ศาลหลักเมืองกาญจนบุรี

 

ถนนหลักเมือง ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี (อยู่ทางทิศตะวันออกของประตูเมือง) สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเมืองกาญจนบุรีขึ้นใหม่ ในบริเวณนี้เรียกว่า “หน้าเมือง” ศาลหลักเมืองคือมิ่งขวัญ เป็นหลักชัยศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้งจังหวัด ด้วยความศรัทธาปูชนียสถานอันเป็นที่สิงสถิตของพระเสื้อเมือง พระทรงเมืองและพระหลักเมือง

พระเสื้อเมือง คือเทวดาผู้คุ้มครองป้องกันภัย ทั้งทางบกทางน้ำจากอริราชศัตรู รักษาเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข

พระทรงเมือง คือเทวดาผู้ดูแล กระทรวง ทบวง กรม ตลอดจนทุกข์สุขของประชาชน

พระหลักเมือง คือเทวดาประจำเมืองผู้ปกป้องผองภัย ช่วยให้บ้านเมืองรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุข

ศาลหลักเมืองเป็นที่หมายตา สามารถนัดรวมพลคนเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญในระดับจังหวัดตลอดจนการจัดงานปัจเจกชน เช่น งานบวช งานแต่ง ก่อนจัดงาน ผู้จัดงานจะมาทำพิธีบอกกล่าวเจ้าพ่อหลักเมือง แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ยังมาบวงสรวงเจ้าพ่อหลักเมืองเพื่อบนบานศาลกล่าว ขอให้การจัดงานใหญ่ในระดับจังหวัด เช่น งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว ประสบผลสำเร็จ เป็นต้น

          ตำนานการสร้างศาลหลักเมือง

สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการนำคนเป็นๆ ไปฝังในหลุมฝังเสาศาลหลักเมือง โดยพวกข้าหลวงจะตระเวนไปร้องเรียกคนชื่อ “อิน-จัน-มั่น-คง” หากใครขานรับจะถูกจับไปฝังในหลุม เพื่อให้วิญาณผีตายโหงอยู่โยงเฝ้าเมือง (สำหรับการสร้างศาลหลักเมืองกาญจนบุรีไม่ปรากฏเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษร)

หอลักเมืองมีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยจัตุรมุข ตัวอาคารเปิดโล่ง ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งเป็นเสาไม้ส่วนบนของเสาหลักเมืองมีรูปแบบเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ตัวเสาสูงราว 1 เมตร ลงรักปิดทอง

ศาลหลักเมืองกาญจนบุรีหลังปัจจุบันสร้างขึ้นแทนศาลดั้งเดิมซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยผู้สร้างในสมัยนั้นคือ พระยาประสิทธิสงคราม เจ้าเมืองกาญจนบุรีคนที่ 2 ซึ่งชาวเมืองขนานนามท่านว่า “พระยาตาแดง/เจ้าเมือตาแดงฺ” นอกจากพระยาตาแดงได้สร้างกำแพงเมืองขุดคูเมือง ป้อมปราการ ประตูเมืองและศาลหลักเมืองแล้ว ยังได้สร้างศิลาจารึก ซึ่งยังคงประดิษฐานอยู่ ณ ศาลหลักเมืองมาจนทุกวันนี้

จารึกบนแผ่นไม้สัก ณ ศาลหลักเมืองกาญจนบุรี พุทธศักราช 2378

จารึกนี้มีเนื้อหาโดยสังเขป กล่าวถึงประวัติการสร้างเมือง ป้อม และกำแพงเมืองกาญจนบุรี โดยพระยาประสิทธิสงคราม เจ้าเมืองกาญจนบุรี ตอนท้ายแผ่ผลบุญแด่เทพทั้งหลายและขอให้ตนบรรลุพระนิพาน

จารึกนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนทรัพยากรสารสนเทศเอกสารโบราณประเภทจารึก โดยกองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “กจ.2 จารึกก่อกำแพงป้องประตูเมืองกาญจน์” โดยตีพิมพ์ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 6 ตอนที่ 1 (พ.ศ. 2517)

จารึกบนแผ่นไม้สักนี้ คัดลอกข้อความมาจากจารึกหินทราย “กจ.1 จารึกก่อกำแพงป้อมประตูเมืองกาญจน์” ซึ่งอยู่ในศาลหลักเมืองกาญจนบุรี เช่นเดียวกัน

เทศบาลเมืองกาญจนบุรี จะจัดงานสมโภชศาลหลักเมืองขึ้นในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานในพิธีสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและมีการจัดงานประจำปีศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี มีงานสมโภชศาลหลักเมือง มีการปิดถนนบริเวณหน้าศาลหลักเมือง

ศาลหลักเมือง เป็นศูนย์รวมความสามัคคีของักอนุรักษ์ และนักเคลื่อนไหวในการนัดหมายมาทำกิจกรรมทางสังคม เป็นต้นว่า การคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2531 นำโดยศูนย์คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนกาญจนบุรี สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 15 สถาบัน นัดหมายกันหน้าศาลหลักเมืองก่อนเคลื่อนขบวนออกจากอำเภอเมืองกาญจน์ไปยังอำเภอบ้านโป่งเพื่อรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน (ผลสำเร็จของการระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรห้วยขาแข็งได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกปี พ.ศ. 2534

นอกจากบริเวณศาลหลักเมืองจะเป็นสถานที่จัดเวทีปราศรัยและแสดงดนตรีเพื่อชีวิตยังมีสถานที่ราชการซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น สำนักงานเทศบาลเมืองกาญจนบุรีและโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ซึ่งเอื้อเฟื้อสถานที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมใช้ห้องน้ำ และใช้หอประชุมในการสัมมนา (สมัยคุณนิทัศน์ ถนอมทรัพย์ เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกาญจนบุรีคนที่ 17)

สำหรับโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์เป็นสถานที่จัดนิทรรศการของฝ่ายสนับสนุนให้สร้างเขื่อนน้ำโจร และฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน อาจารย์ลำไย สิริเวชชะพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ในสมัยนั้น ให้ความเอื้อเฟื้อแก่ทุกฝ่าย เพราะต้องการให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ระหว่างการชุมนุมหน้าศาลหลักเมืองอาจารย์ลำไยได้ลงมือปรุงอาหารเลี้ยงผู้มาร่วมชุมนุมทุกฝ่าย

จากข้อมูลต่างๆ ข้างต้นจะเห็นว่าศาลหลักเมืองจังหวัดกาญจนบุรี มีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสร้างเมืองกาญจนบุรีใหม่ ไปจนถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน

 

เอกสารอ้างอิง

โสมชยา ธนังกุล. (2563). ภูมิเมืองกาญจน์ ย่าน ปากแพรก. กรุงเทพฯ: ประยูรสาส์นไทย การพิมพ์.

สวรรค์  ตั้งตรงสิทธิกุล.  หลักเมือง:พัฒนาการคติแนวคิดสู่งานศิลปะและสถาปัตยกรรม วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2561, หน้า 94

Loading