นายอุดม ข้องม่วง ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการร้องเพลงขอทาน

นายอุดม ข้องม่วง ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการร้องเพลงขอทาน เพลงขอทาน เพลงขอทานบ้านสมุน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ร้องเล่นกันในหมู่บ้าน ตนเองเป็นผู้เขียนเนื้อเพลง โดยเนื้อเพลงขึ้นอยู่กับ สถานการณ์ต่าง ๆ ว่าร้องในโอกาสอะไร ร้องเพื่อเชิดชูเกียรติให้ใคร หรือจะบอกเล่าเรื่องอะไร สามารถที่จะเขียนได้หมด อย่างเช่น กลุ่มศิลปินเพลงขอทานบ้านสมุน ได้แต่งคำร้องไว้เพื่อต้อนรับ คณะกรรมการตรวจเยี่ยม ความโดดเด่นของการอุทิศตนในการทำงานด้านเด็ก

นายอุดม ข้องม่วง มีความสนใจเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านโดยเฉพาะเพลงขอทาน ซึ่งนายมานพ ดิษฐ์กระจัน เคยเห็นการแสดงนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์พร้อมกับเคยร่วมแสดงกับ พ่อเพลง และแม่เพลง มาก่อนจึงมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูการแสดงชุดนี้ขึ้นมา จึงได้ชักชวนชาวบ้านบางปูนที่มีความรู้และเคยเห็นหรือเคยแสดงจัดตั้งคณะเพลงขอทาน และมีโอกาสได้แสดงในงานวันออกพรรษาของวัดสว่างอารมณ์ จนเป็นที่ยอมรับในชุมชนเป็นอย่างดี นายอุดม ข้องม่วง จึงนำแนวคิดที่จะอนุรักษ์ศิลปะชิ้นนี้ไว้ จึงอาสาเข้ามาเป็นวิทยากรท้องถิ่น ถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับเพลงขอทานให้นักเรียน เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของตนไว้ นักเรียนโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ โดยมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 ที่ได้ศึกษาศิลปะพื้นบ้านเพลงขอทาน ในชั่วโมงซ่อมเสริมจนสามารถแสดงเพลงขอทานได้ เช่น กิจกรรมเข้าค่ายพักแรมลูกเสือ เนตรนารี การแสดงในวันเทศกาลเข้าพรรษา ออกพรรษา ของวัดสว่างอารมณ์ ปัจจุบันนายอุดม ข้องม่วง ยังได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 ของโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์อย่างต่อเนื่อง

          ประวัติความเป็นมาของเพลงขอทาน

เพลงขอทาน เป็นการแสดงกิจกรรมตามประเพณี กึ่งนันทนาการอย่างหนึ่งของหมู่บ้านสมุนและหมู่บ้านพิหารแดง ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ในเทศกาลวันออกพรรษาของทุกปีแต่เดิมมาจะมีคำกล่าวว่า “เดือน 11 น้ำนอง เดือน 12 น้ำทรง” (น้ำทรง คือ น้ำไม่ขึ้นไม่ลง หรือไม่มากขึ้นและไม่น้อยลง) นั่นคือ เป็นเวลาน้ำเหนือไหลหลากจากภาคเหนือท่วมบริเวณบ้านเรือนของราษฎร ที่มีที่อยู่อาศัยตั้งอยู่ริมฝั่งสองข้าง ของแม่น้ำสุพรรณ (แม่น้ำท่าจีน) ชาวบ้านจึงนิยมปลูกบ้านเป็นสองชั้น มีชั้นบนเป็นที่อาศัยพักผ่อน หลับนอน ส่วนชั้นล่างเป็นที่ปฏิบัติกิจกรรมการงานประจำวัน มีบันไดสำหรับขึ้นลงระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง เมื่อถึงเวลาน้ำท่วมบ้านจะหนีน้ำไปอาศัยอยู่บนบ้านชั้นบน กิจกรรมต่างๆ ในการสัญจรไปมาติดต่อกันจึงใช้เรือพายเป็นพาหนะในการเดินทางไปมาหาสู่กันได้เพียงทางเดียวเท่านั้น

ในวันทำบุญเทศกาลออกพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11) ครั้งโบราณนั้น ชาวบ้านในชนบทนิยมทำขนมแบบไทยอย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า ขนมห่อ เพื่อนำไปทำบุญตักบาตร ในวันออกพรรษาเชื่อกันว่าบุญกุศลที่ได้กระทำในวันนี้นั้นทำให้ญาติและบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้รับส่วนบุญและกุศลนั้นด้วย

ในช่วงเวลาเย็นก่อนวันออกพรรษา 1 วัน (วันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) จะมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการร้องเพลงพื้นบ้าน พร้อมด้วยเครื่องประกอบจังหวะ มีกลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ ฯลฯ นำคณะเดินทางด้วยเรือพายและพูดคุยกันไปจนถึงบ้านที่ต้องการระไปขอทาน โดยไปจอดเรือที่บันไดบ้านและจะเริ่มร้องเพลงขอทานเป็นการร้องขอขนมห่อ ซึ่งชาวบ้านจัดทำกันแต่ละบ้านเป็นจำนวนมาก เพื่อแจกจ่ายแลกเปลี่ยนกันในหมู่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน อันเป็นวัฒนธรรมที่ดีของคนไทยเรา การร้องเพลงขอทานเป็นการเชิญชวนให้ชาวบ้านปฏิบัติธรรมในข้อจาคะ (การบริจาค) ดังนั้นการบริจาคทานจึงมิได้มีแต่ขอขนมห่อแต่เพียงอย่างเดียว จึงมีการบริจาคเครื่องอุปโภค/บริโภคที่มีประโยชน์จะมีผู้นำมาบริจาคให้ด้วย และคณะบุคคลผู้ร้องเพลงขอทานนำสิ่งของที่ได้ทั้งหมดไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในวัดที่อยู่ในหมู่บ้านต่อไป

เนื้อหาของเพลงขอทาน (ขนมห่อ) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เป็นการพูดเกริ่น ถึงสาเหตุที่ต้องการมาขอทาน

ส่วนที่ 2 เป็นการร้องเพลงพื้นบ้าน เพื่อขอความเห็นใจและเชิญชวนให้ชาวบ้านทำบุญกุศลในการบริจาคทาน

ส่วนที่ 3 เป็นการร้องเพลงเพื่อกล่าวคำขอบคุณและคำอวยพรให้กับผู้บริจาคทาน

“คำพูดและคำร้อง จะมีเนื้อความสั้นๆ ต้องร้องให้ฟังทุกบ้านที่ไปขอทาน จึงต้องมีผู้ร้องหลายคน โดยผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้ร้องและลูกคู่

ถึงตอนสรุป ในปีที่มีน้ำหลากมากจนท่วมบริเวณบ้าน จึงใช้เรือพายในการปฏิบัติกิจกรรมเพลงขอทานปัจจุบันนี้บสงปีน้ำไม่ท่วม ก็จะใช้วิธีการเดินไปตามบ้านที่ต้องการไปขอทาน

การยึดถือประเพณีของทานนี้ ได้หยุดมาช่วงหนึ่งประมาณ 40 ปี ปัจจุบันได้มีชาวบ้านในชุมชนนี้ต้องการอนุรักษ์ประเพณีไว้จึงได้มีการริเริ่มติดต่อขอความรู้จากผู้สูงอายุที่มีชีวิตอยู่และรู้เรื่องราว/จำเนื้อเพลงได้เป็นบางตอน จึงนำมาเรียบเรียงเป็นเค้าโครงเรื่องทำให้สามารถทราบเรื่องเดิมได้พอสมควร

ปัจจุบันนี้มี ผู้บริหารระดับสูงของทางราชการนำโดยท่านสุภัทร์ ศรีสุนทรพินิต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เห็นความสำคัญของเพลงพื้นบ้าน จึงแนะนำให้นำไปเป็นความรู้เข้าสู่โรงเรียนทั้ง 2 โรงเรียน โดยผู้บริหารสถานศึกษาได้นำมาบรรจุเป็นการเรียนการสอนให้กับนักเรียนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงและนักเรียนสามารถนำเสนอให้ชมและฟังได้

แหล่งอ้างอิง

ฐานข้อมูลปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลพิหารแดง กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *