวัฒนธรรมอย่างพร้อมเพรียง

การปกครองหมู่บ้าน

เป็นไปตามระเบียบของราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามแบบแผนวัฒนธรรมของชุมชน โดยส่วนที่เป็นไปตามแบบแผนของราชการประกอบด้วย  ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. อาสาสมัครพัฒนาชุมชน (อช.) และ อสม. ประจำหมู่บ้าน  คณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับหมู่บ้าน (กพสม.)  คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน  คณะกรรมการกองทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต   คณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ และมีคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของหมู่บ้านเป็นต้นว่า  ฝ่ายพัฒนา มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพของชาวบ้านและพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ  ฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน  ฝ่ายปกครอง  มีหน้าที่เกี่ยวกับบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของชาวบ้าน  ฝ่ายสาธารณะ  มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การอนามัย การวางแผนครอบครัวและการสุขาภิบาล รักษาบ้านเรือน  ฝ่ายศึกษาและวัฒนธรรม  มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา การลูกเสือ และเยาวชน ตลอดจนกิจกรรมทางศาสนาวัฒนธรรม การกีฬาและการพักผ่อนหย่อน ฝ่ายคลัง  มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของหมู่บ้าน ฝ่ายสวัสดิการและสังคม มีหน้าที่เกี่ยวกับสวัสดิ์การ  ให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ราษฎรผู้ยากไร้ ฝ่ายเยาวชน มีหน้าที่เกี่ยวกับงานพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในด้านการดำรงชีวิตในสังคมและด้านการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของจริยธรรม  ฝ่ายกิจการสตรี มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาหมู่บ้าน

ส่วนการปกครองหมู่บ้านที่เป็นไปตามแบบแผนวัฒนธรรมของชุมชน ยังคงอาศัยระบบอาวุโสสร้างการมีส่วนร่วมในการอยู่ร่วมกันของชุมชนตามแบบอย่างวัฒนธรรมชุมชนที่เคยเป็นมาแต่อดีต ผู้คนในชุมชนยังคงเคารพผู้อาวุโส ยกย่องผู้อาวุโสเป็นผู้นำ ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามแบบแผน ที่ประชุมผู้อาวุโส คือ พื้นที่ชี้ผิดชอบชั่วดีของคนในชุมชนที่คนในชุมชนยังคงยอมรับทั่วกัน

การศึกษา 

เด็กและเยาวชนอายุ  ๖- ๑๕ ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ ส่วนคนอายุ ๑๕ – ๖๐ ปี บางคนรู้หนังสือไทย เขียนชื่อตัวเองได้  อ่านภาษาไทยได้บ้าง บางคนอ่านเขียนภาษากะเหรี่ยงได้ บางคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ทั้งสองภาษา

สุขภาพโดยทั่วไป

ไม่มีเด็กอายุต่ำกว่า  ๑  ปีเสียชีวิต  ไม่มีคนตายด้วยโรคระบาด ยามเจ็บป่วยเล็กน้อย นิยมใช้ยาสมุนไพร และรักษาตามอาการ มีเจ้าหน้าที่ อสม.บริการให้คำปรึกษา ไม่มีการเจ็บป่วยที่เนื่องจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารเสพติด อนึ่งในชุมชน มีผู้ด้อยโอกาสที่เป็นผู้สูงอายุ  ๑๙ คน ผู้พิการ จำนวน ๑ คน สตรีหม้าย  ๑๐ คน

การมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของชุมชน 

ปกติคนในชุมชนให้ความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยดี เว้นแต่ว่า กิจกรรมหรือนโยบายบางประการที่ชุมชนร่วมกันพิจารณาเห็นว่า ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย จึงบ่ายเบี่ยงการแสดงความเห็น โดยไม่แสดงออกโดยตรง ยังมีความเกรงใจ และให้เกียรติผู้มาเยือนเสมอ

ลักษณะเศรษฐกิจ 

เป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ ส่วนใหญ่ทำไร่หมุนเวียนเป็นหลัก ในไร่ปลูกพริก ยาสูบ แตง ถั่ว ฟักทอง น้ำเต้า เผือก มัน ข้าวโพด พืช ผักต่างๆ ที่ต้องใช้บริโภคในครัวเรือน รวมทั้งการเลี้ยงวัว ควาย บางครอบครัวยังคงเลี้ยงช้าง  การทำการเกษตรมุ่งเพื่อบริโกคในครัวเรือนเป็นหลัก หากเหลือจึงแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนกันภายในหมู่บ้าน พื้นที่ในหมู่บ้านมีการปลูกหมาก มะพร้าว ผลไม้ต่างๆ เช่น เงาะ ทุเรียน กล้วย ผลหมากเมื่อเหลือบริโภคจะมีพ่อค้ามาซื้อไปขายในประเทศพม่า ผลผลิตที่ทำรายได้เป็นเงินทองแก่ครอบครัวบางส่วน เช่น ข้าวซ้อมมือ วัว ควาย  ผ้าทอ พริก และหมาก งานทักษะฝีมือที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ การทอผ้าพื้นเมือง การจักสานภาชนะใช้ในครัวเรือน หากนำเกณฑ์ตัวชี้วัดรายได้ที่เป็นเงินมาพิจารณาแล้ว จะเป็นชุมชนที่มีฐานะยากจน

 สถานการณ์ชุมชน  

เวทีประชาคมหมู่บ้าน ประกอบด้วยผู้นำชุมชน ผู้อาวุโส เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ของหมู่บ้าน พร้อมสาเหตุและแนวทางแก้ไข โดยที่ประชุมสรุปว่า สถานการณ์หมู่บ้านด้านต่างๆ เป็นดังนี้

สถานการณ์ด้านความยากจน

ไม่มีรายได้เป็นเงินทอง แต่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี อาจจะมาจากสาเหตุหลากหลาย เช่น ขาดการอบรมเสริมสร้างความรู้ในการประกอบอาชีพ การผลผลิตเพื่อขายไม่ใช่นิสัยวัฒนธรรมชุมชน การเข้ามาของสินค้าที่ต้องใช้เงินทองซื้อ ฯลฯ และลงความเห็นว่าสมควรสำรวจแนวเขตที่ดินทำกินในหมู่บ้าน จัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการออมและการลงทุน จัดตั้งร้านค้าชุมชน ธนาคารข้าว ส่งเสริมความรู้การประกอบอาชีพ ส่งเสริมชาวบ้านใช้หลักธรรมพัฒนาจิตใจ รณรงค์ให้ความรู้เรื่องสุขภาพ จัดทำบัญชีครัวเรือน และขอการส่งเสริมงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สถานการณ์ด้านการศึกษา

คนชุมชนได้รับการศึกษาในระบบน้อย น่าจะมาจากลักษณะพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกล มีแหล่งเรียนรู้น้อย ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในการศึกษาขององค์กร เส้นทางคมนาคมไม่สะดวก ระยะทางไกล ผู้ปกครองมีรายได้น้อย การโภชนาการไม่ดี ด้วยขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องสุขภาพ  สมควรระดมทรัพยากรจากภายนอกเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ และจัดการศึกษาที่มีชุมชนเป็นแกนกลาง รวมทั้งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอสนับสนุนงบประมาณ

สถานการณ์ด้านสุขภาพ

สืบเนื่องมาจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ และขาดหลักโภชนาการที่ดี เด็กขาดสารอาหารที่บำรุงสมองให้เจริญเติบโต มีพลังในการเรียนรู้ สมควรมีการจัดการสุขภิบาลให้ถูกต้อง ควรให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยต่างๆ รวมทั้งภาวะโภชนาการที่ดี  ผู้นำชุมชนควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ ป้องกันแลพัฒนาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทิ้งขยะจากเมืองไม่เป็นที่ ทำให้ดูสกปรกรกรุงรัง ทำลายระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะบุคคลภายนอกที่เข้ามาเที่ยวในหมู่บ้าน ทิ้งสิ่งปฏิกูล ขยะต่างๆไว้อย่างไม่รับผิดชอบ ชุมชนควรพัฒนาระบบการกำจัดขยะให้ถูกต้องและทำต่อเนื่องรวมทั้งให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามกติกาของหมู่บ้าน กำหนดกติกาการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน ป้องกันการพังทลายของดินควรปลูกป่าทดแทน ปลูกหญ้าแฝกริมตลิ่งน้ำ และช่วยกันดูแลรักษา

สถานการณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการนำวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาเผยแพร่ ทำให้เด็กและเยาวชนเลียนแบบหรือเอาอย่าง ไม่ใส่ใจวัฒนธรรมพื้นบ้านตนเอง ชาวบ้านไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและขาดผู้สืบทอดจากบรรพบุรุษ

การพัฒนาหมู่บ้าน

ได้ดำเนินการมาเป็นระยะๆ  ในปี ๒๕๕๑ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โครงการส่งเสริมโรงสีข้าว โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลา แก่ชาวบ้าน แต่โครงการเหล่านี้ ไม่ยั่งยืน เมื่อหมดงบประมาณ ทุกอย่างก็หยุดลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันทำแผนพัฒนาหมู่บ้านในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมา ได้กำหนดโครงการ/กิจกรรมไว้หลายประการ เป็นต้นว่า โครงการทำนาแบบผสม โครงการปลูกพืชแบบเศรษฐกิจพอเพียงโครงการจัดซื้อเครื่องสีข้าว โครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านโครงการจัดตั้งรับซื้อพริกกะเหรี่ยง โครงการจัดซื้อเครื่องปั่นไฟฟ้าโครงการจัดซื้อไก่ไข่โครงการกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านโครงการพลังน้ำธรรมชาติโครงการส่งเสริมสุขภาพในชุมชนโครงการรณรงค์ป้องกันโรคและการวางแผนครอบครัวโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโครงการกำจัดขยะโครงการส่งเสริมอนุรักษ์สมุนไพรโครงการพัฒนาทักษะชีวิตตามเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น และกำหนดทิศทางการพัฒนาหมู่บ้านตามศักยภาพความพร้อมของหมู่บ้านในระยะเวลา  ๕  ปี  ไว้ว่า  “บ้านทิไล่ป้าต้องเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการส่งเสริมการกักเก็บและกระจายน้ำเพื่อการเกษตรให้เพียงพอ ฟื้นฟูคุณภาพดินเพื่อการเกษตร เพิ่มพูนความรู้ ทักษะในการประกอบอาชีพที่ทันสมัยและสามารถช่วยต้นทุนการผลิต  จัดตั้งกลุ่มเกษตรกร สร้างจิตสมนึกในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของประชาชน” โดยกำหนดกระบวนการไว้ว่า “ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนโดยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิต ส่งเสริมการออมทรัพย์ โดยการทำบัญชีรายรับ- รายจ่าย ส่งเสริมครอบครัวตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียง โดยการส่งเสริมการประกอบอาชีพเกษตรผสมผสาน ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

กลุ่มผู้อาวุโสในหมู่บ้านใด้ให้ทัศนะว่า “๕ ปีผ่านไป โครงการต่างๆ ยังไม่เป็นรูปธรรม โครงการบางอย่างนำมาใช้เพียงเพื่อให้เกิดขึ้น ส่วนจะตั้งอยู่ได้หรือไม่ ไม่มีกระบวนการใดๆ ติดตามประเมินผล ชุมชนทิไล่ป้าจึงยังคงเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของชุมชนเอง ส่วนใหญ่ยังคงมีไร่หมุนเวียนเป็นแกนในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในครอบครัว ส่วนผู้ที่มีทุนเพียงพอ สามารถเสริมสร้างรายได้จากอาชีพอื่นๆ ได้บ้าง เช่น การค้าขาย การปลูกพืชเพื่อขาย หรือการรับซื้อสินค้ารายย่อย เพื่อนำออกไปขายในเมืองสังขละบุรี ด้านการศึกษาก็ยังคงใช้หลักสูตรที่เนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับชุมชนไม่มากนัก เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวของเมืองมากกว่าของชุมชนตนเอง  หนทางที่จะนำวิกฤตมาสู่ชุมชนจึงยังคงเป็นสิ่งที่น่ากลัวเหมือนเดิม”

 

แหล่งอ้างอิง

คณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตำบลไล่โว่.  (2558). โครงการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเสริมพลังการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลไล่โว่ และตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *