ประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรีสมัยยุคหินเก่า

          จังหวัดกาญจนบุรีเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีต เป็นแหล่งที่มีมนุษย์เข่าอยู่อาศัยและตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน จากการค้นพบหลักฐานตามโบราณคดีที่สำคัญของชาวฮอลันดา ชื่อ ดร.แวน ฮิกเกอเรน ซึ่งเป็นเชลยศึกฝ่ายสมัยพันธมิตรที่ถูกญี่ปุ่นนำมาก่อสร้างทางรถไฟอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ได้พบเครื่องือหิน ที่ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยใกล้สถานีรถไฟบ้านเก่าห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 35 กิโลเมตร หลังสงครามเสร็จสิ้นแล้วได้นำเครื่องมือหินที่เก็บได้ไปตรวจสอบหาหลักฐานที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสหรัฐอเมริกาทำให้ทราบว่าส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือยุคหินเก่า และเรียกเครื่องมืออื่นที่พบนี้ว่าวัฒนธรรมแควน้อยโดยใช้ชื่อแหล่งที่พบตามลำน้ำแควน้อยที่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก (ปัจจุบันคือตำบลบ้านเก่า) จังหวัดกาญจนบุรีแต่เรียกเพี้ยนไปว่า เฟงน้อยหรือฟิงนอง  ซึ่งยุคหินเก่าเมืองกาญจนบุรีมีอายุประมาณ 50,000 – 10,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ในยุคนี้ใช้เครื่องมือหินกะเทาะทำโดยนำหินกรวดแม่น้ำมากะเทาะหยาบๆ ให้เกิดความคมสำหรับใช้หั่น ตัด เฉือน ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ป่าจับสัตว์น้ำและเก็บพืชผักที่ขึ้นตามธรรมชาติมาเป็นอาหารรู้จักใช้ไฟ อาศัยอยู่ตามถ้ำและเพิงผามีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เมื่อถิ่นที่อยู่มีอาหารร่อยหรอลงก็จะอพยพไปหาที่ใหม่ที่มีอาหารสมบูรณ์กว่า ยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานถาวรหลักฐานที่พบ ได้แก่ เครื่องมือหินกรวดกะเทาะหน้าเดียว กะเทาะหยาบ เครื่องเหล่านี้  ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 คณะสำรวจไทยเดนมาร์ก ได้ทำการสำรวจพบเครื่องมือหินเก่าพบในเขตตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง บริเวณทุ่งผักหวาน บ้านจันเด ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ บ้านท่ามะนาว ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอไทรโยค อำเภอศรีสวัสดิ์

     จากเครื่องมือนี้พอสรุปได้ว่า คนสมัยหินเก่าที่จังหวัดกาญจนบุรี น่าจะเป็นพวกมนุษย์วานรหรือพวกออสตราลอยด์ แต่ก็มีปัญหาว่าพวกนี้อพยพมาจากที่ใดเครื่องมือหินที่พบในจังหวัดกาญจนบุรีนี้ เป็นหินกะเทาะหน้าเดียวประเภทเครื่องขุดและสับตัด (Chopper-chopping tools) ยังไม่ปรากฏว่าได้พบโครงกระดูกของมนุษย์สมัยนี้เลย ผู้ที่สนใจและทำการสำรวจเรื่องราวของยุคหินเก่าในปัจจุบัน ก็มีคณะของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2524 ท่านได้พบเครื่องมือหินกรวดสมัย  หินเก่าตามริมแม่น้ำตามถ้ำของแม่น้ำแควน้อยใกล้ไทรโยคเป็นจำนวนมาก จากร่องรอยของมนุษย์สมัยหินเก่าที่จังหวัดกาญจนบุรีนี้ ยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง ซึ่งต้องพบหลักฐานมากกว่านี้แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ต้นแม่น้ำทั้งสองของจังหวัดกาญจนบุรี   คือ แม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ ได้ถูกน้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนเขาแหลมในปัจจุบัน

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *