วัดเขาสามสิบหาบ

“วัดเขาสามสิบหาบ” ตั้งอยู่บนทางหลวงชนบท กจ. ๔๐๒๙ ตำบลเขาสามสิบหาบ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ไม่พบหลักฐานว่าก่อตั้งมาแต่เมื่อใด เดิมชื่อว่า “วัดหนองสามหิบหาบ” ดังปรากฏนามวัดในประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑ พระพุทธสาสนกาล แต่จากเรื่องเล่าตำนานการเกิดมีหมู่บ้านเขาสามสิบหาบระบุว่า เกิดจากกลุ่มคนที่เคยอยู่ในเส้นทางการเดินทัพระหว่างไทยกับพม่า ได้รับความเดือดร้อนจากภัยสงคราม จึงอพยพโยกย้ายหนีภัยสงครามมาตั้งบ้านเรือนอยู่ ใกล้กับภูเขาขนาดย่อม ๆ ณ บริเวณนี้ และคนกลุ่มนี้ได้หาบทองคำติดตัวมาด้วยนับรวมได้ ประมาณ ๓๐ หาบ จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านนามเมืองว่า “บ้านเขาสามสิบหาบ” ร่องรอยศาสนสถานเก่าแก่ที่สุดของวัดเขาสามสิบหาบ มี ๒ แห่ง คือ

๑. อุโบสถหลังเก่า ที่ระบุว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามาสีมา เมื่อ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๓๕

๒. ลานบาตร เป็นแท่นก่ออิฐถือปูนสำหรับวางบาตรพระเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญในวันธรรมสวนะได้ใส่บาตร ก่อนยกไปถวายพระบนศาลาการเปรียญ ความสูงประมาณ ๒ เมตร ตัวฐานเป็นฐานปัทม์เฉลียงแบบเดียวกับโบสถ์เก่า

อุโบสถและลักษณะทางสถาปัตยกรรม

อุโบสถวัดเขาสามสิบหาบเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานโบสถ์เป็นฐานปัทม์เฉลียง มีประตูทางเข้า – ออก ด้านหน้า 2 ประตู ด้านหน้าทางเข้าเป็นพาไลมีเสาไม้ทรงเหลี่ยม 4 เสา รับหลังคาพาไลไว้ ตรงกลางระหว่างประตูทางเข้าประดิษฐานพระพุทธรูปพระสังกัจจายน์ไว้ ผนังด้านหลังพระพุทธรูปมีข้อความเขียนสีว่า “สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ สมัยพระอธิการบุญรอด เป็นเจ้าอาวาส เรียกว่า “วัดหนองสามสิบหาบ” มีหน้าต่างบานไม่ไม่มีลวดลายด้านละ ๔ บาน รวมเป็น ๘ บาน ภายในอุโบสถประกอบด้วยเสาไม้ทรงกลมจำนวน ๖ ต้น พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นฝีมือช่างชาวบ้านปางมารวิชัย หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก วัสดุเครื่องบนทั้งหมดเป็นไม้ยกเว้นกระเบื้อมุงหลังคา จั่วหน้าบัน ทำด้วยไม้ไม่มีลวดลาย ผนังด้านหลังทึบไม่มีช่องประตู ด้านหน้าโบสถ์มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ใบเสมาและเจดีย์รอบอุโบสถเสมาโดยรอบอุโบสถเป็นใบเสมาขนาดเล็ก ทำจากหิน ไม่มีรวดรายใด ๆ ตั้งอยู่ในซุ้มที่เรียกว่า “ซุ้มเสมาทรงยอดเจดีย์” จำนวน ๘ ซุ้ม สภาพค่อนข้างชำรุดทรุดโทรม มีซุ้มเสมาที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่ตรงซุ้มองค์กลางด้านหน้าอุโบสถเพียงซุ้มเดียว บริเวณโดยรอบอุโบสถมีต้นลั่นทมที่มีขนาดใหญ่ร่มครึ้ม ซึ่งน่าจะปลูกในเวลาใกล้เคียงกับการสร้างอุโบสถ มีพระเจดีย์บรรจุอัฐิ ทรงระฆัง ฐานเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน ๘ องค์ วัดเขาสามสิบหายได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ อุโบสถหลังเก่าจึงกลายเป็นวิหาร ในปี ๒๕๔๘ ทางวัดได้จัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต และได้สร้างวัตถุมงคล ที่เรียกว่า “พระหลวงพ่อในโบสถ์” เพื่อแจกจ่ายในงานปิดทอง ในงานนั้น

 

เขียน : ฟ้อน เปรมพันธุ์, อรพรรณ ศรีทอง

ผู้ร่วมสำรวจ/ข้อมูล : ประพฤติ มลิผล (เล็ก บ้านใต้), สมชาย แสงชัยศรียากุล

 

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *