พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจังหวัดกาญจนบุรี

    พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจังหวัดกาญจนบุรีสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 และเพื่อเป็นการถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสครบ 400 ปี แห่งชัยชนะที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จกรีฑาทัพผ่านกาญจนบุรีไปทรงยึดกรุงหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ. 2142 สถานที่ตั้งพระบรมราชนุสาวรีย์เป็นสถานที่เชื่อกันว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำสงครามยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า หลักฐานที่ค้นพบเต็มไปด้วยวัตถุโบราณที่ใช้ในการทำสงคราม ทั้งเครื่องศาสตราวุธ เครื่องประดับช้างม้า ลูกประคำม้า เครื่องประดับช้าง ตราม้าศึกและกระสุนปืน

พระบรมราชานุสาวรีย์เป็นพระบรมรูปประทับช่วงบนพระคชาธาร พระแสงดาบพาดพระเพลา นายควาญช้างและท้ายช้างประกอบขนาดเท่าครึ่งของครึ่งพระองค์จริง น้ำหนักวัสดุทองเหลืองที่ใช้ในการจัดสร้างประมาณ 20 ตัน งบประมาณในการก่อสร้างเป็นเงินประมาณ 50 ล้านบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2543 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชนุสาวรีย์ เมื่อวันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546

          พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือเจดีย์ยุทธหัตถี แห่งนี้มิใช่เป็นเพียงแค่สถานที่ท่องเที่ยว หากแต่ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของชาติ ไทย สถานที่แห่งนี้คือสถานที่ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำสงครามยุทธหัตถีชนะ พระมหาอุปราชาของพม่า ทำให้อยุธยาเป็นอิสระจากพม่า จากประวัติศาสตร์ และหลักฐานแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เชื่อได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ทำสงครามยุทธหัตถี พื้นที่ไร่นาของชาวบ้านย่านนี้เต็มไปด้วยวัตถุโบราณที่ใช้ในการทำสงคราม ทั้งเครื่องศาสตราวุธ เครื่องประดับช้างม้า ลูกประคำม้า เครื่องประดับช้าง ตราม้าศึกษา ลูกปืนทั้งที่ยิงแล้วและที่ยังไม่ได้ยิง อีกทั้งบริเวณนี้ยังมีเจดีย์เก่าแก่จากรูปแบบศิลปะทราบว่าสร้างขึ้นในสมัย กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะคล้ายสถูป เชื่อว่าเป็นสถูปที่สร้างเพื่อบรรจุพระศพของพระมหาอุปราชา และมีการขุดพบโครงกระดูก 1 โครงภายในเจดีย์เก่าแก่องค์นี้ ห่างออกไปเพียง 500 เมตร มีเจดีย์ขนาดเล็กสามองค์อยู่กลางทุ่ง ตามปกติการสร้างเจดีย์จะต้องสร้างขึ้นที่วัด แต่เจดีย์สามองค์นี้สร้างไว้กลางทุ่งใกล้กับเจดีย์เก่าแก่องค์แรก เชื่อได้ว่าเจดีย์สามองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการสักการะแต่ดวงวิญญาณของ เหล่าทหารแม่ทัพนายกองล้มตายจากการศึกในครั้งนี้ ทั้งพม่ารามัญและไทย และยังมีหลักฐานอีกมากมาย รายละเอียดอีกมากมายจะนำเสนอให้ได้ชมกันไม่นานนี้

          ภายในบริเวณมีอาคารแสดงนิทรรศการ ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาต่างๆ และจัดแสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านพบจากพื้นที่บริเวณนี้เก็บแสดงไว้ในตู้โชว์ ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา อาคารถัดมาคือห้องพิพิธภัณฑ์พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีวีดีทัศน์เพื่อให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว เฉพาะห้องนี้เสียค่าบำรุงคนละ 20 บาท

พิพิธภัณฑ์พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นสถานที่จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ตำบลดอนเจดีย์จังหวัดกาญจนบุรี และข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถานเจดีย์ยุทธหัตถี รวมทั้งมีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบภายในบริเวณโบราณสถานเจดีย์ยุทธหัตถี และบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงว่าบริเวณสถานที่แห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับสงครามไทยกับพม่า(หงสาวดี)ในสมัยอยุธยา ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่กระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เชื่อกันว่า เป็นเจดีย์ยุทธหัตถี ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชา กษัตริย์แห่งพม่าดังปรากฎหลักฐานพอสรุปได้ดังนี้

  1. ในพื้นที่บริเวณเจดีย์ยุทธหัตถี และ บริเวณใกล้เคียง ชาวบ้านพบ กระดูกช้าง กระดูกม้า กรามช้าง กระโหลกช้าง และกระดูกคน มากมาย ซึ่งแสดงว่า สถานที่แห่งนี้ จะด้องเป็นสถานที่กระทำสงครามครั้งยิ่งใหญ่ หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วคงไม่มีกระดูกมากมายเช่นนี้
  2. ชาวบ้านดอนเจดีย์ พบ เครื่องศาสตรวุธ เครื่องม้า เครื่องช้าง ซึ่งประกอบด้วย หอก ดาบ ยอดฉัตรโกลนม้า ขอสับช้าง โซ่ล่ามช้าง แป้นครุฑจับนาค ปัจจุบันสิ่งของเหล่านี้แสดงไว้ที่ ศูนย์วัฒนธรรมสถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
  3. ชาวบ้านดอนเจีย์ส่วนใหญ่ ใช้นามสกุล คชายุทธ มาลาพงษ์ และดอนเจดีย์ นามสกุลเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวข้องกับองค์เจดีย์แห่งนี้ และการตั้งนามสกุลได้ตั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มในการค้นหาเจดีย์ยุทธหัตถี
  4. ชื่อตำบล ตะพังตรุ หนองสาหร่าย ที่ระบุใน พระราชพงศาวดารเป็นสถานที่ ที่มีอยู่ใน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่กับแขวงเมืองสุพรรณบุรีต่อมาภายหลังได้มีการแบ่งเขตการปกครอง โดยอำเภอพนมทวนมาขึ้นอยู่กับจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3
  5. เส้นทางการเดินทัพของ พม่า-ไทย โดยทัพ พม่า จะข้ามมาทางด่านเจดีย์ 3 องค์ ผ่านทุ่งลาดหญ้า ผ่านเขาชนไก่ผ่านเมืองกาญจนบุรีเก่า ผ่านปากแพรก ผ่านบ้านทวน ผ่านอู่ทอง สุพรรณบุรี ผ่านป่าโมก เข้าอยุธยาจะเห็นได้ว่าเจดีย์ยุทธหัตองค์นี้ตั้งอยู่ในเส้นทางการเดินทัพคือที่อำเภอพนมทวน
  6. เจดีย์ยุทธหัตถีองค์นี้มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดช้างจังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นที่เชื่อถือได้ว่าเจดีย์องค์นี่น่าจะสร้างในสมัยอยุธยา
  7. ในพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่าช้างศึกได้กลิ่นน้ำมันคชสารก็ตกมันตลบปะปนกันเป็นอลหม่านพลพม่ารามัญก็โทรมยิงธนูหน้าไม้ ปืนไฟระดมเอาพระคชสารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ และธุมาการตลบมืดเป็นหมอกมัวไปแสดงว่าที่ทรงกระทำยุทธหัตถีพื้นที่จะต้องเป็นดินปนทรายจึงมีฝุ่นคลุ้งไปทั่ว จากพงศาวดารที่กล่าวมาทำให้สอดคล้องกับพื้นที่บริเวณเจดีย์ยุทธหัตถีแห่งนี้ เนื่องจากบริเวณรอบองค์เจดีย์เป็นที่ดอนและดินปนทรายซึ่งมีหลักฐานประจักษ์คือ หมู่บ้านที่ติดกับองค์พระเจดีย์ ชื่อว่าหมู่บ้านหลุมทรายแสดงว่าพื้นทีแถบนั้นต้องมีทรายมาก
  8. ที่ดอนเจดีย์แห่งนี้มีต้นข่อยขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นข่อยที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่ห่างจากเจดีย์ ประมาณ 100 เมตร ดังพระราชพงศาวดาร กล่าวไว้ว่าครั้งเหลือบไปฝ่ายทิศขวาของพระหัตถ์ก็เห็นช้างเศวตฉัตรหนึ่งยืนอยู่ ณ ฉายาข่อย มีเครื่องสูงและทหารหน้าช้างมากก็เข้าพระทัยถนัดว่าช้างมหาอุปราชาพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองก็ขับพระคชสารตรงเข้าไปทหารหน้าข้าศึกก็วางปืนจ่ารงคมณฑกนกสับตระแบงแก้วระดมยิง มิได้ต้องพระองค์และคชสาร สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ตรัสร้องเรียกด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า ” พรเจ้าพี่ เราจะยืนอยู่ในร่มเล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็น เกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิดภายหน้าไป ไม่มีกษัตริย์ที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว” พระมหาอุปราชา ได้ฟังดังนั้นแล้วละอายพระทัย มีขัตติยราชมานะก็ป้ายพระคชสารออกรบ
  9. เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฟันพระมหาอุปราชา ขาดคาคอช้างแล้ว ทัพไทยได้ไปทันพอดี จึงไล่ฆ่าฟันทหารพม่าอย่างหนัก จาก ตะพังตรุ ถึง กาญจนบุรี คาดว่า ทหารไทยฆ่าทหารพม่า ประมาณ 20,000 คนจับช้างใหญ่สูง 6 ศอก ได้ 300 เชือก ช้างพลายพัง 500 เชือก ม้าอีก 2,000 เศษจะเห็นได้ว่า จากเจดีย์ยุทธหัตถี บ้านดอนเจดีย์ไปกาญจนบุรี มีระระทางประมาณ 20กิโลเมตรจึงเป็นไปได้ที่ทหารไทยจะไล่ฆ่าฟันทหารพม่าในวันเดียวถึงเมือง กาญจนบุรีซึ่งระยะทางห่างกันไม่มากนัก
  10. ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วันวลิต ได้กล่าวไว้ว่า ในการกระทำยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาได้ กระทำใกล้กับวัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งจะตรงกับสภาพพื้นที่เจดีย์ยุทธหัตถี บ้านดอนเจดีย์แห่งนี้ยังมีวัดร้าง อยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ปัจจุบันคือ วัดบ้านน้อย และยังมีเจดีย์ โบสถ์เก่าแก่ให้เห็นตราบเท่าทุกวันนี้

จากหลักฐานดังที่ได้กล่าวอ้างมานี้ น่าจะเป็นที่ยืนยันได้ว่า เจดีย์ยุทธหัตถีบ้านดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเจดีย์องค์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างขึ้นหลังจากที่พระองค์ ทรงกระทำยุทธหัตถี ชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาเมื่อ พ.ศ.2135 และตั้งอยู่ที่บ้านดอนเจดีย์ หมู่ 2 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

แหล่งอ้างอิง

วรวุธ สุวรรณฤทธิ์. (2545). กาญจนบุรีดินแดนตะวันตก. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์

วรวุธ สุวรรณฤทธิ์. พบหลักฐานประวัติศาสตร์สงครามไทย – พม่า ที่พนมทวนจังหวัดกาญจนบุรี. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 23 ฉบับที่ 9 กรกฏาคม 2545 หน้า 30-31

 

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *