บ้านไล่โว่-ซาลาวะ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

 ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน

บ้านไล่โว่  หมู่ที่ ๔ ตำบลไล่โว่  เป็นหมู่บ้านที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยงตั้งบ้านเรือนมามากกว่า ๑๖๐ ปี (ประมาณปี ๒๓๘๓) เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “ไล่โว่” ตามลักษณะของ“หินแดง” ขนาดใหญ่ ที่ปรากฏอยู่บน“หน้าผาชัน”มองเห็นโดดเด่นจากพื้นที่หมู่บ้าน เลยกลายเป็นลักษณะเด่นของพื้นที่ เห็นสวยงามแต่ไกล เป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็น เมื่อจัดตั้งเป็นตำบลจึงได้นำชื่อ“ไล่โว่” เป็นชื่อตำบล ชุมชนมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ พื้นที่อาศัยและทำการเกษตร ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ พื้นที่สาธารณะ  ๒๐๐  ไร่ พื้นที่ป่าไม้  ๓๐๐  ไร่

ลักษณะพื้นที่ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก มีลำห้วยห้วยซาละวะ และห้วยทิมู่คี่ ไหลผ่านตลอดหมู่บ้าน เป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงชาวบ้านให้ได้ทำมาหากิน ลำห้วยคดเคี้ยวไปมาตามหุบเขา สร้างบรรยากาศร่มเย็นเงียบสงบท่ามกลางป่า ยามเช้าสายหมอกปกคลุมเกือบทุกฤดูกาล ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่ม กระจายกันไปตามลำห้วย  มีกลุ่มบ้านใกล้เคียงที่จัดอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันคือบ้านซาลาวะ เป็นหมู่บ้านที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่มาของชื่อหมู่บ้าน“ซาลาวะ” มาจากชื่อสารวัตรคนหนึ่งได้ก่อสร้างเจดีย์ไว้ใกล้ลำห้วย ต่อมาได้เดินทางออกจากหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงนำคำว่าสารวัตรมาเรียกเป็นชื่อลำห้วยว่า“ห้วยสารวัตร” แต่ชาวบ้านออกเสียงเป็น “ลำห้วยซาลาวะ” เมื่อหน่วยงานของรัฐเข้าไปสำรวจหมู่บ้าน ไม่ปรากฏว่ามีชื่อ ชาวบ้านได้ปรึกษาหารือและตกลงเอาชื่อลำห้วยสารวัตรตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้านมาจนถึงทุกวันนี้ ชุมชนทั้ง ๒ แห่งนี้ ห่างกันโดยเดินประมาณ ๓ ชั่วโมง มีสัมพันธ์เป็นเครือญาติเป็นส่วนใหญ่ มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน ไปมาหาสู่กัน คนที่ไปตั้งบ้านเรือนที่ซาลาวะ ส่วนใหญ่ไปจากบ้านไล่โว่

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ โดยรอบหมู่บ้าน     เป็นป่าเขาสลับคดเคี้ยว อากาศร้อนชื้น แบ่งภูมิอากาศ ออกเป็น  ๓  ฤดู คือหน้าร้อนช่วงเดือนกุมภาพันธ์  – เมษายน อากาศไม่ร้อนมากนัก หน้าฝนช่วงเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน มีฝนตกชุกยาวนาน หน้าหนาวช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม เป็นช่วงที่มีอากาศเย็นและหนาวจัด

อาณาเขตหมู่บ้าน  บ้านไล่โว่  อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสังขละบุรี ประมาณ  ๔๕  กิโลเมตร หรือถ้าเดินจากน้ำตกตะเคียนทองใช้เวลาประมาณ ๔ ชั่วโมง ทิศเหนือติดต่อประเทศเมียนม่าร์ ทิศตะวันออกติดต่อบ้านทิไล่ป้า ตำบลเดียวกัน ทิศใต้ติดต่อบ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลเดียวกัน ทิศตะวันตกติดต่อประเทศเมียนม่าร์ ส่วนอาณาเขตที่ตั้งของบ้านซาลาวะ ทิศเหนือติดต่อบ้านทิไร่ป้า  ทิศตะวันออกติดต่อบ้านไล่โว่ ทิศใต้ติดต่อหน่วยพิทักษ์ป่าไม้ตะเคียนทอง และทิศตะวันตกติดต่อประเทศเมียนม่าร์

ข้อมูลประชากรทั้งสองชุมชน

จำนวนประชากรหญิง–ชาย แยกตามอายุ(วัยแรงงานวัยการศึกษา วัยเด็ก วัยชรา) ปี ๒๕๕๔

ช่วงอายุประชากร จำนวนเพศชาย(คน) จำนวนเพศหญิง(คน) จำนวนรวม(คน)
น้อยกว่า ๑ ปีเต็ม ๑๐
ตั้งแต่ ๑ ปีเต็ม –  ๒ ปี ๑๐ ๑๙
ตั้งแต่ ๓ ปีเต็ม – ๕ ปี ๑๒ ๑๐ ๒๒
ตั้งแต่ ๖ ปีเต็ม –  ๑๑ ปี ๒๘ ๑๖ ๔๔
ตั้งแต่ ๑๒ ปีเต็ม – ๑๔ ปี ๑๕ ๑๐ ๒๕
ตั้งแต่  ๑๕ ปีเต็ม – ๑๗ ปี ๑๖
ตั้งแต่ ๑๘ ปีเต็ม – ๔๗ ปี ๗๐ ๖๐ ๑๓๐
ตั้งแต่ ๕๐ ปีเต็ม – ๖๐ ปีเต็ม ๑๐ ๑๘
มากกว่า ๖๐ ปีเต็มขึ้นไป ๑๔
รวมทั้งหมด ๑๖๙ ๑๒๙ ๒๙๘

ที่มา :  องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ ปี ๒๕๕๕

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  หมู่บ้านมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบทำนา และเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผักทุกชนิด มีแหล่งน้ำที่สะอาดไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาได้หลากหลายชนิด ในพื้นที่ชุมชนมีปลูกผลไม้ หมาก มะพร้าว ขนุน ส้ม ฯลฯ รวมทั้งพืชผักต่างๆ ที่ใช้ในการบริโภคในครัวเรือน ครัวเรือนใช้น้ำประปาภูเขา  คุณภาพแหล่งน้ำผิวดินสะอาดเหมาะแก่การอุปโภค บริโภค และใช้ทางการเกษตร ครัวเรือนมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรเพียงพอตลอดทั้งปี

ลักษณะสังคมและวัฒนธรรม  ชีวิตความเป็นอยู่คนในชุมชนบ้านไล่โว่-ซาลาวะ เป็นแบบพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือกันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันในชุมชน มีวิถีชีวิตพออยู่พอกิน เรียบง่าย  ยึดมั่นในศาสนาและความเชื่อ ชาวบ้านส่วนใหญ่ในบ้านไล่โว่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนชาวบ้านซาลาวะส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมโบราณ มีพิธีกรรมทางศาสนา เช่น งานบวช งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ  มีวัดไล่โว่ เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นที่ตั้งของสิ่งศักดิ์ประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านเคร่งครัดในวัฒนธรรมและประเพณี มีการจัดงานต่าง ๆ ทั้งวันสำคัญทางศาสนาและวันสำคัญทางประเพณี เช่น แห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีลอยกระทง ประเพณีวันสงกรานต์  ประเพณีกินข้าวใหม่ ประเพณีฟาดข้าว เป็นต้น

ลักษณะการปกครอง หมู่บ้านไล่โว่ เป็นหมู่บ้าน อพป.(อาสาพัฒนาป้องกันหมู่บ้านตนเอง)ชุมชนมีกลุ่มผู้นำชุมชน  กลุ่ม องค์กร เครือข่ายชุมชน ตามแบบแผนการปกครองของราชการและองค์การบริหารส่วนตำบล คือ มีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. อสม. ประจำหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน กรรมการกองทุนเศรษฐกิจชุมชน (อบต.ไล่โว่) คณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ รวมทั้งมีคณะกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่าง ๆ ครบถ้วน คือ ฝ่ายพัฒนา ฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณะ ฝ่ายศึกษาและวัฒนธรรม ฝ่ายการคลัง  ฝ่ายสวัสดิ์การและสังคม  ฝ่ายเยาวชน  ฝ่ายกิจการสตรี  คณะกรรมการแต่ละฝ่าย เปิดโอกาสให้คนในชุมชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างกว้างขวาง

การศึกษาของประชาชน   คนอายุ ๖ – ๑๕ ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ ส่วนคนอายุ ๑๕ – ๖๐ ปี รู้หนังสือพออ่านออกเขียนชื่อตัวเองได้บ้าง บางคนพออ่านภาษาไทยได้ บางคนอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ แต่อ่าน เขียนภาษากะเหรี่ยงได้

สุขภาพของประชาชน  ไม่มีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑ ปีเสียชีวิต  ไม่มีคนตายด้วยโรคระบาด เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วยเล็กน้อย คนส่วนมากเริ่มต้นรักษา(ตามอาการ)ด้วยยาสมุนไพรบ้าง ด้วยบริการรักษาจาก อสม. หรือศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนบ้าง ไม่มีชาวบ้านที่เจ็บป่วยเนื่องจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไม่มีผู้ใช้สารเสพติดที่เป็นปัญหา

ลักษณะเศรษฐกิจ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรควบคู่กับภารกิจการอนุรักษ์ป่าไม้ พืชหลักที่ปลูกได้แก่ ข้าวไร่ พริกกะเหรี่ยง พริกไทย กล้วย หมาก มะม่วงหิมพานต์ พืชผักต่าง ๆ มะพร้าว เลี้ยงวัว ควาย และปลา ไว้กินในครัวเรือนหรือในหมู่บ้าน เป็นแบบเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆ คือทำการเกษตรเพื่อยังชีพ มีไร่หมุนเวียนเป็นแกนหลักของครอบครัว ปัจจัยจำเป็นในการดำรงชีพส่วนใหญ่ได้จากไร่หมุนเวียน และจากป่า วงจรการทำการเกษตรเป็นไปตามจังหวะฤดูกาล  รอบปีหนึ่งๆ สิ่งจำเป็นที่สุดคือข้าว ต้องผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคในครอบครัว ส่วนสิ่งอื่นๆ จะได้จากไร่ นำมาเก็บไว้บริโภค แบ่งปัน แจกจ่าย หรืออาจจะแบ่งจำหน่ายได้บ้างหากเหลือกิน ผลผลิตสำคัญของหมู่บ้าน คือ ข้าวไร่  ข้าวนา พริกกะเหรี่ยง ฟัก แฟง แตง ข้าว โพด เผือก มัน ยาสูบ เมล็ดกาแฟ รวมทั้งพืชผัก ผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ส้มโอ หากเหลือบริโภคในครัวเรือน สามารถนำไปขายหรือแบ่งปันคนอื่น ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ผ้าทอพื้นบ้าน  เครื่องจักสาน บางครอบครัวผลิตจำหน่ายบ้าง ไม่มีตลาดในหมู่บ้านมีแต่ร้านค้าของซำ จำนวน ๕ ร้าน มีขายก๋ยวเตี๋ยวด้วย  การหาซื้อสิ่งของที่จำเป็นเมื่อไม่มีในหมู่บ้านต้องออกไปซื้อที่ตลาดสังขละบุรี หากไม่สามารถไปได้ต้องฝากคนอื่น

แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์หลายแห่ง เป็นต้นว่า น้ำพุถ้ำ  เขาไล่โว่  น้ำตกทิมุงทอง ป่าธรรมชาติ ห้วยซาลาวะ ป่าไม้ธรรมชาติ  ต้นไม้ยักษ์ ซึ่งยังคงมีความเป็นธรรมชาติน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาไล่โว่  เป็นภูเขาสูง มีหน้าผาลาดชัน ท้าทายผู้ชอบปีนป่าย เมื่อปีนขึ้นไปถึงยอดเขา จะได้ชมวิวทิวทัศน์อันงดงามกว้างขวางรอบทิศของผืนป่าเป็นรางวัล

ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และปราชญ์ชาวบ้าน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆในชุมชน ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน เป็นต้นว่า นายก้องเคียว สังขสุวรรณ  หมอสมุนไพร นางช่วย  เคียวหนี หมอตำแย นางยงต่วย คุณก้องยืนยง ครูรำตง นายง่วย เครื่องจักสาน  นายก้องเคียว ผู้นำด้านพิธีกรรม ปราชญ์ชาวบ้านเหล่านี้ ถือเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้าน เมื่อเกิดมีภารกิจใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับใคร ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านนั้นๆ จะเป็นผู้นำคนในชุมชนในเรื่องนั้นๆ  อย่างไรก็ตาม คนในชุมชนเริ่มบ่นว่า คนรุ่นใหม่ในชุมชนสนใจศึกษาเรียนรู้น้อยลง เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้เรียนรู้ฝึกฝนมากนัก พวกเขาอาจจะรู้จักเครื่องมือเครื่องใช้ ยังใช้สิ่งเหล่านั้นอยู่ แต่ไม่สามารถ สร้างขึ้นใช้เองได้ ทำให้หมู่บ้านขาดกระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นต่อไป ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านั้นยังจำเป็นต่อวิถีดำรงชีพ

สถานการณ์ชุมชน

สถานการ์สำคัญของหมู่บ้าน กลุ่มผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ชุมชน เพื่อค้นหาปัญหา สาเหตุและแนวทางแก้ไขตามแผนการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ และชุมชน โดยสรุปสถานการณ์ชุมชนด้านต่างๆไว้ดังนี้……

ด้านกายภาพ  ฤดูฝนหน้าดินพังทลายเป็นพื้นที่กว้างทุกปี  มีผลกระทบต่อการเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้าน ตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะ บางพื้นที่เกิดไฟป่าไหม่ซ้ำซากทุกปี ทำให้ป่าไม้ถูกทำลาย  รวมทั้งปัจจุบันมีการนำสารเคมีมาใช้เพิ่มขึ้น ทำให้ดินเสื่อมสภาพรวดเร็วขึ้น  และตกลงร่วมกันว่าชุมชนต้องช่วยกันดูแล  ปลูกป่าทดแทน ลดภาวะการนำสารเคมีมาใช้ ลดภาวะการใช้พื้นที่แบบถาวร เน้นการใช้พื้นที่ไร่หมุนเวียนตามแบบแผนภูมิปัญญาพื้นบ้าน คือ เมื่อทำไร่แล้วต้องทิ้งพื้นที่ให้ต้นไม้เติบโตขึ้นใหม่นาน ๗- ๑๐ ปี จึงจะกลับมาทำไร่ใหม่อีก

ด้านการคมนาคม การเดินทางเข้าออกลำบากมาก คนหนุ่มเดินเท้ายามหน้าแล้งจากสังขละบุรีใช้เวลา ๖ – ๘ชั่วโมง ฤดูฝนจะลำบากเพิ่มขึ้น สาเหตุเพราะเป็นพื้นที่สูงชัน อยู่ในเขตป่าเขา มีลำธารน้ำตกตลอดทาง หน้าฝนหนทางลื่น และอาจมีต้นไม้ กิ่งไม้หักขวางทางได้เสมอ คนในชุมชนเห็นว่าในคราวจำเป็นจริงๆ สมควรใช้พาหนะอย่างอื่นแทนรถบ้าง เช่น ช้าง ม้า เป็นต้น

ด้านเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่ยากจน มีรายได้เป็นเงินทองไม่มากและไม่สม่ำเสมอ รายได้ที่เป็นเงินทองไม่สมดุลกับรายจ่าย  แหล่งรายได้ที่เป็นเงินทองไม่แน่นอน เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรกรรม เมื่อเหลือบริโภคแล้วจึงเอาไปขาย การผลิตต้องอาศัยธรรมชาติ  ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อบริโภค การคมนาคมอาจจะมีส่วนทำให้รายได้ของคนในชุมชนต่ำ รวมทั้งครอบครัวมีลูกหลายคนมีส่วนทำให้ครอบครัวมีรายได้ลดลงด้วย  ชุมชนลงความเห็นว่าควรส่งเสริมความรู้ด้านการทำการเกษตรแก่ชาวบ้านที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาและประสบการณ์เดิม บนรากฐานของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตให้สามารถเก็บรักษาได้นาน จะทำให้ขนส่งออกมาขายในชุมชนอื่นๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้การศึกษาการคุมกำเนิดแก่ชาวบ้าน

ด้านการติดต่อสื่อสาร พื้นที่ในหมู่บ้านไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับภายนอกได้ เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องปีนยอดเขาไล่โว่เพื่อหาสัญญาณโทรศัพท์ จึงจะสามารถติดต่อกับภายนอกได้ เพราะพื้นที่ห่างไกล อยู่ในพื้นที่ไม่มีเขตสัญญาณโทรศัพท์ แม้ได้ติดตั้งจานดาวเทียม IPSTAR และจานดาวเทียมเพื่อการศึกษาสามารถรับชมและติดต่อสื่อสารได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ปัจจุบันเครื่องเสีย ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ชาวบ้านเห็นว่าถ้าเห็นว่า การสื่อสารเป็นปัญหาหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ไข ลำพังชาวบ้าน ไม่มีความสามารถจะดำเนินการได้  ทั้งนี้คนนอกชุมชนมักมองว่า ชาวบ้านไม่มีการสื่อสารสมัยใหม่ และคิดว่าจะกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต แต่ชาวบ้านกลับมองว่ายังไม่จำเป็นนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์อื่นๆ

ด้านแหล่งน้ำ ตามปกติชาวบ้านใช้น้ำในห้วยบริโภคอุปโภคได้ตลอดปี ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร ใช้น้ำฝนตามฤดูกาล หากฝนไม่ตกต้องตามฤดกาลจะมีความเดือดร้อนบ้าง  หากได้ขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้บ้าง หรือการวางระบบชลประทานทดน้ำห้วยไปยังที่ทำการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่บ้าง จะช่วยให้การทำการเกษตรมั่นคงมากขึ้น

ด้านสาธารณสุข วิถีการใช้ชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีห้องน้ำ ห้องส้วม ไม่มีระบบคูน้ำ ระบายน้ำเสีย เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นแบบพอเพียง เน้นการใช้ประโยนช์ขั้นพื้นฐาน สวมใส่เท่าที่จำเป็น ด้านภาวะโภชนาการก็เป็นไปตามที่หาได้มาจากธรรมชาติ ไม่ได้จำแนกว่าอาหารที่บริโภคจะมีธาตุอาหารครบ ๕ หมู่หรือไม่  ไม่มีบริการสาธารณสุขในชุมชน อาจจะเป็นเพราะประชาชนมีรายได้น้อย  อยู่ห่างไกล  ไม่มีความจำเป็นในการติดต่อกับเมืองมากนัก เป็นการใช้ชีวิตที่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นแกนตามแบบแผนวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงความเห็นว่าสมควรช่วยเหลือพัฒนาส่งเสริมในสิ่งที่จำเป็น และต้องเป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดหาหรือขนส่งวัสดุตลอดถึงแนะนำวิธีการสร้างห้องส้วมที่ถูกต้องส่งเสริมการผลิตน้ำยาซักผ้าไว้ใช้เองในครัวเรือน

ด้านการเมืองการปกครอง ส่วนหนึ่งเป็นไปตามระเบียบของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกส่วนหนึ่งเป็นไปตามแบบแผนวัฒนธรรมชุมชนที่สืบต่อมาจากโบราณ  สถานการณ์ที่เกิด คือ โครงการต่างๆ ที่กำหนดไว้ ไม่ได้เป็นไปตามความจำเป็นและเป็นความต้องการของชาวบ้าน ส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินการ อาจแป็นเพราะผู้นำชุมชนไม่มีความรู้เรื่องการเขียนโรงการ การเสนอโครงการ และติดตามผลโครงการ ไม่มีอำนาจต่อรองกับองค์กร ชุมชนไม่มีรายได้ ไม่จ่ายภาษีใดๆ ให้กับท้องถิ่น และขาดความรู้ในกฏหมายและระเบียบต่างๆ

ด้านการศึกษา  มีลักษณะเดียวกับชุมชนอื่นๆ คือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือมีการศึกษาต่ำ ไม่จบชั้นประถมศึกษา   นักเรียนที่เรียนไม่ได้วุฒิบัตรที่จะเป็นใบเบิกทางอ้างอิงเพื่อประโยชน์ในการทำงาน  การจัดการเรียนการสอนที่มีอยู่ขาดสื่อการเรียนการสอนที่ดี ขาดบุคลากร เนื่องจากโรงเรียนในชุมชน เป็นเพียงห้องเรียนพิเศษสาขา โรงเรียนบ้านกองม่องทะ  ได้รับการสนับสนุนสิ่งต่างๆ ไม่เพียงพอ  ชุมชนยังเห็นความสำคัญในการศึกษาของบุตรหลานไม่มาก สาระความรู้ที่นำมากสอนแปลกแยกปจากบริบทรอบข้างของนักเรียนหรือแยกส่วนไปจากวิถีชีวิต ชุมชนเสนอว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนบทเรียนผู้เกี่ยวข้องสมควรทำความเข้าใจกับชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนให้มากขึ้น

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  บริบทชุมชนปัจจุบันพบเห็นสัตว์ป่าและไม้ขนาดใหญ่ใหญ่ลดลง ประชากรชุมชนเพิ่มมากขึ้น ต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น สัตว์ป่าเริ่มหนีเข้าไปอยู่ในป่าลึก ขอบเขตพื้นที่ชุมชนเริ่มขยายเพิ่มขึ้น จึงสมควรฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นบ้าน แล้วนำมาใช้เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ละเว้นการใช้พื้นที่ต้องห้ามตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน ส่งเสริมการปล่อยสัตว์พื้นบ้านสู่ป่าให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และปลูกป่าทดแทน เพื่อจะได้ป่าและสัตว์ป่ากลับคืนมา

สถานการณ์สำคัญของชุมชนดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่กำหนดโดยหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีชาวบ้านรับรู้บ้าง รู้เรื่องบ้างบางเรื่อง ไม่เห็นด้วยบางเรื่อง ด้วยไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการวางแผนลักษณะนั้นๆ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยอมรับว่าสถานการณ์เป็นไปตามนั้น  และสิ่งที่ชาวบ้านต้องการทำความเข้าใจ คือ การทำไร่หมุนเวียน ที่มักเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ว่าพื้นที่ตรงไหนถางทำไร่ได้ ตรงไหนถางทำไร่ไม่ได้ ตามหลักการที่ตกลงกันว่า การถางทำไร่หมุนเวียนต้องเป็นไร่ซากเท่านั้น แต่เมื่อถางแล้วมีข้อถกเถียงว่า ไม่ใช่ไร่ซาก ขณะที่ชาวบ้านยืนยันว่าเป็นไร่ซาก ชาวบ้านคิดว่านี้คือสถานการณ์สำคัญที่ชาวบ้านต้องการแก้ไขร่วมกันอย่างเร่งด่วน

การพัฒนาหมู่บ้านในรอบ ๕ ปี ที่ผ่านมา ในปี ๒๕๕๑ หมู่บ้านได้รับโครงการพัฒนา ๔ โครงการ คือ โครงการเลี้ยงปลาในบ่อดินโครงการปลูกพืชแบบเศรษฐกิจพอเพียง โครงการส่งเสริมการทอผ้าพื้นบ้าน โครงการจัดทำฝายชะลอน้ำ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากงานอยู่ดีมีสุข จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท  ผลการดำเนินงานไม่ปรากฏรูปธรรมชัดเจน ไม่ต่อเนื่อง โครงการอื่นๆที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขียนไว้ว่าจะดำเนินการในปีต่อๆ ไป เป็นต้นว่า  โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ  โครงการต่อเติมน้ำประปาในหมู่บ้านและถังพักน้ำโครงการฝายแม้วรักษาธรรมชาติ โครงการปรับปรุงบริเวณน้ำที่พักนักท่องเที่ยวโครงการผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เช่น ผู้สูงอายุ (จัดอบรมผู้สูงอายุ) โครงการส่งเสริมอาชีพข้าวซ้อมมือ โครงการส่งเสริมอาชีพการทอผ้ากะเหรี่ยงโครงการส่งเสริมและพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก/ศศช.ไล่โว่ และสนามหญ้า  โครงการการเกษตรไร่นาสวนผสมโครงการสะพานข้ามห้วยน้ำ โครงการต่อเติมอาคารเรียนรู้ศูนย์เด็กเล็กโครงการพริกกะเหรี่ยงและเครื่องอบแห้งโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ครูภาษากะเหรี่ยง/ รำตง โครงการประเพณีฟาดข้าว โครงการประเพณีทำบุญข้าวใหม่ โครงการปรับปรุงและซ่อมแซมบ่อปลา  โครงการสร้างโรงอาหารโรงเรียน ฯลฯ จนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่ได้การดำเนินการ และมีบางโครงการที่เข้ามาใหม่

ทัศนะของชาวบ้าน เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาอะไร ที่จะลงมา หรือเปลี่ยนแปลงไปแล้วนำลงมา ชาวบ้านรับได้ทั้งนั้น ขอให้ดำเนินการตามแผนนั้นๆ จริง และมีเป้าหมายเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขแก่ชาวบ้าน  ชาวบ้านไม่เคยขัดแย้งกับแผนพัฒนาใดๆ เพราะในหมู่บ้านยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมในเรื่องดังกล่าว ได้อะไรมาก็ถือว่าจำเป็นทุกอย่าง

ความต้องการหรือทิศทางการพัฒนาหมู่บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้นำชุมชน ร่วมกันกำหนดทิศทางที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาหมู่บ้านไว้ว่า อยากเห็นบ้านไล่โว่เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการส่งเสริมการกักเก็บและกระจายน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ มีการฟื้นฟูคุณภาพดินเพื่อการเกษตร มีการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะการประกอบอาชีพที่ทันสมัย สามารถลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรมีจิตสำนึกในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยคนในหมู่บ้านมีนิสัยในการเรียนรู้ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิต  มีค่านิยมในการออมทรัพย์ ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และประกอบอาชีพเกษตรผสมผสาน

 

แหล่งอ้างอิง

คณะนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตำบลไล่โว่.  (2558). โครงการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเสริมพลังการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลไล่โว่ และตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *