ประวัติอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

อู่ทองเมืองโบราณ ต้นกำเนิดประวัติศาสตร์ อารยธรรมสุวรรณภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สันนิษฐานได้ว่า เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวาราวดีและเป็นศูนย์กลางของดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก่อนจะหลอมรวมเป็นชาติไทยในปัจจุบัน

เมืองโบราณอู่ทองตั้งอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ริมลำน้ำจระเข้สามพัน ผังเมืองเป็นรูปวงรี ทอดตัวไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ มีขนาดความกว้างประมาณ 1 กิโลเมตร และยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีระดับความสูงของพื้นที่ตัวเมือง จากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 6 เมตร มีลักษณะเป็นรูปวงรีขนาด 1,850 x 820 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทิศตะวันตกเป็นเขารางกะปิด เขาคำเทียม และเขาพระ ทิศตะวันออกเป็นที่ราบกักเก็บน้ำ นอกเมืองมีแนวคันดินเป็นถนนโบราณเรียกว่า “ถนนท้าวอู่ทอง” และแนวคันดินรูปเกือกม้าเรียกว่า “คอกช้างดิน” คงจะเป็นเพนียดคล้องช้างโบราณหรือสระเก็บน้ำในศาสนาพราหมณ์

          จากการศึกษาทางโบราณคดีเท่าที่ผ่านมาทราบว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย 2,500 – 2,000 ปีโดยได้พบหลักฐานประเภทขวาน หินขัด ลูกปัด ภาชนะดินเผา เหล็กในสำหรับปั่นด้าย ขวานสำริด ฉมวก หอก และเครื่องมือเครื่องใช้โลหะอื่นๆ อีกมากมาย ชุมชนในสมัยนี้เป็นชุมชนในสังคมเกษตรกรรม เนื่องจากสภาพที่ตั้งชุมชนเป็นเขตที่ราบขั้นบันไดต่ำ และที่ราบลุ่มแม่น้ำ ทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ผลดี จนชุมชนตั้งหลักแหล่งได้อย่างถาวร ประกอบกับสามารถติดต่อกับชายฝั่งทะเลได้สะดวก จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชุมชนโบราณในบริเวณเมืองอู่ทองสามารถพัฒนาสภาพสังคมและเศรษฐกิจ จนขยายตัวเข้าสู่สังคมเมืองได้ ต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้พัฒนาตนเองไปสู่สังคมเมืองสมัยประวัติศาสตร์ในราวพุทธศตวรรษที่ 5 – 9 ทำการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป มีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่าร่วมสมัยกับเมืองออกแก้ว (ทางภาคใต้ของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ได้พบลูกปัดแก้ว เหรียญกษาปณ์ เหรียญโรมันสมัยจักรพรรดิวิกโตรีนุส เป็นต้น อู่ทองได้รับรูปแบบทางศาสนาและศิลปกรรมแบบอมราวดีจากอินเดีย ได้พบปฏิมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ 3 รูปอุ้มบาตร และพระพุทธรูปปั้นนาคปรกศิลปะแบบอมราวดี เป็นต้น ศาสตราจารย์ชอง บวสลีเย เชื่อว่าเมืองอู่ทองน่าจะเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงส่งพระสมณทูตเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ. 270 – 311 นายพอล วิตลีย์เชื่อว่า เมืองจินหลินตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง เป็นรัฐสุดท้ายที่พระเจ้าฟันมันแห่งอาณาจักรฟูนันปราบได้ในพุทธศตวรรษที่ 9

เมื่ออาณาจักรฟูนันสลายลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 รัฐทวารวดีได้เจริญขึ้นมาแทนที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและรุ่งเรืองสูงสุดในราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 โดยมีบันทึกของพระภิกษุเหี้ยนจังได้กล่าวถึงอาณาจักรโตโลโปตี้ (หมายถึง “ทวารวดี”) และได้พบเหรียญเงินจารึกว่า “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” เป็นการยืนยันการมีตัวตนของอาณาจักรทวารวดี โดยมีเมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ วัฒนธรรมทวารวดี ประชาชนนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นหลัก ใช้ภาษามอญ ยึดคติทางศาสนารูปแบบศิลปะคุปตะจากอินเดีย โบราณสถานโบราณวัตถุที่พบในเมืองอู่ทองเป็นศิลปกรรมในสมัยทวารวดี เช่น เศียรพระพุทธรูปทองคำ เจดีย์ พระพุทธรูปปางประทานธรรมจักร ในขณะเดียวกันศิลปะศรีวิชัยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานก็ได้เผยแพร่เข้ามา โดยได้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ

เมืองอู่ทองได้หมดความสำคัญและร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 16 จึงรอดพ้นจากอิทธิพลเขมรที่เข้ามามีอำนาจมากในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในรัชสมัยของกษัตริย์ขอมนักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยปรากฏเมืองโบราณสุพรรณบุรีเจริญขึ้นมาแทนที่

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็นมณฑล เมือง อำเภอ และตำบล อำเภออู่ทองจึงเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 โดยมีชื่อเมื่อแรกตั้งว่า อำเภอจระเข้สามพัน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 ตำบล ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า ท้องที่อำเภอจรเข้สามพันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่เรียกว่า “เมืองท้าวอู่ทอง” จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากหมู่บ้านจรเข้สามพันมาตั้ง ณ บริเวณเมืองโบราณท้าวอู่ทอง และให้เปลี่ยนชื่ออำเภอจรเข้สามพันเป็น อำเภออู่ทอง เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482

ในอดีตเมืองโบราณอู่ทองได้ปรากฏแนวป้อมก่อด้วยศิลาแลง แต่ปัจจุบันสิ้นสภาพและถูกไถปรับที่เป็นถนนหมดแล้ว ทางด้านตะวันออกของเมือง (บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออู่ทอง และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง) แต่เดิมเป็นแนวปราการ เช่นกัน ภายหลังแนวป้อมกำแพงที่ว่านี้ถูกรื้อทำลายออกไป เพื่อก่อสร้างถนนมาลัยแมน ปัจจุบันคูน้ำและกำแพงที่ว่านี้ถูกรื้อทำลาย และบุกรุกถมที่ดินจนตื้นเขินและขาดหายไปเป็นช่วงๆ ซึ่งจะเห็นแนวชัดเจนและมีน้ำขังตลอดปีเฉพาะด้านทิศตะวันออกเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์เป็นที่เก็บกักน้ำ สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค

ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองอู่ทอง ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร มีแนวสิ่งก่อสร้างด้วยดิน ที่น่าสนใจอีก 2 จุด คือ แนวคันดินเป็นทางยาวคดเคี้ยว เรียกกันว่า “ถนนท้าวอู่ทอง” ด้วยเหตุที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าเป็นถนนโบราณของเมืองแห่งนี้จุดหนึ่ง และกลุ่มแนวคันดินรูปโค้งเกือกม้าซึ่งตั้งอยู่ตามแนวเชิงเขาคอก ที่เรียกกันว่า “คอกช้างดิน” เพราะเชื่อกันว่าเป็นเพนียดดินสำหรับคล้องช้างในสมัยโบราณ โบราณสถานแห่งนี้ ฝ่ายวิชาการ สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการขุดศึกษาทางโบราณคดีแล้ว ผลการขุดชึ้ให้เห็นว่า บริเวณนี้เป็นเขตเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ไศวนิกาย ด้านตะวันออกซึ่งพื้นที่ลาดต่ำลงจนถึงแม่น้ำท่าจีน และต่อเนื่องไปจนถึงบริเวณซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีหลักฐานแสดงว่า เป็นทะเลมาก่อน ข้อมูลบนภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นแนวของแม่น้ำจระเข้สามพันไหลผ่านตัวเมืองอู่ทองไปทางเหนือ แล้วอ้อมมาทางตะวันออก ซึ่งมีร่องน้ำเปิดกว้างเป็นปากแม่น้ำซึ่งกำหนดให้เป็นแนวชายฝั่งทะเลเดิม ตรงส่วนที่บรรจบกับ คลองสองพี่น้อง ซึ่งต่อเชื่อมมาจากแม่น้ำท่าว้า นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นร่องรอยของคลองเก่าขุดขึ้นเป็นแนวตรงยาวประมาณ 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองอู่ทองจนถึงบริเวณวัดม่วงซึ่งคาดว่าจะเป็นชายฝั่ง หรืออาจเป็นร่องน้ำกว้างจากฝั่งทะเลลึกเข้ามาในแผ่นดิน ยังได้พบร่องรอยคลองอีก 2 แนว เชื่อมต่อจากแนวคลองแรกมาทางใต้จนถึงคลองบางบอน ซึ่งทำให้เชื่อว่าเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งทะเลมีผลทำให้มีการขุดคลองใหม่ลงมาทางใต้ เพื่อเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลและเมืองชายฝั่งทะเลถอยห่างออกไปมาก คลองเหล่านี้ก็เลิกใช้ไปในที่สุด

การศึกษาการต่อเชื่อมของลำน้ำจระเข้สามพัน และแนวคูคันดินที่บ้านดอนทองและบ้านจระเข้สามพัน คูคันดินดังกล่าว ปรากฏให้เห็นชัดบนถนนมาลัยแมน ร่องรอยที่ปรากฏให้เห็นบนภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานชัดเจนว่าคลองจระเข้สามพันนั้นแต่เดิมไหลผ่านมาทางเส้นทางที่ผ่านเมืองอู่ทอง แต่ต่อมาทางน้ำได้เปลี่ยนทางเดินลงมาทางใต้ตามแนวคลองหางตลาด การขุดคูคัดดินกั้นน้ำที่ทางตะวันออกของบ้านคอนทองดังกล่าวได้บังคับให้น้ำไหลกลับมาทางแนวแม่น้ำจระเข้สามพันที่ไหลผ่านเมืองอู่ทองตามเดิม การขุดกั้นดินคาดว่าคงจะทำขึ้นภายหลังที่แม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน ดังจะเห็นได้จากการมีคันดินรอบชุมชนแบบเหลี่ยมมุมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 340 x 340 เมตร สร้างขึ้นทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณรับน้ำได้จากคูคลองดังกล่าวและการสร้างคูคันดินบริเวณเมืองอู่ทอง

ลักษณะภูมิประเทศของอำเภออู่ทอง

พื้นที่ในอำเภออู่ทอง แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

1. ภูมิประเทศแบบภูเขาและที่สูง สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดสลับกับลอนชันจนถึงเทือกเขาสูงชัน ภูเขาที่พบส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาสัมปทานทำการระเบิดหินอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านโข้ง ตำบลดอนคา ตำบลหนองโอ่ง ตำบลพลับพลาไชย ตำบลอู่ทอง

2. ภูมิประเทศแบบลูกคลื่นลอนลาด ลักษณะเป็นพื้นที่ถัดจากเขตภูเขา ได้แก่ พื้นที่ในเขตตำบลบ้านโข้ง ตำบลดอนคา ตำบลหนองโอ่ง ตำบลอู่ทอง ตำบลจรเข้สามพัน

3. ภูมิประเทศแบบที่ราบลุ่มแม่น้ำจรเข้สามพัน เป็นบริเวณมีความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ พื้นที่ในเขตตำบลอู่ทอง ตำบลจรเข้สามพัน ตำบลสระยายโสม ตำบลสระพังลาน ตำบลดอนมะเกลือ ตำบลยุ้งทลาย ตำบลเจดีย์ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นภูเขาและมีพื้นที่สูงทางด้านตะวันตกขึ้นไปจนถึงทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ราบอยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีลำน้ำสายหลักคือ ลำน้ำจรเข้สามพัน และลำน้ำสายย่อย ปัจจุบันลำน้ำส่วนใหญ่ตื้นเขิน

แหล่งอ้างอิง

Cleversuphunburi.blogspot.com/2016/02/blog-post_75.html

suphan.biz/utongnews.htm

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *