“ปากแพรก” กาญจนบุรี

นอกจากชีวิตการค้าขายที่เป็นวิถีชีวิตในการสร้างรายได้ในหมู่ชาวจีน และชาติพันธุ์อื่นๆ เขามีวิธีการทำมาหากินกันอย่างไร

ในบทความเรื่อง “ปากแพร” ซึ่งตีพิมพ์ในอนุสาร อ.ส.ท. พ.ศ. 2513 บรรยายภาพการทำมาหากินในย่านปากแพรกยามรุ่งอรุณเอาไว้ดังนี้

“ทุกๆ เช้า ประมาณ 08.00 นาฬิกา จะมีเรือบรรทุกสินค้านานาชนิดและผู้คนมาจากแควน้อยและแควใหญ่มาขึ้น ณ ท่าหน้าเมือง สินค้าส่วนมากเป็นสินค้าพื้นเมืองจำพวกผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะม่วง ฟักทอง มะนาว และไม้ไผ่ จึงทำให้ดูสับสนและวุ่นวาย แต่ถ้าเป็นยามพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้าบริเวณนี้จะเป็นที่รวมแห่งความงามอย่างบอกไม่ถูก ตั้งแต่ลำน้ำอันสงบนิ่งหาดทรายเวิ้งวาง มีเรือนแพเรียงราย อยู่เป็นระยะๆ มีทิวเขาซับซ้อนเป็นฉากหลัง มองแล้วเหมือนกับภาพวาดที่จิตรกรบรรจงวาด…”

          ในลำน้ำแควน้อย – แควใหญ่ ยามเช้าจะมีชาวมอญล่องเรือสินค้ามาขาย จำอำเภอไทรโยค ทองผาภูมิ

ทรัพย์ในดินสินค้าเกษตรกรรมอันนำรายได้มาให้ชุมชน

          “…ทั้งสองข้างทางเห็นบ้านกั้นด้วยรั้วไม้รวกสูงๆ ขายของอยู่ในเรือน มีเจ๊ก มีญวนบ่อยๆ สิ่งที่ขายนั้นเห็นมียาสูบแหละเป็นอย่างมากกว่าสิ่งอื่น…” บทพระราชนิพนธ์ เสด็จประพาสไทรโยค ปีฉลู จ.ศ. 1239 (พ.ศ. 2420)

          การค้ายาสูบของกลุ่มพ่อค้าวานิช

          พ่อค้ายาสูบแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ พ่อค้ายาสูบในท้องถิ่น พ่อค้ายาสูบเรือล่องและพ่อค้ายาสูบในกรุงเทพฯ พ่อค้ายาสูบในท้องถิ่น เป็นนายทุนชาวจีนหรือชาวญวน ที่ตั้งร้านค้าอยู่ตามตลาดสดเพื่อรับซื้อยาสูบจากชาวไร่มาจำหน่าย พ่อค้ายาสูบเรือล่อง (พ่อค้าเรือยา) รับซื้อยาสูบมาจากพ่อค้ายาสูบในท้องถิ่น เมื่อได้ยาสูบเรือล่อง เพื่อนำมาจัดจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกนอกประเทศ พ่อค้ายาสูบในกรุงเทพฯ เป็นชาวจีนทั้งหมด

          บทความเรื่อง “ปากแพรก” ซึ่งตีพิมพ์ในอนุสาร อ.ส.ท. พ.ศ. 2513 บรรยายภาพของยาสูบปากแพรกที่มีขายตามท้องตลาดเมืองกาญจนบุรีมีทั้งยาฉุนและชนิดที่ใช้กินกับหมาก เรียกว่า ยาตั้งเพราะตั้งซ้อนกันเป็นพับๆ โดยใช้กระดาษพัน มีทั้งที่เป็นยาฉุนและชนิดที่เก็บใบยาที่ 3 แล้ว เรียกว่า ยาจืด ราคาพับละประมาณ 8 บาท ส่วนมากจะมีสีออกแดง เพราะย้อมสี ส่วนที่เป็นยาสูบก็มีเป็นมวนๆ เช่น ยาสูบตราแมวและตราไก่

          ในบทความเรื่องนี้ ระบุว่า ยาสูบ เป็นสินค้าอันเลื่องชื่อลือชาของชาวปากแพรก ยาสูบที่มีคุณภาพดีจะมีรสฉุนและมีกลิ่นหอม ในสมัยก่อนที่จะมีการตั้งบ้านเรือนหักร้างถางพงในบริเวณซึ่งเป็นปากแพรก มีชาวจีนกลุ่มหนึ่งซึ่งมาบุกเบิกการปลูกยาสูบ บทความได้อ้างถึงการปลูกยาสูบจากหนังสือเสด็จประพาสไทรโยค อันเป็นพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ความว่า

“สินค้าอันเป็นของสำคัญ ราษฎรได้ทำไร่อยู่นั้น ยาสูบเป็นอันมาก เป็นที่สองของเมืองเพชรบูรณ์ ให้สืบดูวิธีทำไร่ยาในเมืองนี้ เดือนหกลงมือพรวนดินเอาแกลบโรย เมล็ดยาโปรย เหมือนหนึ่งตกกล้า ต้องรดน้ำทุกวัน กำหนดเดือนหนึ่งจึงจะเอาต้นยาไปปลูกที่อื่นอีก พรวนดินครบ 3 ครั้ง แล้วจึงตอนยาไปปลูกใหม่ได้ 20 วัน จึงเด็ดยอดอีก 15 วัน ลิดแขนง แล้วต่อไปอีก 7 วัน ลิดแขนงอีก 7 ครั้ง ปลูกยามาได้ 3 เดือนกับ 10 วัน จึงหักใบริมดินมาบ่มไว้ 3 วัน ลิดแขนงและฉีกก้านออกเสีย ม่วนแต่ใบวางลงบนม้าหั่นลงแผง ผึ่งแดดผึ่งน้ำค้างไว้ 3 วัน 3 คืน และตัดเป็นอันๆ 5 อันซ้อนกัน นับเป็นตั้งหนึ่งถ้ายาลังใหญ่ลังหนึ่ง เป็นยา 3,150 อัน 630 ตั้ง แล้วก็หักใบยาขึ้นไปถึงกลางต้นและยอด ถ้ายาใบริมดินเป็นยาไม่ดี สูบไม่ได้ น้ำหนักลังละ 14 ชั่งจีนราคาลังหนึ่งเพียงกึ่งตำลึง ถ้าเป็นยากกลางต้นสูบได้ แต่ไม่สู่ดี น้ำหนักลังละ 15 ชั่งจีน ราคาลังละ 3 บาท 2 สลึง ถ้าหักขึ้นไปถึงยอดยาๆ นั้นเป็นอย่างดี น้ำหนักลังละ 17 ชั่งจีน ราคาลังละ 2 สลึง แต่ยาที่เป็นอย่างดีทีเดียวว่า เก็บใบยอดเฉพาะ มีต้นละใบ..”

ยาสูบยังมีประโยชน์ในฐานะสมุนไพรใช้ป้องกันแมลงศัตรูพืช โดยนำไปแช่น้ำใช้รดต้นพริกไทยเพื่อป้องกันเพลี้ย ชาวสวนพริกไทยในจันทบุรี เคยสั่งซื้อยาสูบจากเมืองกาญจนบุรีไปเพื่อการนี้

ยาฉุนทั้งชนิดที่เป็นม้วนและเป็นตั้งนั้น ย่อมปรากฏชื่อเสียงมาแต่กาลนานว่า ยาเกาะกร่างและยาปากแพรก เป็นชนิดที่ดีมีชื่อเสียงนิยมใช้กันทั่วไป ทั้งนี้เพราะมีจำนวนที่ได้ทำออกจำหน่ายแพร่หลายไปทั่วพระราชอาณาจักรมาเป็นเวลานาน

การปลูกยาสูบนิยมทำมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีการเรียนเก็บภาษียาสูบเป็นครั้งแรกในหนังสือ เล่าเรื่องกรุงสยาม เขียนโดย พระสังฆราชณัง – บัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ผู้เดินทางมาสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2373 บันทึกไว้ว่า

“คนจีนทำไรยาสูบ มันหูเสือและมันเทศ ราษฎรทำนา ล่าสัตว์ และการประมง ทำได้ ต่อเรือ ตัดไม้ไผ่ และไม้อื่นๆ ผูกเป็นแพ แล้วล่องไปตามลำแม่น้ำในฤดูน้ำหลาก…”

สินในน้ำการทำประมงพื้นบ้านในย่านปากแพรก

          ผู้ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน ด้านการพาณิชยกรรม การเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและชาวญวนที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานหลังถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่ครั้งสงครามอานามสมยามในสมัยรัชกาลที่ 3

          ชาวญวณมีความเชี่ยวชาญในการหาปลาและจับจระเข้ ลำน้ำแควน้อยในสมัยนั้น เต็มไปด้วยปลาหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลากะพาก ปลาอ้ายเบี้ยว ปลายสายยู ปลาสังกะวาด

ชาวญวนหาปลาด้วยเครื่องจักสานสำหรับทำการประมงพื้นบ้าน เช่น ลากกระจาน ดักตะคัด ทอดพุ่ม วางชนาง ตีอวน ล้อมก่ำ การหาปลาแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้

ลากกระจาน ใช้สายป่านผูกคันเบ็ดแล้วลากทวนน้ำ โดยนำตะกั่วมาทำให้มีลักษณะคล้ายลูกปลา จากนั้นน้ำลูกปลาตะกั่วไปเกี่ยวเบ็ดแทนเหยื่อ เมื่อปลาใหญ่ผ่านมาก็จะเข้าใจว่า ตะกั่วเป็นลูกปลาและมาติดเบ็ด

ดักตะคัด วางตาข่ายขึงขวางทางน้ำให้ปลามาติด

ทอดพุ่ม นำไม้หลักไปปักในน้ำ แล้วนำรังมดแดงหรือเนื้อย่าง มัดติดกับไม้หลัก ล่อให้ปลามากินเหยื่อ เพื่อจะทอดแห

วางชนาง ชนางทำด้วยไม้สาน ลักษณะคล้ายปุ้งกี๋ มีด้ามสำหรับลาก ใช้ดักปลาริมตลิ่ง

ตีอวน นำอวนบรรทุกเรือพายไปเสาะหาพุ่มไม้ริมน้ำ ที่ปลาน่าจะเข้ามาอาศัย นำอวนไปล้อมพุ่มไม้ไว้ล้อมก่ำ หาทำเลที่น้ำไหลไม่แรง ตัดกิ่งมาสุมไว้ตั้งแต่ชายตลิ่งลงไป เมื่อใบไม้เน่าจะเกิดไรน้ำซึ่งเป็นเหยื่อปลาทิ้งไว้รอให้ปลาใหญ่เข้ามากินปลาเล็ก จึงนำเอาอวนไปล้อมจับปลาใหญ่

สินค้าหัตถกรรม ทำรายได้เสริม

          เสื่อปากแพรกหรือเสื่อรวก ทำสืบๆ ต่อกันมาเป็นหมู่บ้านๆ เช่น บ้านใหม่ดอกรัก บ้านดอนกระต่าย บ้านริมน้ำใกล้วัดเหนือ เป็นต้น

เมื่อว่างจากการทำนา ใต้ถุนบ้านใช้สำหรับทอเมื่อรวก อุปกรณ์ในการทอเสื่อรวกมีไม้รวกที่หามาจากป่าหรือซื้อมา นำมาจักแบบจักตอกสานพัด เอาแต่เฉพาะส่วนผิว เวลาจะทอก็ใช้ไม้รวกที่จักแล้วนี้เรียงเป็นแถว แล้วใช้ต้นแสลงพัน ซึ่งเป็นไม้เถาแบบปอกกระสา นำมาลอกและทำความสะอาด อย่างดี สอดไปมาแบบสานภาชนะ ถ้าทำให้มีลวดลายละเอียดสวยมากราคาก็ค่อนข้างสูง คือผืนละ 200 – 300 บาท ถ้าทอธรรมดาไม่ละเอียดสวยมากขายผืนละ 40 – 50 บาท ผู้ซื้อส่วนมากมักจะนำไปใช้ปูในห้องรับแขกหรือใช้แทนมูลี่กันฝน

แหล่งอ้างอิง

มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.

มณฑล คงแถวทอง. (2534). กาญจนบุรี เศรษฐกิจยาสูบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เอกสารในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรี” วันที่ 4 – 6 กันยายน 2534 ณ หอประชุมห้องสมุดวิทยาลัยครูกาญจนบุรี จัดโดย ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรีและศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูกาญจนบุรี.

ประสาน วะสี. (ม.ป.พ). ลุงเพ้ง คนบ้านเก่า กาญจนบุรี (รวมเรื่องสั้นชนบท) 20 เรื่อง 20 รส. ม.ป.ท.

โสมชยา ธนังกุล. (2563). ภูมิเมืองกาญจน์ ย่าน ปากแพรก. กรุงเทพฯ: ประยูรสาส์นไทย การพิมพ์.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *