อำเภอเมืองสุพรรณบุรี

จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเมืองโบราณ พบหลักฐานทาง โบราณคดี มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500 – 3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมราวดี ทวารวดี ศรีวิชัย สุพรรณบุรี เดิมมีชื่อ “ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ หรือ “พันธุมบุรี” ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน แถบบริเวณตำบลรั้วใหญ่ไปจดตำบลพิหารแดง ต่อมาพระเจ้ากาแตได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำ แล้วโปรดให้มอญน้อยไปสร้างวัดสนามชัย และบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ชักชวนให้ข้าราชการจำนวน 2000 คนบวช จึงขนานนามเมืองใหม่ว่า “เมืองสองพันบุรี” ครั้งถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างเมืองมาทางฝั่งใต้หรือทางตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ชื่อเมืองเรียกวา “อู่ทอง” จวบจนสมัยขุนหลวงพะงั่วเมืองจึงถูก เรียกว่าชื่อว่า “สุพรรณบุรี” นับแต่นั้นมา

          อำเภอเมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในอดีตจะเห็นได้จากซากกำแพงเมืองที่ยังเหลืออยู่ เดิมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนในเขตตำบลรั้วใหญ่เรียกชื่อเดิมว่า ” ศาลแขวงท่าพี่เลี้ยง” ต่อมาย้ายไปตั้งตำบลท่าพี่เลี้ยงทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนบริเวณวัดเจดีย์ยอดเหล็ก (ที่ตั้งธนาคารกรุงเทพจำกัดในปัจจุบัน) เรียกชื่อว่า “อำเภอท่าพี่เลี้ยง” ตามชื่อเรียกของตำบล “ท่าพี่เลี้ยง” มีความหมายตามคำบอกเล่าของผู้ใหญ่เล่าต่อกันมาตามตำนานเรื่องขุนช้าง ขุนแผนว่า  ตำบลท่าพี่เลี้ยงนี้เดิมเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของนางสายทองผู้เป็นพี่เลี้ยงของนางพิมพิลาไลย ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงท่าน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอ  ประชาชนจึงพากันเรียกว่า “บ้านท่าพี่เลี้ยง” หรืออีกนัยหนึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าการเรียกคำว่า “ท่าพี่เลี้ยง” สืบเนื่องมาจาก เหตุที่เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองสะสมเสบียงอาหารส่งไปกรุงศรีอยุธยาในระหว่างทำสงครามกับพม่าในสมัยนั้น ตำบลท่าพี่เลี้ยงเป็นที่ตั้งยุ้งฉางข้าว โดยปลูกสร้างยุ้งข้าวไว้เป็นแถวติดต่อไปตั้งแต่วัดสุวรรณภูมิถึงบริเวณตลาดใหม่ของเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบัน) และต้องมีข้าวสำรองเป็นประจำในยุ้งข้าวนั้นทุก ๆ ปี เสมือนหนึ่งเป็นเมืองพี่เลี้ยง ประชาชนจึงเรียกขานว่า “บ้านท่าพี่เลี้ยง” เมื่อปี พ.ศ. 2480  ทางราชการได้สั่งให้อำเภอที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองทั้งหมด ดังนั้นอำเภอท่าพี่เลี้ยงจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอเมืองสุพรรณบุรี” ตั้งแต่นั้นมาและใน พ.ศ. 2516 นายอำเภอบรรจง  ฤกษ์สำราญ (นายอำเภอสมัยนั้น) ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเมืองสุพรรณบุรีบริเวณเจดีย์ยอดเหล็กซึ่งคับแคบมาก่อสร้างบริเวณระหว่างศาลแขวงจังหวัดสุพรรณบุรีและโรงเรียนสงวนหญิง (องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน)  ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้ย้ายที่ว่าการมาอยู่บริเวณศาลากลางเก่า ถนนพระพันวษา (เนื่องจากศาลากลางได้ย้าย ที่ทำการไปอยู่ศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ตำบลสนามชัย ถนนชัยนาท-บางบัวทอง)

          อำเภอเมืองสุพรรณบุรีแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 20 ตำบล 123 หมู่บ้าน ได้แก่ ท่าพี่เลี้ยง รั้วใหญ่ ทับตีเหล็ก ท่าระหัด ไผ่ขวาง โคกโคเฒ่า ดอนตาล ดอนมะสังข์ พิหารแดง ดอนกำยาน ดอนโพธิ์ทอง บ้านโพธิ์ สระแก้ว ตลิ่งชัน บางกุ้ง ศาลาขาว สวนแตง สนามชัย โพธิ์พระยา และสนามคลี

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *