สิ่งศักดิ์สิทธิ์ชุมชนของชาวชุมชนตำบลไล่โว่

พระแก้วขาว

ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่วิจัย เรียกพระแก้วองค์นี้ว่า “ไจ่เม่อไน” หมายถึง “พระพุทธรูปแก้วองค์งาม” เป็นศูนย์รวมความศรัทธา ความเคารพนับถือ เป็นที่พึ่งสำคัญยิ่งของคนพื้นที่วิจัย ทั้งยามสุขและยามทุกข์ ทั้งยังเป็นหลักฐานแห่งเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความภูมิใจของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานไว้ ในโอกาสที่ชาวไทยกะเหรี่ยงได้ช่วยเหลือราชการแผ่นดินด้วยความจงรักภักดีมาตลอด ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาว่า พระองค์ทรงพระราชทานให้พระศรีสุวรรณคีรี เมื่อครั้งร่วมพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระศรีสุวรรณคีรีได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาทางเรือ ประดิษฐานไว้ ณ หมู่บ้านสะเนพ่อง ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสังขละบุรีสมัยนั้น จวบจนปัจจุบัน

เมื่อ ปี 2545 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ได้สร้างมณฑปถวาย พร้อมลิขิตถึงหมู่บ้านว่า “พระแก้วขาวไม่ควรอัญเชิญไปสถานที่อื่น ควรประดิษฐาน ณ หมู่บ้านแห่งนี้” ปัจจุบัน มีประเพณีสรงน้ำพระแก้ว ทุกปี และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้นมัสการทุกวัน

ศาลพ่อปู่/พู่ผะดูประจำหมู่บ้าน

ศาลพ่อปู่หรือพู่ผะดู เป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ประจำหมู่บ้านตามความเชื่อ ทุกหมู่บ้านจะมีศาลพ่อปู่หรือศาลพู่ผะดูประจำชุมชน เมื่อชาวบ้านจะเดินทางหรือทำกิจกรรมต่างๆ นอกหมู่บ้านจะต้องขึ้นไปบอกกล่าวให้   พู่ผะดู คุ้มครอง โดยมีเชงคู เป็นผู้ดูแลและประกอบพิธีหรืออาสาบอกกล่าวสื่อสารระหว่างคนกับพู่ผะดู

ต้นโพธิ์

ต้นโพธิ์ มีอยู่ทุกหมู่บ้าน อาจจะปลูกอยู่ในวัด หรือไม่ก็ในพื้นที่ชุมชนนอกวัด เป็นสถานที่บูชาและประกอบพิธีกรรมวันสงกรานต์ ตามความเชื่อที่ว่าต้นโพธิ์ มี“ซุกกะเหนี้ยว” อาศัยอยู่ ซุกกะเหนี้ยวทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวการกระทำของผู้คนชาวกะเหรี่ยงที่เกิดมาว่าได้ทำชั่วอะไรบ้าง ทำดีอะไรบ้าง เมื่อคนนั้นเสียชีวิต “ซุกกะเหนี้ยว” จะนำบันทึกนั้นไปให้ “สะเม้งเหยิง”(ยมบาล)พิจารณา แล้วยมบาลจะส่งคนนั้นไปตามผลการกระทำที่ปรากฏในบันทึกนั้น นอกจากนี้ ต้นโพธิ์ยังเป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จึงต้องจัดพิธีบูชาขึ้นด้วย การบูชาต้นโพธิ์ กระทำผ่านเทพสามองค์ คือ โพ่งเมี๊ยะจื่อ(พระภูมิ) เราะขะจื่อ(รุกขเทวดา) กาสะจื่อ(อากาศเทวดา) โดยนิมนต์เทพสามองค์นี้มารับเครื่องบูชา ประกอบด้วยข้าวสุกคลุกงาพร้อมดอกไม้ เทียน กระบอกน้ำ ที่จัดไว้

ผีบรรพบุรุษและผีผ้อ

ผีบรรพบุรุษและผีผ้อ เป็นผีประจำครอบครัว ทุกครอบครัวมีหิ้งบนเรือนสร้างไว้ในห้องพ่อแม่ และห้องนอกจะเจาะฝาเป็นช่องสร้างหิ้งยื่นออกนอกฝาเรือน เป็นหิ้งวางแก้วหรือแจกัน ๒ ใบ ใส่ต้น“ผ้อ”(เป็นไม้ในร่มที่ทนทาน ดูแลง่าย อยู่ได้นาน)วางไว้บนหิ้ง เพื่อบูชาผีผ้อ หากมีพระพุทธรูปก็วางรวมไว้บนหิ้งเดียวกันได้ และบูชาไปด้วยกัน แต่ครอบครัวส่วนใหญ่จะมีผีผ้ออย่างเดียว

แหล่งอ้างอิง

คณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตำบลไล่โว่.  (2558). โครงการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเสริมพลังการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลไล่โว่ และตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *