ในหลวงพระราชินีเสด็จฯทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลแก้ปัญหาภัยแล้งฯ จ.กาญจนบุรี
“อีสานภาคกลาง” คือ สมญานามของพื้นที่ 5 อำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ ห้วยกระเจา เลาขวัญ หนองปรือ บ่อพลอย และพนมทวน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณเขตเงาฝน ทำให้ในแต่ละปี มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยต่ำกว่าพื้นที่โดยทั่วไป นอกจากนี้พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ทำให้เก็บน้ำไม่อยู่ ในช่วงหน้าแล้งของทุกปีชาวบ้านจะเดือดร้อนเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก
รัฐบาลโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ได้สั่งการให้นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่เพื่อหาทางนำน้ำบาดาลมาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่จาก ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจค้นหาแหล่งน้ำบาดาลในบริเวณดังกล่าว โดยใช้เทคนิคและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ในการค้นหาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก โดยเริ่มจากการสำรวจธรณีวิทยา ธรณีโครงสร้าง และธรณีฟิสิกส์ เพื่อค้นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาลในพื้นที่ ต.หนองฝ้าย จนค้นพบว่าบริเวณดังกล่าวมีลักษณะทางธรณีวิทยาที่เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาล จึงได้ทำการเจาะสำรวจที่ความลึก 200 เมตร พบว่ามีชั้นกรวดทรายที่มีน้ำบาดาลกักเก็บอยู่ จำนวน 4 ชั้น
โดยได้ก่อสร้างบ่อน้ำบาดาลที่ความลึก 200 เมตร ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 บ่อ เพื่อใช้เป็นบ่อทดลอง จากนั้นได้ทำการสูบทดสอบปริมาณน้ำ เป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง พบว่าสามารถสูบน้ำบาดาลได้อย่างต่อเนื่อง ในปริมาณ 40 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และส่งตัวอย่างน้ำเพื่อทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำในห้องปฏิบัติการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำบ่งชี้ว่าน้ำบาดาลบริเวณดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นน้ำแร่ และไม่พบเชื้อโรคหรือแบคทีเรียหรือสารที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงได้ขยายผลโดยการเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มในบริเวณดังกล่าวอีก 9 บ่อ รวมเป็น 10 บ่อเพื่อใช้เป็นบ่อผลิตหรือบ่อสูบน้ำ 8 บ่อ และบ่อสังเกตการณ์เพื่อใช้ในการติดตามระดับน้ำและคุณภาพน้ำ 2 บ่อ นอกจากนี้ ยังได้ส่งตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์เพื่อหาอายุของน้ำ ผลปรากฏว่า น้ำบาดาลในบริเวณนี้มีอายุ 7,530 ปี จึงทำให้มั่นใจว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติที่สะอาด ต่อมา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อร่วมสำรวจและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งสำหรับพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน พร้อมนำเสนอแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็น “โครงการต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่แห้งแล้งโดยใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก” ลักษณะโครงการประกอบด้วยบ่อน้ำบาดาล จำนวน 8 บ่อ ความลึกเฉลี่ย 200 เมตร ถังเหล็กเก็บน้ำความจุ 2,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดันความจุ 300 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง พร้อมทั้งระบบท่อกระจายน้ำ ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล อบต.หนองฝ้าย และ จังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองฝ้าย ความยาวรวม 23.3 กิโลเมตร
โดยในอนาคตจะขยายระบบกระจายน้ำให้ครอบคลุมทั้ง อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 11,600 ครัวเรือน หรือ 58,000 คน ปริมาณน้ำรวม 2,336,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 300,000 ไร่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับ “โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง” จำนวน 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ขอนแก่น ราชบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ศรีสะเกษ นครพนม กาฬสินธุ์ ลำพูน เชียงใหม่ และพัทลุง ไว้เป็น “โครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤติภัยแล้ง ทั้งนี้ ประชาชนจะได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 37,600 ครัวเรือน หรือ 143,000 คน ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งสิ้น 557,000 ไร่ (พื้นที่เกษตร 9,000 ไร่) มีปริมาณน้ำบาดาลรวมทั้งสิ้น 11.13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายสำหรับอุปโภคบริโภคกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้คำนึงถึงการบริหารจัดการภายหลังการส่งมอบโครงการให้กับพื้นที่เป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการบำรุงรักษาระบบ การลดการสูญเสียน้ำจากระบบการดำเนินงาน การพิจารณานำพลังงานทางเลือกมาใช้ในการเดินระบบเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน การรักษาระดับน้ำใต้ดินและการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน รวมถึงการติดตามปริมาณน้ำใต้ดิน และการควบคุมคุณภาพของน้ำใต้ดินในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
วันที่ 3 เมษายน 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เวลา 17.36 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ถึงสนามบินเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว พระลานพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงานขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ แบบที่ 12 (S-70i) จำนวน 2 เครื่อง และขอพระราชทาน เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดประวัติอากาศยาน (Aircraft Log Book) พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะจำลอง แบบที่ 12 (S-70i) (โมเดล) จากนั้นเสด็จฯ ไปยังที่จอดเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม แล้วทรงคล้องพวงมาลัย เฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะทั้ง 2 เครื่อง ตามลำดับ
ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ เสด็จฯ ออกจากสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว พระลานพระราชวังดุสิต ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราวลานตากพืชผลทางการเกษตร ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ครั้นเสด็จฯ ถึง พล.ต.บรรยง ทองน่วม ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 นายทหารราชองครักษ์ กราบบังคมทูลรายงาน
โดยมีนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายเอกพล ชุติมาธิกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกาญจนบุรี พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ข้าราชการ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ
เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และของที่ระลึก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์การจัดสร้างโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมทั้งขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานของที่ระลึกและโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวน 17 ราย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกจากพลับพลาพิธีไปยังเต็นท์นิทรรศการฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง ณ บริเวณหน้าป้ายโครงการฯ ทอดพระเนตรแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ และ “บ้านน้ำดื่ม” ก่อนเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ สมควรแก่เวลา เสด็จฯ กลับ