สภาพสังคมกาญจนบุรีเมืองเก่า

จากสภาพพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารสายสำคัญ ทำให้กาญจนบุรีมีชุมชรที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันซึ่งสภาพภูมิศาสตร์ในอดีตส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่และการตั้งชุมชนโบราณ กล่าวคือ ในอดีตชุมชนเมืองกระจายอยู่เพียงริมน้ำแคว และรอบๆ แหล่งน้ำหรือป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้นเพราะง่ายแก่การดำรงชีวิตครั้งเมื่อสังคมมีการพัฒนาส่งผลต่อการสร้างบ้านเมืองของมนุษย์ ทำให้กาญจนบุรีมีผู้คนที่หลากหลายเข้ามาอยู่ในพื้นที่เกิดการผสมผสานกันทางเชื้อชาติ และเป็นผลให้ภาษาพูดบางแห่งนั้นมีสำเนียงที่แปลกกว่าที่อื่น

ส่วนในตัวเมืองกาญจนบุรีนั้นมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา มีสะพานข้ามแม่น้ำแคว สุสานทหารพันธมิตรและช่องเขาขาดที่คอยเตือนใจถึงความโหดร้ายทารุณของภัยสงครามในปัจจุบันจะมีครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องกับทหารผู้เสียชีวิตเป็นเหยื่อสงครามครั้งนี้เดินทางมาแสดงความเคารพดวงวิญญาณผู้เสียชีวิต ส่งผลต่อการท่องเที่ยวกาญจนบุรีอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่ละปีจะมีท่องเที่ยวต่างประเทศทยอยเข้ามาเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานทหารพันธมิตรตลอดทั้งปี ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบทางรถไฟสายมรณะและสุสานทหารพันธมิตรกลายเป็นตลาดค้าขายของที่ระลึกขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองและมีที่พักสำหรับท่องเที่ยวตลอดสองข้างทาง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพื้นที่ธรรมชาติน้ำแควให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวริมน้ำที่หลากหลาย เพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวริมน้ำที่หลากหลาย เพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีหลากหลายกลุ่มมากขึ้น ตัวเมืองกาญจนบุรีจึงกลายเป็นสังคมเมืองที่มีธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นอาชีพสำคัญควบคู่กับสังคมเกษตรกรรมที่มีมาแต่เดิม พัฒนาควบคู่ไปกับการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอื่นๆ เมื่อ พ.ศ. 2481 ที่รัฐบาลไทยอนุญาตออกสัมปทานการทำเหมืองแร่ดีบุกที่ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ มีการอพยพคนงานเข้าไปจำนวนมาก แม้ว่าในปัจจุบันเหมืองจะปิดไปแล้วแต่ได้ก่อให้เกิดชุมชนขึ้นบริเวณรอบเหมืองและกลายเป็นเส้นทางค้าขายสำคัญระหว่างชายแดนไทยกับสหภาพเมียนมาร์ อีกด้วย

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่อีกครั้ง คือ การที่ทางการเข้ามาจัดการพื้นที่ทรัพยากรทางน้ำ หรือเข้ามาสร้างเขื่อนกั้นน้ำ ทำให้เกิดการอพยพโยกย้ายชุมชนหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่เขื่อนเนื่องจากเมื่อมีการปล่อยน้ำเข้ามาแล้ว หมู่บ้านบางแห่งจะได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วม หรือหากน้ำไม่ท่วมหมู่บ้านก็จะท่วมพื้นที่โดยรอบทั้งหมด กล่าวคือ บริเวณนั้นจะกลายเป็นเกาะกลางน้ำอยู่ในพื้นที่เขื่อนกั้นน้ำ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในเขตชุมชนมอญและกะเหรี่ยงในอำเภอสังขละบุรี ที่ต้องย้ายหมู่บ้านออกมาจากพื้นที่เดิมทั้งหมดขึ้นไปอยู่ในที่สูง ทำให้ปัจจุบันพื้นที่หมู่บ้านของสังขละบุรีอยู่บนภูเขา และมีวัดกลางน้ำโผล่พิ้นน้ำมาให้เห็นในเวลาน้ำลงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านด้วยการนำนักท่องเที่ยวนั่งเรือเข้าไปชมวิหารกลางน้ำ ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้กลับเข้าไปใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมใดๆ ในบริเวณนั้นอีกนอกจากเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น

 

การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งในจังหวัดกาญจนบุรีนั้น แม้จะมีประโยชน์เพียงใด แต่ก็ยังส่งผลกระทบหลายด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมืองทั้งเมืองต้องจมน้ำ บริเวณที่เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และอารยธรรมเดิมริมแม่น้ำสายเก่าถูกน้ำท่วม ชุมชนที่อยู่ในบริเวณนั้นต้องอพยพย้ายออกทั้งหมด และต้องมาอาศัยอยู่ปะปนกันตามที่ที่ทางการจัดให้ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้ต่างไปจากเดิม

ส่วนผลกระทบต่อระบบนิเวศนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการไหลของแม่น้ำในบางพื้นที่ เช่น บริเวณบ้านเก่า จากเดิมที่เคยเป็นแม่น้ำสายใหญ่ เมื่อมีการสร้างเขื่อน แม่น้ำสายหลักได้เหือดแห้งไป กลายเป็นแอ่งเล็กๆ เป็นต้น นอกจากนี้ น้ำยังเข้าท่วมพื้นที่ป่าไม้หลายแก่ง สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรป่าไม้ในธรรมชาติ ซึ่งพืชและสัตว์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ราบนั้นจะมีวงจรชีวิตที่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมในบริเวณที่เหมาะสม เช่น สัตว์บางชนิดต้องออกหากินหรือวางไข่ในบริเวณพื้นที่ราบ ที่มีพื้นที่ราบขึ้นเท่านั้น เมื่อเขื่อนปล่อยน้ำเข้ามา ทำให้สัตว์หลายชนิดต้องหนีขึ้นพื้นที่สูง แต่ไม่มีพืชพื้นราบหรือสภาพแวดล้อมแบบพื้นราบตามธรรมชาติให้ดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ ทำให้สัตว์บางชนิดมีจำนวนลดลงจนเกิดการสูญเสียทรัพยากรที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้ที่สำคัญในการสร้างเขื่อนและปล่อยน้ำเขาไปในพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ ยังทำให้พวกบุกรุกทำลายป่ามีโอกาสเข้าถึงสัตว์ป่าและลักลอบตัดไม้ได้ง่ายขึ้น ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ มีการลักลอบนำเรือแล่นเข้าไปล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งหากพื้นที่บริเวณนั้นยังคงเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ การเข้าถึงใจกลางป่าจะทำได้ยากมาก ต้องเดินเท้าเข้าไปเท่านั้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงและผลการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในปัจจุบันได้สร้างความตื่นตัวให้กับชาวบ้านในชุมชนที่จะโดนน้ำท่วมรวมถึงนักอนุรักษ์และประชาชนทั่วไปที่สนใจศึกษาข้อมูลผลกระทบเชิงลึกทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และธรรมชาติจึงได้มีการรวมกลุ่มประท้วงไม่ให้สร้างเขื่อนเพิ่มเติมในพื้นที่ป่าแห่งใดอีก โดยเฉพาะพื้นที่ป่าตะวันตกที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก เพื่อรักษาผืนป่าตะวันตกผืนใหญ่ผืนสุดท้ายนี้ให้สมบูรณ์ที่สุดต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2557). ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม 20 จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ:
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร.