บุคคลสำคัญที่เป็นที่จดจำของชาวชุมชนตำบลไล่โว่

ชาวชุมชนตำบลไล่โว่ ปัจจุบันได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญที่เป็นที่จดจำต่อๆ กันมาหลายช่วงอายุคนและพยายามศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกหลานได้รู้สึกภูมิใจในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ได้สืบทอดและเผยแพร่ความภูมิใจสู่สังคมวงกว้างสืบไป เป็นต้นว่า พระมหากษัตริย์ไทย พะวอ พระศรีสวัสดิ์ พระศรีสุวรรณคีรี พระแม่กลอง และบุคคลอื่นที่มีคุณูปการต่อชุมชน ดังจะได้นำประวัติบุคคลสำคัญโดยสรุปของแต่ละท่านมากล่าวไว้โดยสังเขป ดังนี้

  • พระมหากษัตริย์ไทย

พระราชบารมีพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสิ่งร่วมสมัยที่ชุมชนจดจำและภูมิใจ เริ่มจากปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณปกป้องคุ้มครองชาวไทยกะเหรี่ยงมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์ในสมัยราชวงศ์จักรีทรงพระเมตตา มอบความไว้วางใจ แต่งตั้งชาวไทยกะเหรี่ยงขึ้นเป็นผู้นำ ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ ร่วมสร้างสรรค์ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่ราชอาณาจักร เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ นับตั้งแต่พะวอ พระศรีสวัสด์ พระศรีสุวรรณ พระแม่กลอง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชทานพระแก้วขาวไว้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสุวรรณคีรี ณ วัดสะเน่พ่อง และทรงแต่งตั้งคนกะเหรี่ยงขึ้นเป็นที่พระศรีสุวรรณคีรี ปกครองเมืองสุวรรณคีรี ต่างพระเนตรพระกรรณ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเยี่ยมชาวกะเหรี่ยงที่เมืองสวนผึ้งในปี พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลปัจจุบันทรงพระเมตตาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พื้นที่ชุมชนอยู่เสมอๆ(ดังกล่าวแล้วข้างต้น) เพื่อส่งเสริมพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การพัฒนาชุมชน เป็นต้น พระมหากษัตริยไทย จึงเป็นสถาบันที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยงในพื้นที่ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น เป็นที่พึ่งและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยกะเหรี่ยงสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน

  • พระวอ หรือ พะวอ

         พระวอหรือพะวอ ชายชาตินักรบชาวกะเหรี่ยง ตำแหน่งนายด่านแม่ละเมา เมืองหน้าด่านของไทย สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  มีหน้าที่รักษาด่าน หาข่าว แจ้งเหตุการบุกรุก รุกล้ำแดนของข้าศึกศัตรู “พะ” เป็นคำนำหน้านาม แปลว่า “นาย” ส่วน “วอ” แปลว่า “ขาว” พะวอ คือนายขาว บุคลิกเป็นนักรบ ร่างกายกำยำ สูงใหญ่  ถือง้าวเป็นอาวุธ ใบหน้าดุดัน จริงจัง แววตาเมตตาปรานี เล่ากันว่า…

พุทธศักราช ๒๓๑๘  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงทราบข่าวว่า ด่านแม่ละเมาสามารถจับตัวนายครัวมอญที่แตกหนีทัพพม่าจากเมืองเมาะตะมะเพื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้ เมื่อสอบถามได้ความว่า อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพแห่งกรุงอังวะกำลังเตรียมทัพใหญ่ยกติดตามครัวมอญ  และจะเลยเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของประเทศไทย พระองค์ทรงมิได้นิ่งนอนพระทัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์พร้อมแม่ทัพนายกองไปสืบราชการศึก เพื่อป้องกันหัวเมืองหน้าด่าน

ต้นเดือน ๑๑ ปีมะแม พุทธศักราช ๑๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้ เชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าอังวะ จัดทัพใหญ่ทัพเดียวมายังประเทศไทย  มีแม่ทัพนายกองฝีมือดี พรั่งพร้อม เคลื่อนจากเมืองเมาะตะมะ ข้ามแม่น้ำต่องยิน แล้วจึงพักทัพ นายด่านพะวอ ทหารไทย ตั้งกองกำลังติดตามข่าวสารอยู่บนผาพะวอ เห็นการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  จึงส่งม้าเร็วแจ้งข่าวแก่เจ้าเมืองตาก เมืองระแหง เมืองกำแพงเพชร และเมืองอื่น ๆ ตามรายทางสู่เมืองหลวง แต่กลายเป็นว่า เมืองเหล่านั้น รับทราบถึงแสนยานุภาพกองกำลังพม่าที่ยกมาตีแล้วเกิดความกลัว จึงอพยพครอบครัวหนีไปก่อน

ปลายเดือนสิบเอ็ดปีเดียวกัน กองทัพอันเกรียงไกรของพม่า เคลื่อนทัพมาถึงด่านแม่ละเมา   พะวอตัดสินใจนำกำลังที่มีอยู่เข้าปะทะกับข้าศึกด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เพื่อขัดตาทัพ รอกำลังส่วนหนึ่งจากเมืองต่างๆ มาช่วยตามที่แจ้งข่าวไป นายด่านพะวอและทหารกล้าต่อสู้กับกองทัพพม่าด้วยความฮึกเหิมแม้จะรู้ดีว่า ถ้ากองกำลังทัพไทยมาช่วยไม่ทัน น้ำน้อยย่อมแพ้ แต่จักต้องสู้เพื่อศักดิ์ศรีในหน้าที่รับผิดชอบ  สุดท้ายกองทัพน้อยนายด่านพะวอทุกท่านเสียชีวิตด้วยคมอาวุธพม่าอย่างสมศักดิ์ศรีเกียรติภูมิชายชาตินักรบ ณ ยุทธภูมิด่านแม่ละเมา เชิงผาพะวอ

ปัจจุบัน มี“ศาลเจ้าพ่อพะวอ” บนเนินเชิงเขาพะวอ ริมถนนสายตาก – แม่สอด ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๖๒ – ๖๓ เป็นศาลที่ชาวเมืองแม่สอด ชาวเมืองตาก และชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งผู้คนจากถิ่นอื่นๆ  เคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง ต่างมากราบไหว้ ระลึกถึงคุณงามความดี เพื่อความเป็นศิริมงคล และเชื่อกันว่า “พะวอ”  ศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจ สามารถดลบันดาลความสุข ความสำเร็จแก่ผู้ที่มาสักการะบูชาได้

“พะวอ” เป็นบุคคลสำคัญยิ่งท่านหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน “พะวอ” เป็นคำที่นำความสุขมาสู่จิตใจของชาวไทยกะเหรี่ยงในพื้นที่ศึกษาเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ

  • พระศรีสวัสดิ์

พระศรีสวัสดิ์ เป็นชื่อตำแหน่งที่เป็นตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า เป็นหัวหน้าเขตพื้นที่ศรีสวัสดิ์ ตอนกลางแควใหญ่ เหนือเมืองกาญจนบุรี  ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ศรีสวัสดิ์ มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองกาญจนบุรี ในปี 2435 ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์ ขึ้นกับอำเภอเมืองกาญจนบุรี ปี 2444 ยกฐานะเป็นอำเภอ ต่อมาปี 2449 ได้ยุบเป็นกิ่งอำเภออีกครั้ง ขึ้นกับอำเภอสังขละบุรี แล้วยกมาขึ้นกับอำเภอเมืองกาญจนบุรีในปี 2467 ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอในปี 2508 จนถึงปัจจุบัน พระศรีสวัสดิ์ เป็นผู้นำคนสำคัญของพื้นที่นี้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่พระศรีสุวรรณได้ดูแลเมืองสุวรรณคีรี พระศรีสวัสดิ์ เป็นชื่อหนึ่งที่เป็นความภูมิใจของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยงในพื้นที่ศึกษาและในพื้นที่ทั่วไปจนกระทั่งปัจจุบัน

  • พระแม่กลอง /พระไหม๊ะโกร่ง

ชื่อผู้นำชาวกะเหรี่ยงท่านนี้ มีประวัติเผยแพร่ไม่มากนัก เป็นเพียงคำบอกเล่าของคนในพื้นที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ว่า “พระแม่กลอง” เป็นชาวกะเหรี่ยง เป็นผู้นำชุมชนในพื้นที่แม่กลองตอนบนของแควใหญ่  โดยยืนยันจากคำว่า “แม่กลอง” มาจากคำว่า “ไหม๊ะ” กับคำว่า “โกร่ง”ในภาษากะเหรี่ยง คำว่า“ไหม๊ะ” หมายถึงคู่ หรือเนื้อคู่ ส่วนคำว่า “โกร่ง” หมายถึงเจดีย์ เมื่อรวมเป็นคำว่า“ไหม๊ะโกร่ง”น่าจะหมายถึงแม่น้ำที่เกิดจากน้ำสองสายที่ไหลมาจากที่ตั้งเจดีย์มาบรรจบกัน เมื่อออกเสียงเป็นภาษาไทย จึงเพี้ยนมาเป็น“แม่กลอง”  พระแม่กลอง คือ ผู้นำชาวกะเหรี่ยง ที่ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองพื้นที่บริเวณที่แม่น่ำสายนี้ไหลผ่านในสมัยนั้น เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในปัจจุบัน

  • พระศรีสุวรรณคีรี

เป็นชื่อตำแหน่งการปกครองพื้นที่บริเวณแควน้อยตอนบน หรือที่เรียกว่า “เมืองสุวรรณคีรี” ซึ่งสมัยหนึ่งมีศูนย์กลางปกครองอยู่ที่บ้านสเน่พ่อง หมู่ ๑ ตำบลไล่โว่ ปัจจุบัน  ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงมาเป็น “เมืองสังขละบุรี” และเป็น “อำเภอสังขละบุรี” ในปัจจุบัน

“พระสุวรรณคีรี”  เป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสืบทอดมา ๕ ท่าน คือ…….

  • พระศรีสุวรรณคีรี ชื่อ ภะวะโพ่
  • พระศรีสุวรรณคีรี ชื่อ กรมเมจะ
  • พระศรีสุวรรณคีรี ชื่อ ย่งตะมุ
  • พระศรีสุวรรณคีรี ชื่อ ปะด่งภู่
  • พระศรีสุวรรณคีรี ชื่อ ทะเจียงโปรย

ตำแหน่ง “พระศรีสุวรรณคีรี” ดำรงสืบกันมาถึงปี ๒๔๔๕  จากนั้นจึงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแบบใหม่ สมัยรัชกาลที่ ๕ ตำแหน่งพระสุวรรณคีรี องค์ที่ห้า(ทะเจียงโปรย เสตะพันธ์)เป็นเจ้าเมืองท่านสุดท้าย  ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอสังขละบุรี ต่อย้ายเมืองจากสะเน่พ่องออกมาอยู่ที่สังขละบุรี ปกครองระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๕ – ๒๔๖๗ (มณฑลราชบุรี สมุดราชบุรีพระนครโรงพิมพ์ไทย พ.ศ. ๒๔๖๘ หน้า ๒๔)

ยุคพระศรีสุวรรณคีรี ชุมชนไม่ต้องจ่ายภาษี แต่ต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยสะสมสะเบียงไว้สำหรับกองทัพที่จะขึ้นมาตรวจเขตชายแดน  และต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเพื่อถวายน้ำพิพัฒน์สัตยาตามธรรมเนียมที่ขึ้นในกรุงเทพมหานครฯ ทุกปี  การเดินทางเข้าเฝ้าแต่ละครั้ง พระสุวรรณคีรีได้นำคณะศิลปวัฒนธรรมมาแสดงถวายหน้าพระที่นั่งด้วย มีทั้งดนตรี การแสดง การละเล่น เล่ากันว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ได้พระราชทานรางวัลเป็นเงินทองให้ทุกปี  ดังที่ชาวบ้านกองม่องทะเล่าให้ฟังว่า “แม่เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งพ่อของเขาต้องเดินทางเข้าวังเพื่อแสดงดนตรีถวายหน้าพระที่นั่งกับคณะของพระศรีสุวรรณคีรี ขณะที่แม่กำลังจะคลอดตน เมื่อกลับมา แม่คลอดตนแล้ว พ่อได้รางวัลเป็นเงินมาจำนวนหนึ่ง สิ่งที่พ่อไปแสดงคือการแสดงเสือกระโดด กับเล่นดนตรีพื้นบ้านกะเหรี่ยงถวายหน้าพระที่นั่ง ซึ่งเป็นวงคล้ายกับวงดนตรีไทยปัจจุบัน เครื่องดนตรีชุดนั้นยังคงอยู่กับครอบครัว และตนเอง(ผู้เล่า)ยังคงสืบทอดวิชาดนตรีต่อจากพ่อ ปัจจุบันยังคงบรรเลงดนตรีในงานต่างๆ เป็นประจำ”

พระศรีสุวรรณคีรี  เป็นบุคคลที่สร้างเกียรติยศ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรี แก่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เรื่องราวของท่านยังคงเป็นความภูมิใจ และเป็นหลักฐานสำคัญแสดงลักษณะการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งบทบาทหน้าที่ในการรร่วมสร้างสรรค์ความมั่นคงแก่สังคมไทยโดยภาพรวม

 

แหล่งอ้างอิง

คณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตำบลไล่โว่.  (2558). โครงการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเสริมพลังการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลไล่โว่ และตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *