ประวัติความเป็นมา บ้านเวียคาดี้-โมรข่า ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ประวัติความเป็นมา
บ้านเวียคาดี้-โมรข่า หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ติดเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาช้างเผือกและเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อยู่ห่างจากแนวชายแดนไทย-พม่าประมาณ ๙ กิโลเมตร ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นชาวกะเหรี่ยง ทั้งที่ถือบัตรประชาชนคนไทยและบัตรแสดงสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง(บัตรสี) บรรพบุรุษอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศพม่าเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยเมื่อประมาณ ๒๐๐ กว่าปีก่อน (สันนิษฐานว่ามีการก่อตั้งหมู่บ้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๔๘) แต่เดิมชาวบ้านทำมาหากินอยู่กับป่า ทำไร่หมุนเวียน เก็บหาของป่าทั้งที่เป็นอาหารและยารักษาโรค มีการทำนาบ้างเล็กน้อย หลังจากนั้นชาวบ้านนิยมทำนาเพิ่มขึ้นด้วยพอมีพื้นที่เหลืออยู่ แต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้นำพื้นที่ทำนาไปจัดสรรให้กับชาวบ้านที่ถูกอพยพขึ้นมาจากการสร้างเขื่อนเขาแหลมและจัดตั้งเป็นหมู่บ้านห้วยกบ ห้วยมาลัย บ้านใหม่พัฒนา ทำให้เหลือพื้นที่ทำนาอยู่เพียง ๒-๓ แปลง ชาวบ้านที่สูญเสียพื้นที่ทำนาจึงต้องกลับมาทำไร่หมุนเวียนอีก แต่เหตุการณ์กลับเปลี่ยนไปอีกเมื่อมีโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเข้ามาปลูกป่าทับที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งเป็นไร่หมุนเวียนและไร่ซากประมาณ ๒,๐๐๐ไร่ ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ โดยมองว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปเพาะปลูกได้อีก ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ มีหน่วยงานอุทยานแห่งชาติมาประจำ ทำให้ชาวบ้านต้องหลบๆ ซ่อนๆ ทำมาหากินและเลิกทำไร่หมุนเวียน หันไปประกอบอาชีพรับจ้างภายในหมู่บ้าน หรือออกไปขายแรงงานในเมือง บ้านเวียคาดี้และโมรข่า มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆ ทิศเหนือติดต่อกับศูนย์อพยพบ้านต้นยาง และประเทศพม่า ทิศใต้ติดต่อกับชุมชนบ้านชูแหละ บ้านช่องลุ และบ้านใหม่พัฒนา หมู่ ๗ ต.หนองลู ทิศตะวันออกติดต่อกับห้วยคลิทุ บ้านห้วยมาลัย หมู่ ๖ ต.หนองลู ทิศตะวันตกติดต่อกับห้วยตะโก่ และประเทศพม่า สภาพทางภูมิศาสตร์ บ้านเวียคะดี้เป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา ภูเขาล้อมรอบหมู่บ้าน มีห้วยตะโก่เป็นน้ำสายหลัก มีลำห้วยเล็ก ๆ ไหลลงสู่ห้วยตะโก่ หลายสาย ส่วนบ้านโมรข่า เป็นที่ลาดเชิงเขา มีป่าไม้ ลำห้วยไหลผ่าน ทั้งสองหมู่บ้านอยู่ไม่ไกลจากชายแดนไทยพม่าและศูนย์อพยพผู้ลี้ภัย
ลักษณะชุมชน
ลักษณะชุมชนของบ้านเวียคาดี้-โมรข่า มีวัดเวียคาดี้และพระธาตุเจดีย์สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านศูนย์รวมจิตใจชาวบ้าน ๒ องค์ มีศาลาวัดเป็นที่ประชุมของชาวบ้าน มีที่ทำการกำนันตำบลหนองลู มีสถานศึกษา ๑ แห่ง คือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสหธนาคารกรุงเทพ เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ ๖ มีร้านค้าประมาณ ๙ ร้าน มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๑ แห่ง ธนาคารข้าว ๑ แห่ง มีสถานีอนามัยบ้านเวียคาดี้ ๑ แห่ง มีศูนย์ฝึกอบรมของมูลนิธิพัฒนรักษ์ ๑ แห่ง มีศูนย์มาเลเรีย ๑ แห่ง หน่วยพิทักษ์ป่าที่ ทภ.๗ (เวียคาดี้) อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ๑ แห่ง และ ฐานปฏิบัติการหน่วยทหารพราน ๑ แห่ง สำหรับบ้านโมรข่ามีสำนักสงฆ์บ้านโมรข่า ๑ แห่ง โบสถ์คริสต์ ๑ แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๑ แห่ง สาธารณูปโภคในบ้านเวียคาดี้ มีไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีน้ำประปาภูเขา มีหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ๑ แห่ง ในชุมชนสามารถติดต่อสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือได้ ที่บ้านบ้านโมรข่า ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซล มีน้ำประปาภูเขา มีหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ๑ แห่ง
การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ตั้งขึ้นเป็นกลุ่มบ้าน ตามลักษณะพื้นที่ เช่น กลุ่มฝั่งนา กลุ่มบ้านที่อยู่บริเวณวัดบ้านเวียคาดี้และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนฯ กลุ่มบ้านที่อยู่บริเวณสถานีอนามัย กลุ่มบ้านที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกฝั่งห้วยตะโก่ กลุ่มบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดบ้านเวียคาดี้ ส่วนลักษณะบ้านเรือน ส่วนใหญ่สร้างบ้านถาวร ชั้นเดียว ยกพื้นสูง บริเวณใต้ถุนบ้านเป็นที่เก็บของหรือเก็บฟืนสำหรับหุงต้มอาหาร และสำหรับใช้พักผ่อนช่วงหน้าร้อน ส่วนน้อยสร้างบ้านชั่วคราวด้วยไม้ไผ่ อายุเพียง ๑-๒ ปี และปัจจุบันมีบ้านที่สร้างด้วยคอยกรีต ชั้นเดียว ไม่ยกพื้น เพิ่มมากขึ้น
ลักษณะสังคมและวัฒนธรรม
ลักษณะประชากรเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยง ที่พูดอ่านและเขียนภาษาไทยได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จำนวนประชากรทั้ง ๒ หมู่บ้าน (ปี ๒๕๕๔) บ้านเวียคาดี้มี ๑๑๓ ครัวเรือน ประชากร ๕๗๙ คน แบ่งเป็นชาย ๒๙๒ คน หญิง ๒๘๐ คน มีบัตรประชาชน ๒๓๙ คน เป็นชาย ๑๓๑ คน เป็นหญิง ๑๐๓ คน บัตรสี ๒๖๒ คน เป็นชาย ๑๒๕ คน เป็นหญิง ๑๓๕ คน ผู้ถือบัตรไม่มีสถานะทางทะเบียน ๒๑ คน ผู้ขึ้นทะเบียน ท.ร.๓๘ จำนวน ๑๙ คน ไม่มีบัตรแสดงสถานะ ๓๘ คน เป็นชาย ๑๘ คน เป็นหญิง ๒๐ คนส่วนมากอพยพมาจากประเทศพม่า บ้านโมรข่ามีครัวเรือน ๑๑๒ ครัวเรือน ประชากร ๕๘๕ คน แบ่งเป็นชาย ๒๗๗ คน เป็นหญิง ๓๐๘ คน มีบัตรประชาชน ๒๑๗ คน เป็นชาย ๙๓ คน เป็นหญิง ๑๒๔ คน มีบัตรสี ๒๕๖ คน เป็นชาย ๑๓๐ คน เป็นหญิง ๑๒๖ คน ผู้ถือบัตรไม่มีสถานะทางทะเบียน ๓๔ คน ผู้ขึ้นทะเบียน ท.ร.๓๘ จำนวน ๑๙ คน ไม่มีบัตรแสดงสถานะ ๕๙ คน ชาย ๓๐ คน หญิง ๒๙ คน โดยมากอพยพมาจากประเทศเมียนม่าร์
การคมนาคม
หมู่บ้านเวียคาดี้ เส้นทางเป็นถนนคอนกรีตที่ต่อมาจากถนนลาดยางบ้านห้วยมาลัย จนกระทั่งถึงเมืองสังขละบุรี ระยะทางประมาณ ๒๐ กม. ส่วนบ้านโมรข่า เส้นทางต่อจากเวียคะดี้ เป็นถนนลูกรังประมาณ ๓ กิโลเมตรกว่า หน้าฝนเดินทางเข้าออกลำบาก พาหนะที่ใช้เดินทางเข้าออกจะอาศัยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวมีน้อย ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าออกหมู่บ้านไปอำเภอสังขละบุรีค่อนข้างมาก
การศึกษา
บ้านเวียคาดี้มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสหธนาคารกรุงเทพ ๑ แห่งสอนตั้งระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๒ แห่ง ที่บ้านเวียคาดี้ ๑ แห่ง และโมรข่า ๑ แห่ง นักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียน ตชด. มีทั้งเด็กจากบ้านเวียคาดี้ โมรข่า ชูแหละ และช่องลุ เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียน ตชด.แล้ว ทางโรงเรียนจะส่งไปสอบชิงทุนพระราชทานของสมเด็จพระเทพ ฯ ที่ค่ายพระพุทธยอดฟ้า (ปีละ ๑ ทุน) ผู้ที่ได้รับทุนจะได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนสงเคราะห์พนมทวน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี แต่ส่วนใหญ่เด็กที่จบชั้น ป.๖ แล้วจะไปเรียนต่อที่โรงเรียนบ้านห้วยมาลัย ส่วนเด็กผู้ชายหลายคนเลือกไปบวชเรียน เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก
การสาธารณสุข
มีสถานีอนามัยและศูนย์เจาะเลือดที่เจ้าหน้าที่ อสม.ดูแลรับผิดชอบ เมื่อไม่สบายต้องจะไปหาหมอที่สถานีอนามัยและเจาะเลือดที่หน่วยก่อน ถ้ารักษาไม่ได้จึงจะส่งไปที่โรงพยาบาลสังขละบุรีหรือโรงพยาบาลคริสเตียน(แม่น้ำน้อย) ส่วนบ้านโมรข่าไม่มีสถานีอนามัย มีแต่เจ้าหน้าที่ อสม.ที่รับผิดชอบดูแลอยู่ ถ้ามีคนไม่สบาย เจ้าหน้าที่ อสม.โดยมาใช้บริการสถานีอนามัยที่บ้านเวียคะดี้
ประเพณีวัฒนธรรม
บ้านเวียคะดี้-โมรข่า จัดประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างร่วมกัน บางอย่างแยกกันจัดตามความเชื่อในปัจจุบัน โดยประเพณีวัฒนธรรมเกิดขึ้นหมุนเวียนไปตามช่วงเวลา ฤดูกาล เป็นต้นว่า เดือนมกราคม ประเพณีกินข้าวใหม่ เรียกขวัญแม่โพสพ เดือนกุมภาพันธ์ มีประเพณีถวายราหุล เดือนมีนาคม มีประเพณีทำบุญไหว้พระธาตุเจดีย์ เดือนเมษายน พิธีไหว้ถะเหมาะ งานสงกรานต์ เดือนพฤษภาคม พิธีกรรมไล่ผีชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน เดือนมิถุนายน ปลูกกระท่อมในไร่นา เดือนกรกฎาคม ประเพณีเข้าพรรษา เดือนสิงหาคม เรียกขวัญของหมู่บ้าน หรือเรียกขวัญหล่าเคาะ เดือนกันยายน ประเพณีเบอเกอบ่อง เป็นการทำบุญถวายอาหารให้กับพระสงฆ์ เดือนตุลาคม ประเพณีออกพรรษา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมในลักษณะอื่นๆ อีกหลายประการ
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวบ้านเวียคาดี้และโมรข่าส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ ถือวันพระเป็นวันสำคัญของชุมชน เป็นวันหยุดทำงานในไร่ นา ซึ่งความเชื่อนี้ได้สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน วันพระชาวบ้านจะไปไหว้พระธาตุเจดีย์ก่อนแล้วจึงขึ้นวัดรับศีล ๕ ทำบุญ ตักบาตร ส่วนผู้สูงอายุจะถือศีลกินเจ หรืออาจถือศีลกินเจกันทั้งครอบครัว การที่วันพระเป็นวันหยุดงานในไร่ ในนา ด้วยเชื่อว่าหากทำไร่ ทำนาในวันพระจะทำกินไม่ขึ้น เพราะวันพระ เจ้าที่เจ้าทางจะเข้าไปจำศีลในพื้นที่ของท่าน เช่น เจ้าที่เจ้าทางประจำต้นไม้จะเข้าไปจำศีลในต้นไม้ ถ้าเราไปตัดต้นไม้ต้นนั้นเท่ากับไปทำลายบ้านของเจ้าที่เจ้าทาง คน ๆ นั้นต้องทำงานใช้หนี้ไปตลอด
การปกครอง
สมัยพู่จาปิ้ง บรรพบุรุษ ปกครองแบบเครือญาติเหมือนพ่อปกครองลูก เมื่อพู่จาปิ้งล่วงลับไปแล้ว ผู้นำคนใหม่ต่อมาคือ หม่องละจี่ หม่องย่องขุ่ง ยังคงปกครองแบบเดิม แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง ทางราชการได้มีการสำรวจประชากร เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากหยัวคาดีเป็นเวียคาดี้ อยู่ในเขตการปกครองหมู่ที่ ๕ ตำบลหนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และมีการจัดตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นปกครองสืบต่อกันมา ตั้งแต่ ปี ๒๔๙๙ ถึงปัจจุบัน มีผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว ๕ คน มีนายจาง่วย เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ปัจจุบันมีนาย พุทธชาย หลวงวิเศษ เป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้รับเลือกเป็นกำนันตำบลหนองลูด้วย
การปกครองหมู่บ้าน
ได้มีการแบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ ตามระเบียบของราชการ เช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆ คือ มีผู้ใหญ่บ้าน(กำนัน) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. อาสาสมัครพัฒนาชุมชน (อช.) และ อสม. ประจำหมู่บ้าน คณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับหมู่บ้าน (กพสม.) คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน คณะ กรรมการกองทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต คณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการฝ่ายพัฒนา ฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณะ ฝ่ายศึกษาและวัฒนธรรม ฝ่ายคลัง ฝ่ายสวัสดิการและสังคม ฝ่ายเยาวชน ฝ่ายกิจการสตรี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคณะผู้อาวุโสที่เคยทำหน้าที่ปกครองมาแต่อดีต ปัจจุบันเปลี่ยนมาทำหน้าที่ด้านพิธีกรรม และปราชญ์ชาวบ้าน ด้วย
ลักษณะเศรษฐกิจ
พื้นฐานทางเศรษฐกิจของครัวเรือนในชุมชนเวียคาดี้และโมรข่า แต่เดิม ครอบครัวถือครองที่ดินได้เฉพาะที่ปลูกบ้าน ทำสวนรอบบ้านและทำนาปี(ถ้ามี)เท่านั้น ส่วนพื้นที่ไร่หมุนเวียนไม่เป็นของคนใดคนหนึ่ง ใครจะไปทำกินก็ได้ เพราะชุมชนเชื่อว่า ดินนั้นเป็นของแม่ธรณี ไม่มีใครเป็นเจ้าของนอกจากแม่ธรณี แต่ปัจจุบันพื้นที่ไร่หมุนเวียนและไร่ซากของชุมชน ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และส่วนหนึ่งถูกประกาศทับโดยอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จึงไม่สามารถเข้าไปทำกินได้อีกต่อไป ชาวบ้านจึงต้องไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ห่างไกลติดเขตแนวชายแดนไทย-พม่าจึงมีความเสี่ยงในการทำไร่และขนย้ายข้าวในแต่ละครั้ง ขณะเดียวกัน การถือครองที่ดินที่เป็นที่นา ทางราชการไม่ออกโฉนดที่ดินให้ แม้ว่าได้ถือครองอยู่ก่อนการประกาศออกเอกสารสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติการขึ้นทะเบียนสิทธิคุ้มครองที่ดินทำกิน ตามคำสั่งที่ ๑๒๔๔/๒๔๙๗ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ ที่กระทรวงมหาดไทยประกาศใช้เมื่อ ลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๗ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน ที่ส่งผลมาเป็นความยากจนของคนส่วนใหญ่สืบมาถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันรายได้หลักของชุมชน ได้จากการทำการเกษตรเพื่อยังชีพ เช่น ทำไร่หมุนเวียน ทำนาปี ทำสวนผสมเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารของครอบครัว หลักสำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคง คือ การทำไร่ทำนาต้องปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ ทั้งข้าวเหนียวข้าวเจ้า เพื่อป้องกันว่าบางปีน้ำน้อย ข้าวบางสายพันธุ์ให้ผลผลิตน้อย หรือไม่ได้เลย เมื่อใส่ข้าวหลายสายพันธุ์ จะมีข้าวพันธุ์อื่นๆ ให้ผลผลิตได้ เมื่อได้ข้าวมาแล้ว จะเก็บไว้ในยุ้งฉางของตัวเองก่อนจนกว่าพอเพียงบริโภคตลอดปี ที่เหลือนำไปแจกจ่ายแลกเปลี่ยนสิ่งของจำเป็น เช่น เกลือ กะปิ เครื่องนุ่งห่ม(บางส่วน) นอกจากนั้น ยังมีผลไม้ พืชผัก พริก ฟักแฟงแตงฯลฯ จากไร่เก็บไว้บริโภคได้ตลอดปี แม้ไม่มีรายได้เป็นเงินทองก็อยู่ได้
การประกอบอาชีพ ปัจจุบัน คนชุมชนเวียคาดี้และโมรข่า บางส่วนยังคงทำไร่หมุนเวียน ทำนาปี ทำสวนเล็กๆ น้อยๆ นอกจากนี้ คนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะเด็กหนุ่มสาววัยแรงงาน เดินทางไปรับจ้างทำงานในเมือง และดูเหมือนเป็นรายได้หลักที่เข้าสู่ชุมชนปัจจุบัน
สถานการณ์ชุมชน
เวทีประชาคมหมู่บ้าน ประกอบด้วยผู้นำชุมชน ผู้อาวุโส เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ด้านต่างๆ ของหมู่บ้าน พร้อมสาเหตุและแนวทางแก้ไข โดยสรุปว่า สถานการณ์ความยากจน คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่กล่าวถึง สาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหาเป็นไปในทำนองเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆ คือ สร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน และส่งผลต่อการศึกษาของเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่ยากจนไม่มีเงินส่งเสียให้ได้ศึกษาชั้นสูงๆ ทุนที่มีให้ไม่เพียงพอ ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ แม้จะมีนโยบายเรียนฟรี แต่รายจ่ายของนักเรียนไม่เคยลดลง รวมทั้งปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาศิลปวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ที่ประชุมสรุปว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุที่คล้ายคลึงกัน จึงมีแนวทางแก้ปัญหาในทำนองเดียวกับบ้านอื่นๆ ดังกล่าวแล้ว
การพัฒนาหมู่บ้าน
เพื่อแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่กำหนดทิศทางไปบนฐานการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ คือ ต้องสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่เป็นเงินทองให้เกิดแก่คนในชุมชน การที่ชุมชนทำไร่หมุนเวียนเพื่อมีข้าวบริโภคพอเพียงอย่างเดียว ถือว่าเป็นความยากจน ดังนั้น จึงมีความพยายามอ้างเอาความยากจนในลักษณะนี้ มาสร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาการเกษตรเพื่อการค้าหรือเพื่อการอุตสาหกรรมขึ้นในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น นายทุนเข้ามาปลูกสวนยางพารา นายทุนมาลงทุนสร้างโรงงานขึ้นในพื้นที่ตำบล มากขึ้น นัยว่าเป็นการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ แม้ว่า บางครั้งกระบวนการลงทุนดังกล่าว เกิดขึ้นไม่ถูกต้องตามกฏหมายก็ตาม ทิศทางการพัฒนาชุมชน จึงมีแนวโน้มว่า จะเป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ มากกว่าวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีมาแต่เดิม
แหล่งอ้างอิง
คณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตำบลไล่โว่. (2558). โครงการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเสริมพลังการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลไล่โว่ และตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.