จังหวัดกาญจนบุรีจัดพิธีมอบลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”

ความเป็นมาของผ้ามัดหมี่ลายขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

ในครั้งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานในงาน OTOP City 2020 ทรงมีพระดำรัสความว่า “ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จย่า สมเด็จพระพันปีหลวงมาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นท่านทรงงานและรับรู้ถึงความทุ่มเทของพระองค์ท่านในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและสืบสานภูมิปัญญาไทยมาโดยตลอด เห็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง

ข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะสืบสานพระราชปณิธาน โดยข้าพเจ้าได้นำประสบการณ์การทำงาน การศึกษาเดินทางไปชมผ้าไทย และงานหัตถกรรมพื้นบ้านตามภาคต่าง ๆ ทำให้เห็นผลงานที่สามารถนำมาพัฒนาให้ร่วมสมัยและเป็นสากลได้ จากการค้นคว้า เก็บข้อมูล ลงพื้นที่จริง

ข้าพเจ้าจึงได้ออกแบบลายผ้ามัดหมี่มอบให้ช่างทอผ้าเป็นของขวัญปีใหม่ โดยออกแบบลายให้มีความหมายถึงการส่งมอบความรัก ความสุข ให้ชาวไทยทุกคน เป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลายผ้าออกแบบให้ร่วมสมัย ใช้ได้จริง ในหลายโอกาส”

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงออกแบบลายมัดหมี่พระราชทานช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ที่ทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิ

  1. ลาย S หมายถึง Sirivannavari
  2. ลาย S จำนวน ๑๐ แถว หมายถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
  3. ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึงความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน = Eternal Love

 

    การถอดหมี่ลายขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จำนวน 45 ลำ

           1. การค้นหมี่

1.1. ค้นหมี่เกล็ด ๔ สอด จำนวน 45 ลำ 30 เที่ยว ค้นเส้นเดียว

1.2. ต้องพาดเชือกทุกรอบ จนครบ 30 เส้น ทั้งไปและกลับ

2. การมัดเพื่อเอาลวดลาย

2.1. การมัดเริ่มจากขวาไปซ้าย ห่างจากขอบ 1.5 นิ้ว

2.2. ขีดเส้นบนหัวหมี่ความห่างของช่อง 0.5 เซนติเมตร

2.3. นำฟางที่เตรียมมัดมาฉีกให้หน้ากว้างของฟาง 0.5 เซนติเมตร ความยาว 30 เซนติเมตร

2.4. การเริ่มมัดจะเริ่มมัดที่ปลายเชิงขึ้นไปโดยมัดตามช่องที่เราขีดไว้ตามลวดลายในกราฟที่กำหนด โดยเริ่มมัดลายเชิง และลายขอเอสเล็ก และเริ่มมัดรูปหัวใจซ้อนกันเป็นหัวใจกลับ และหัวใจตั้งสลับกันจนครบ 45 ลำ โดยวิธีการมัดโอบ

2.5. เริ่มมัดลายขอเอสใหญ่ โดยเริ่มจากกลางหัวใจตัวที่ 2 และตัวที่ 4 (ลำที่ 12) เริ่มมัดยอดตัวเอส กลางตัวที่ 5 (ลำที่ 4) เป็นลายตุ้มหมากจับ 3 มัดขึ้นไปข้างละ 2 ดอก มัดเฉียงไปทางด้านซ้ายมือเหมือนกันทั้ง 2 ดอก

2.6 .ดอกแถวตัวเอสตัวที่ 2 ให้อยู่ตรงกลางหัวใจตัวที่ 3 (ลำที่ 34 ) โดยให้นับยอดหักมุมขึ้นไป 2 ช่อง จะอยู่ตรงกลางหัวใจตัวที่ 3 แล้วมัดหมากจับตุ้มเหมือนกันกับข้อ 1 ไปทางเดียวกันกับแถวแรก

2.7. แถวที่ 3 ให้มัดเหมือนกันกับแถวที่ 1 ทุกลำ

2.8. แถวที่ 2 จะมัดเหมือนแถวที่ 4 ทุกลำ สลับจนครบ 10 แถว จะได้ตัวเอส 10 ตัว

3. การย้อมหัวหมี่

1. นำหัวหมี่มาแช่ในน้ำ นาน 15-20 ชั่วโมง เพื่อให้เส้นไหมขยายตัว และอิ่มน้ำ

2. นำหัวหมี่ที่แช่น้ำบิดให้หมาดแล้วมากระตุกให้เส้นไหมเรียงตัว

3. นำไปย้อมสีตามที่ต้องการ

         4. การปั่นหลอด

1. ปั่นหลอดด้านเดียว เริ่มจากลำหมี่ด้านซ้ายมือปั่นไปจบทางด้านขวา แล้วเด็ดเส้นไหมตรงเชือกที่พาดหมี่

2. เด็ดเส้นไหมลำแรกด้านซ้ายมือ เส้นไหมที่กง (ระวิง)จะหมุนจากด้านบนไปถึงลำขวาสุดไม่ต้องเด็ดเส้นไหม

3. เส้นไหมมัดหมี่ที่เด็ดไว้ด้านซ้ายมือ กง (ระวิง) จะหมุนเส้นไหมลงด้านล่าง จนถึงลำขวาสุดที่ติดกับเชือกพาดหมี่จึงเด็ดเส้นไหม

4. หลอดที่ 4 ทำเหมือนหลอดที่ 2 , หลอดที่ 5 ทำเหมือนหลอดที่ 1 ทำสลับกันจนหมดจำนวนเส้นเชือกที่ฟาดหัวหมี่ไว้

จังหวัดกาญจนบุรีจัดพิธีมอบลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

จังหวัดกาญจนบุรีจัดพิธีมอบลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงประทานพระอนุญาตแบบลายมัดหมี่แก่ช่างทอผ้าและประชาชนชาวไทย  เมื่อวันที่  11 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น. ที่ บริเวณโถงกลางชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานในพิธีมอบลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงประทานพระอนุญาตแบบลายมัดหมี่แก่ช่างทอผ้าและประชาชนชาวไทย โดยกลุ่มทอผ้าภายในจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 12 กลุ่ม จากอำเภอเลาขวัญ ทองผาภูมิ ท่าม่วง ห้วยกระเจา พนมทวน ศรีสวัสดิ์ เข้ารับมอบลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”และหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เข้าร่วมพิธีฯ

 

เนื่องในโอกาสวันที่ 8 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จังหวัดกาญจนบุรี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาญจนบุรีจัดพิธีมอบแบบลายผ้ามัดหมี่ ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เพื่อมอบลายผ้ามัดหมี่แก่กลุ่มทอผ้าภายในจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 12 กลุ่ม จากอำเภอเลาขวัญ ทองผาภูมิ ท่าม่วง ห้วยกระเจา พนมทวน ศรีสวัสดิ์ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้าหรือผลิตผ้าได้ ตามพระราชดำริที่ประสงค์ให้เกิดความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค ภายใต้คอนเซปต์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายมัดหมี่พระราชทานช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งทุกลวดลายเปี่ยมด้วยความหมาย เพื่อมุ่งจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน อาทิ

-ลาย S หมายถึง Sirivannavari สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

-ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

-ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน = Eternal Love

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดกิจกรรมการแต่งกายชุดผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นประจำในทุกเดือนด้วย

แหล่งอ้างอิง

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี : ข่าว/ภาพ URL :  https://youtu.be/QJq-kn6ehuk

Loading