ประวัติชุมชนบ้านตลิ่งแดง ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
บ้านตลิ่งแดงเป็นชุมขนค้าขายมาตั้งแต่งดั้งเดิม ที่ตั้งชุมชนบางส่วนติดแม่น้ำแควใหญ่ มีท่าเรือใหญ่ 2 ท่า เพื่อขึ้นล่องสินค้าที่มาจากป่าต้นแม่น้ำแควใหญ่ อำเภอศรีสวัสดิ์ สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านเกิดจาพ่อค้าที่นำแพไม้ซุง ไม้ไผ่ ไม้รวก ล่องลงมาจากศรสวัสดิ์เพื่อไปขายยังตัวเมือง มักจะหยุดพักที่ท่าน้ำเพื่อลากแพขึ้นฝั่งเป็นลำๆ ขึ้นมาผูกใหม่ ดินริมตลิ่งซึ่งเป็นลูกรังสีแดงถูกลากจนตลิ่งพังและกลายเป็นชื่อชุมชนบ้านตลิ่งแดงมาจนถึงปัจจุบัน (สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านตลิ่งแดง)
ช่วงปี พ.ศ. 2449 จนถึง พ.ศ. 2517 บ้านตลิ่งแดงเป็นชุมชนชนบทไกลเมือง รอบๆ หมู่บ้านเป็นป่ารกทึบ การคมนาคมใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก หลังเขื่อนศรีสวัสดิ์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2523 มีผลต่อหมู่บ้านอย่างมาก จนมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำจากแม่น้ำ ปี พ.ศ. 2525 มีการเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำมาใช้ในการเกษตรและการบริโภค ขณะเดียวกันการขยายตัวของชุมชนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากหมู่บ้านปรับเปลี่ยนจากชุมชนชนบทสู่ภาวะการกลายเป็นเมือง พ.ศ. 2540 มีการจัดสร้างประปาหอถังริมแม่น้ำและสร้างคลองซอยเพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร หมู่บ้านลดการใช้น้ำบาดาล หันมาใช้ประปาน้ำดิบแทน ปี พ.ศ. 2546 ระบบน้ำเปลี่ยนแปลงเป็นประปาหมู่บ้าน พร้อมกับเส้นทางคมนาคมหลักภายในชุมชน ปรับปรุงจากถนนลูกรังเป็นถนนลาดยาง ถนนลาดยางถูกยกระดับเป็นถนนคอนกรีต ระบบส่งน้ำปรับเปลี่ยนมาใช้ท่อซีเมนต์ใยหิน บ้านจัดสรรคอนกรีต ปีพ.ศ. 2559 หมู่บ้านได้รับงบประมาณก่อสร้างถังประปากักเก็บน้ำใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำไม่พอใช้ในฤดูแล้ง และในปี พ.ศ. 2559 ทางหลวงจังหวัด 3199 ที่ผ่านหมู่บ้านพัฒนาขยายออกเป็นถนน 4 เลน การพัฒนาของหมู่บ้านตลิ่งแดงตามลำดับเวลา
บ้านตลิ่งแดง ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแควใหญ่ เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่และประชากรหนาแน่ที่สุดในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลหนองบัว ชุมชนมีการตั้งหลักแหล่งมายาวนานเคียงคู่มากับตำบลหนองบัว ที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบันห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 15 กิโลเมตร การคมนาคมใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3199 และทางหลวงแผ่นดิน 323 มีพื้นที่ทั้งหมด 2,262.50 ไร่ ทำการเกษตร 1,357.50 ไร่ พื้นที่สาธารณะ 28.20 ไร่ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาและที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ อาณาเขตของหมู่บ้าน ทิศเหนือ ติดหมู่ 6 บ้านป่านางเย้อ ทิศใต้ติดแม่น้ำแควใหญ่และหมู่ 5 บ้านพุเลียบ ทิศตะวันออกติกหมู่บ้านท้ายตลาดหนองบัว และทิศตะวันตก ติดหมู่ 1 บ้านห้วยกาบ เดิมพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านตลิ่งแดงเป็นผืนเดียวกัน เมื่อมีการสร้างถนนสายกาญจนบุรี – ลาดหญ้า (ทางหลวงแผ่นดิน 323 แสงชูโต) เพื่อเป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมต่อไปยังอำเภอศรีสวัสดิ์ หมู่บ้านถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง หากเดินทางมาจากตัวเมืองกาญจนบุรี ด้านฝั่งซ้ายมือเป็นชุมชนดั้งเดิม พื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านติดแม่น้ำแควใหญ่ มีถนนลาดยางสายใน กาญจนบุรี – ลาดหญ้า เป็นเส้นทางคมนาคมภายในหมู่บ้าน พื้นที่หมู่ 8 เริ่มตั้งแต่เขตโรงเรียนหนองบัวไปจนเกือบถึงเขตชุมชนเก่า ตำบลลาดหญ้า สำหรับฝั่งขวาเมือเดิมเป็นพื้นที่ทำการเกษตร แต่ปัจจุบันบางส่วนเปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรรบ้านเรือนร้านค้า ร้านอาหาร และรีสอร์ทขนาดเล็ก
ด้วยลักษณะพื้นที่บ้านตลิ่งแดงจึงมีความโดดเด่นด้านอาชีพการเกษตร การทำนาสามารถทำนาได้ทั้งนาปีและนาปรัง พืชไร่ที่ปลูกกันมาก ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลังและยาสูบ พืชสวนนิยมปลูกเป็นแนวรั้วและตามพื้นที่ว่างรอบบ้าน โดยเฉพาะดีปลี มะกรูด มะนาว ปลูกกระจายทุกพื้นที่ในชุมชนนอกจากนี้ยังมีการปลูกไม้ผลและผักสวนครัวต่างๆ ทั้งเพื่อกินและเพื่อจำหน่าย พืชสวนยืนต้นที่นิยมปลูก ได้แก่ มะม่วง ลำไย
ความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมาข้างต้น ยังปรากฎผ่านความมั่นคงทางอาหารของชุมชน อาหารพื้นบ้านหลายย่างใช้วัตถุดิบที่มาจากความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และเป็นอาหารที่มีรับประทานเฉพาะช่วงฤดูกาลเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วยต้นฤดูฝน น้ำหลากลงมาจากต้นแม่น้ำศรีสวัสดิ์ประกอบกับน้ำในบึงบัวล้นเอ่อ เล่ากันว่าปลาพื้นบ้านไทย เช่น ปลาหมอ ปลาช่อน รวมทั้งกบ อึ่ง ปูนา ถูกกระแสน้ำพัดพามาให้จับเป็นอาหารถึงหน้าบ้าน ไม้ยืนต้นทิ้งใบช่วงฤดูแล้ง จิกป่า มะกอก ตะคึก รวมทั้งไม้ที่กินหัวอยู่ในดิน เช่น เปราะ เร่ว กระชายป่า (กระชายแดง) แทงหน่อใบอ่อนรับฝน ให้ชาวบ้านเก็บมาแกงหรือกินเหนาะกับน้ำพริก พืชผักที่นำมาประกอบอาหารตามฤดูกาลยังคงปรากฎให้เห็นในปัจจุบันโดยชาวบ้านก็เก็บมาขายที่ตลาดหนองบัว