ประวัติความเป็นมาอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2440 ปีสมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทรเป็นสมุหเทศาภิบาล พระสมุทรคณานุรักษ์ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดสุพรรณบุรี และมีนายชิตเป็นนายอำเภอบางปลาม้าคนแรก ที่มาของชื่อ “อำเภอบางปลาม้า”จากการสอบถามผู้อาวุโส และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ความว่า เดิมบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน ตั้งแต่ตอนใต้ตลาดเก้าห้องลงมาจนถึงค้งตาเพชร ตำบลวังตาเพชร เป็นลุ่มน้ำ น้ำในห้วยหนอง คลอง บึง ไหลมารวมกันในแม่น้ำ จึงเป็นบริเวณที่มีปลาชุกชุม โดยเฉพาะปลาม้ามีมากกว่าบริเวณอื่นๆ เมื่อกำหนดเขตสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้น พ.ศ. 2440 บริเวณดังกล่าวจึงให้ชื่อว่า”อำเภอบางปลาม้า” ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 ได้เกิดเพลิงไหม้ที่ว่าการอำเภอ (อาคารไม้หลังคามุงจาก)ประกอบกับที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ถูกน้ำกัดเซาะตลอดเวลา จึงได้ย้ายมาตั้งใหม่ที่ หมู่ที่ 5 ตำบลโคกคราม เมื่อปี พ.ศ. 2504 สมัยนายตอม พรหมายน นายอำเภอคนที่ 25 ส่วนชื่อก็ยังคงใช้ชื่อเดิม อำเภอบางปลาม้าจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อที่ 482.954 ตารางกิโลเมตร
วันที่ 1 เมษายน 2480 เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยโอนพื้นที่หมู่ 6 เฉพาะส่วนที่อยู่ฝั่งเหนือของคลองขุดพระยารักษ์ฯ ของตำบลจรเข้ใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ไปขึ้นกับ ตำบลดอนลาน อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 20 กันยายน 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลโคกคราม ในท้องที่บางส่วนของตำบลโคกคราม
วันที่ 20 มีนาคม 2505 จัดตั้งสุขาภิบาลบางปลาม้า ในท้องที่บางส่วนของตำบลบางปลาม้า
วันที่ 13 กันยายน 2509 จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านแหลม ในท้องที่บางส่วนของตำบลบ้านแหลม
วันที่ 30 ธันวาคม 2516 จัดตั้งสุขาภิบาลไผ่กองดิน ในท้องที่บางส่วนของตำบลไผ่กองดิน
วันที่ 14 กันยายน 2519 ตั้งตำบลวังน้ำเย็น แยกออกจากตำบลมะขามล้ม
วันที่ 11 เมษายน 2532 ตั้งตำบลวัดดาว แยกออกจากตำบลบ้านแหลม
วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลโคกคราม สุขาภิบาลบางปลาม้า สุขาภิบาล บ้านแหลม และสุขาภิบาลไผ่กองดิน เป็นเทศบาลตำบลโคกคราม เทศบาลตำบลบางปลาม้า เทศบาลตำบลบ้านแหลม และเทศบาลตำบลไผ่กองดิน ตามลำดับ
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอบางปลาม้ามีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองสุพรรณบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอผักไห่และอำเภอบางซ้าย (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสองพี่น้อง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภออู่ทอง
สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอบางปลาม้า
ตลาดเก้าห้อง 100 ปี
ตลาดเก่าริมแม่น้ำ รูปแบบที่กำลังสูญหาย หรือคงอยู่ เรือนไม้ปลูกติดต่อกัน เรียงเป็นแถวยาว เรือนที่ในอดีตใช้เป็นที่ค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้า สถานที่ค้าขายของชุมชนไทย-จีน วันเวลาผ่านกว่า 100 ปี หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป เรือนไม้เริ่มผุพัง ชีวิตต้องการความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น วิถีชีวิตในบ้านไม้หลังเก่า เริ่มเลือนหายไป… วันนี้ …รูปแบบและวิถีชีวิตเหล่านั้น มีโอกาสที่จะย้อนกลับมา จะด้วยกระแส หรือความรู้สึกที่เรียกร้องวันเวลาเก่าๆก็ตามที แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะได้รับ…. คือบันทึกของประวัติศาสตร์ เป็นบันทึกที่มีชีวิต เต็มไปด้วยเรื่องราว สีสัน และฉากหลังที่สวยงาม และจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ที่เราทุกคนช่วยกันสร้างขึ้น
ตลาดเก้าห้อง เป็นตลาดห้องแถวเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน อายุประมาณ 100 ปี สร้างประมาณต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันตั้งอยู่ ในเขตเทศบาลตำบล บางปลาม้า หมู่ที่ 2 ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี จากเอกสารที่มีผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติตลาดเก้าห้อง และจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ
คำว่า ”ตลาดเก้าห้อง” น่าจะนำมาจากชื่อของบ้านเก้าห้อง ซึ่งเป็นบ้านโบราณมีประวัติสืบทอดมายาวนาน ตลาดเก้าห้องเล่ากันว่าสร้างขึ้นโดยชาวจีนคนหนึ่งชื่อ “นายฮง“ อพยพมาจากกรุงเทพฯ มาทำมา ค้าขายอยู่บริเวณละแวกบ้านเก้าห้อง กิจการค้ารุ่งเรืองดี ในราว พ.ศ. 2424 ได้แต่งงานกับ “นางแพ” ซึ่งเป็นหลานสาวของขุนกำแหงฤทธิ์แห่งบ้านเก้าห้อง และได้ประกอบอาชีพค้าขายที่แพซึ่งสร้างขึ้นไว้ 1 หลัง จอดอยู่ริมน้ำหน้าบ้านเก้าห้อง ซึ่งในสมัยก่อนเป็นย่านค้าขายที่มีเรือนแพขายของสองฝั่งแม่น้ำ นายฮง หรือที่ชาวบ้านมักนิยมเรียกว่า “เจ๊ก-รอด” ทำการค้าขายสินค้าทุกประเภทโดยเฉพาะเครื่องบวช เครื่องมืออุปกรณ์ทำนาและเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลายจนร่ำรวยและรู้จักกันในนามต่อมาว่า “นายบุญรอด เหลียงพานิช”
หอดูโจร ในตลาดเก้าห้อง เป็นหอที่ก่ออิฐถือปูนกว้าง 3×3 เมตร สูงราว 4 ตึก 4 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477 ชั้นบนเป็นดาดฟ้า แต่ละชั้นฝาผนังเจาะรูโตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว เมื่อขึ้นไปบนยอดสุดจะมองเห็นทัศนียภาพ ทั้งทางบกและทางน้ำของตลาดเก้าห้องได้ทั้งหมด เหตุที่สร้างป้อมขึ้นมาเพราะในระยะนั้นพวกโจรหรือที่เรียกว่า “เสือ” หลายคนออกปล้นฆ่าตามริมน้ำท่าจีนเสมอ จึงได้สร้างป้อมไว้สังเกตการณ์และมีการเตรียมการป้องกันการปล้นสะดมของเสือทั้งหลายด้วย ถ้าเสือมาคนจะขึ้นไปประจำอยู่ในป้อมตามชั้นต่างๆเอาปืนส่องยิงตามรูทั้ง 4 ด้านของป้อม เพื่อต่อสู้กับเสือที่มาปล้น ลักษณะของบ้านที่เรียกว่า “บ้านเก้าห้อง” บ้านเก้าห้องของขุนกำแหงในส่วนที่เป็นบริเวณเรือนหลักดั้งเดิมซึ่งยังคงลักษณะเดิมอยู่ในปัจจุบัน เป็นบ้านแบบเรือนไทยไม้สักหลังคาทรงจั่วปั้นหยา ใต้ถุนสูง ขนาดกว้างรวม 7.75 เมตร (ส่วนกว้างนี้แบ่งเป็น 2 ระดับๆ แรกกว้าง 5 เมตร เป็นส่วนภายในของเรือนสำหรับการพักอาศัย และระดับที่สองเป็นส่วนระเบียงของบ้านต่ำกว่าระดับแรกประมาณ 30 เซนติเมตรกว้างประมาณ 2.75 เมตร) และยาว 20.50 เมตร โดยความยาวของบ้านขนานกับแม่น้ำท่าจีน และหันหน้าบ้านไปทางแม่น้ำ แนวความยาวของบ้านมีเสาบ้านเรียงอยู่ 10 แถว ซึ่งแนวเสา 2 แถวจะถือว่าเป็น 1 ช่องเสาหรือ 1 ห้อง (ห้องหนึ่งกว้างประมาณ 2.25 เมตร) ถ้ามีแนวเสา 4 แถว จะเรียกว่า บ้านมี 3 ช่องเสาหรือ 3 ห้อง ดังนั้น บ้านที่มีแนวเสา 10 แถว จึงเรียกว่าบ้านมี 9 ช่องเสา หรือบ้าน 9 ห้อง ดังนั้น บ้านเรือนไทยหลังที่ขุนกำแหงสร้างดังกล่าวมีเสา 10 แถว จะมี 9 ช่องเสา จึงเรียกชื่อว่า “บ้านเก้าห้อง” (ซึ่งไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีการปลูกสร้างบ้านเรือนที่มีความยาวลักษณะนี้ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ใดบ้าง) ด้วยเหตุผลข้างต้นน่าจะช่วยสร้างความเข้าใจได้ว่าที่เรียกว่า ”บ้านเก้าห้อง” นั้นมิใช่เพราะภายในบ้านมีการแบ่งเป็นห้องๆ ถึง 9 ห้องแต่ประการใด
อุทยานมัจฉา วัดป่าพฤกษ์
อุทยานมัจฉา วัดป่าพฤกษ์ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านแหลม ห่างจากจังหวัดประมาณ 17 กิโลเมตร บริเวณหน้าวัดมีฝูงปลาโดยเฉพาะ ปลายสวาย ปลานิล เป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถยืนชมและให้อาหารปลาได้อย่างใกล้ชิด บริเวณริมแม่น้ำซึ่งทางวัดก่อสร้างเป็นเขื่อนทางเท้าริมน้ำ ยาวประมาณ 100 เมตร เป็นอุทยานมัจฉา อีกแห่งหนึ่งของจังหวัด
แหล่งอ้างอิง
Cleversuphunburi.blogspot.com/2016/02/blog-post_8.html
www.welovesuphan.com/th/อำเภอบางปลาม้า/105-ตลาดเก้าห้อง-อ-บางปลาม้า.html