นางวัฒนีย์ แจ่มอริยวัฒน์ ผู้รับรางวัล “มณีกาญจน์” ประจำปี 2563 สาขาหัตถศิลป์ จังหวัดสุพรรณบุรี

นางวัฒนีย์ แจ่มอริยวัฒน์ อายุ 56 ปี เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี สำกเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการจัดกสานไม้ไผ่และหวาย สืบทอด สร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญาต่อจากคุณยายปิ่นแก้ว แสงจันทร์ฉาย ครูภูมิปัญญาคนแรกผู้ล่วงลับ นำงานหัตถกรรมพื้นถิ่นผสมผสานกับหัตถศิลป์ชั้นสูงในราชสำนัก ปรับประยุกต์ตามสมัยนิยมและความทันสมัย ทำให้เกิดความโดดเด่นของผลงานหัตถศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลายดอกพิกุล ลายหนามทุเรียน ได้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น มีเกียรติบัตรรับรองผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ของอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ กลุ่มอาชีพจักสาน มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยสมาชิกในชุมชน ทั้งทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงจัดจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างๆ ทำให้รายได้และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น
นางวัฒนีย์ แจ่มอริยวัฒน์ เป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน สืบทอด สร้างสรรค์งานหัตถกรรมที่เป็นมรดภูมิปัญญาของชุมชนและของชาติไว้ได้ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัล “มณีกาญจน์” สาขาหัตถศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2563
นางวัฒนีย์ แจ่มอริยวัฒน์ เกิดวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2507 อายุ 56 ปี ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 170/1 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อาชีพจักสาน และขายสินค้า OTOP และ CPOT (Cultural Product of Thailand)

การศึกษา
ประถมศึกษาปีที่ 4

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
– หมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น โล่เกียรติคุณ หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
– เกียรติบัตรเพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ อำเภอบางปลาม้า
– ประกาศนียบัตรรางวัลชมเชยประชันช่างศิลปาชีพ ประเภทศิลป์แผ่นดิน
– ประกาศนียบัตรผลิตภัณฑ์กระเป๋าสตรี ระดับสี่ดาว

ความภาคภูมิใจในการทำงานและการทำประโยชน์เพื่อสังคม
นางวัฒนีย์ แจ่มอริยวัฒน์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มการจักสานไม้ไผ่และหวาย (กระเป๋าสตรี) ตำบลบ้านแหลม มีความพยายามในการส่งเสริม สนับสนุน สืบทอดและสร้างสรรค์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชน ด้านการจักสานไม้ไผ่และหวาย ซึ่งถือเป็นงานหัตถกรรมที่เสี่ยงต่อการสูญหายเนื่องจากปัจจุบัน วัสดุสังเคราะห์ เช่น กระเป๋าพลาสติก ได้ถูกนำมาผลิตและใช้กันอย่างแพร่หลาย การอนุรักษ์และสืบสาน จักสานไม้ไผ่และหวาย จึงถือเป็นการอนุรักษ์และสืบสานด้านวัฒนธรรม รวมทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และสนับสนุนสิ่งแวดล้อมด้วย
ความโดดเด่นของผลงานหัตถศิลป์ ได้แก่ การนำหัตถกรรมพื้นถิ่น มาผสมผสานกับหัตถศิลป์ ขั้นสูง เนื่องจากคุณยายปิ่นแก้ว แสงจันทร์ฉาย ครูภูมิปัญญาคนแรกของกลุ่มได้เสียชีวิตไป และได้ถ่ายทอดหัตถกรรมนี้ไว้ โดยลวดลายที่ได้รับการสืบทอด ได้แก่ ลายดอกพิกุล ลายหนามทุเรียน จึงทำให้ผลงานมีความประณีต เป็นงานหัตถศิป์ขั้นสูง และสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านการจักสานไม้ไผ่และหวายของชุมชน ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญหายแล้ว
การรวมกลุ่มอาชีพจักสานไม้ไผ่และหวาย สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน จนเป็นสินค้า OTOP สามารถจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างๆ และทางอินเตอร์เน็ต สมาชิกในชุมชนมีรายได้เสริม ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น มีเงินออมเพิ่มมากขึ้น การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ได้นำผลงานเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรม จนได้รับการยอมรับเป็น CPOT ของจังหวัดสุพรรณบุรี ตลอดจนมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านแหลม (OTOP) ซึ่งสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้แก่ชุมชนบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า และจังหวัดสุพรรณบุรี

แหล่งอ้างอิง
ฟ้อน เปรมพันธุ์. (2563). มณีกาญจน์ ที่ระลึกเนื่องในพิธีมอบรางวัลมณีกาญจน์แด่ผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรม ครั้งที่ 2. กาญจนบุรี: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี.

Loading