กาญจนบุรีประเพณีสงกรานต์ชาวไทยเชื้อสายกระเหรี่ยงเริ่มแล้วที่กลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตักทรายก่อเจดีย์ช่วยต่ออายุตามความเชื่อแต่โบราณ

  

       ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงเตรียมสถานที่จัดงานประเพณีสงกรานต์ ที่วัดสะเนพ่อง หมู่ที่ 1 ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีการทำความสะอาดบริเวณโดยรอบวัดซึ่งจะทำความสะอาดปีละครั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านบางส่วนเริ่มไปตักทรายจากริมแม่น้ำโรคี่ มาเพื่อใช้ก่อเจดีย์ทราย ตามคติความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา การตักทรายโดยใช้ช้อนหรือกำด้วยมือ จำนวนทรายที่จะนำมาก่อเจดีย์ต้องมากกว่าอายุคนตัก 1-2 กำ เช่น อายุ 30 ก็ให้ตัก 31 ช้อน โดยมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่า การได้ร่วมก่อเจดีย์ทรายเป็นการต่ออายุให้ตนเอง ซึ่งงานประเพณีสงกรานต์ของชาวกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จะเริ่มจัดที่บ้านสะเนพ่องเป็นหมู่บ้านแรก ก่อนจะทยอยจัดกันจนครบทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ซึ่งปีนี้เริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 29-31 มีนาคม ซึ่งตรงกับ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ตามจันทรคติ

       นอกจากนั้นชาวบ้านยังได้ช่วยกันเตรียมสถานที่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ที่อยู่ภายในบริเวณวัด โดยการนำไม้ไผ่มาสานเป็นรั้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบต้นโพธิ์ พร้อมทั้งกวาดบริเวณด้วยรอบๆ ให้สะอาด เพื่อไว้ใช้เป็นสถานที่ตักบาตรต้นโพธิ์ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ และยังได้ช่วยกันสร้างสะพานไม้ไผ่ข้ามลำน้ำโรคี่บริเวณท่าน้ำวัดสะเนพ่อง เพื่อไว้ใช้ประกอบพิธีล้างสะพานในวันดังกล่าวอีกด้วย โดยงานประเพณีสงกรานต์ของชาวกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จะเริ่มจัดที่บ้านสะเนพ่องเป็นหมู่บ้านแรก ก่อนจะทยอยจัดกันจนครบทั้งหมด 6 หมู่บ้าน

          ตลอดทั้ง 3 วันจะมีพิธีรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ที่บ้านซึ่งจะแยกกันทำในหมู่เครือญาติ มีการแข่งขันทอยสะบ้า การแสดงรำตงเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ การขึ้นวัดทำบุญในช่วงเช้าและสวดมนต์ในช่วงกลางคืน ซึ่งวันสุดท้ายจะมีการอัญเชิญพระพุทธรัตนสังขละบุรี (พระแก้วขาว) พระคู่บ้านคู่เมืองสังขละบุรี จากหอพระในวัดลงมายังปรัมพิธีที่ชาวบ้านสร้างเตรียมไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้พระภิกษุ ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้สรงน้ำขอพร และพิธีสรงน้ำพระ โดยชาวบ้านจะนั่งเป็นสะพานมนุษย์ให้พระสงฆ์เดินลงจากวัดมาสรงน้ำบริเวณที่จัดเตรียมไว้ โดยผู้เข้าร่วมงานจะเทน้ำใส่ในรางไม้ไผ่ที่จะไหลมารวมกันยังจุดที่พระสงฆ์อยู่ ก่อนเดินทางกลับขึ้นวัด ด้วยสะพานมนุษย์อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ของชาวกะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่องแห่งนี้

แหล่งอ้างอิง

https://www.matichon.co.th/region/news_896614

 

 

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *