ประเพณีกินข้าว (บึงต้งคู้) กะเหรี่ยง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ร่วมกันทำบุญงานประเพณีบุญข้าวใหม่ บริเวณวัดบ้านจะแก ซึ่งเป็นงานบุญสำคัญหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว โดยพิธีเริ่มด้วยการร่วมกันทำบุญตักบาตรข้าวสุก ซึ่งเป็นข้าวใหม่ที่ได้จากการทำไร่ในปีนี้ ถวายแด่พระสงฆ์ เพื่อตอบแทนบุญคุณพระแม่โพสพ
หลังเสร็จพิธีผู้ที่มาร่วมงานจะไปรวมตัวกันที่ลานพิธีงานบุญข้าวใหม่ ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่เป็นทรง 4 เหลี่ยมจัตุรัส มีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งด้วยดอกหงอนไก่และดอกดาวเรือง ที่นำมาจากไร่ข้าว พร้อมตุง ธง หลากสีสันอย่างสวยงาม โดยมีความสูง 2 ชั้น ชั้นแรกใช้เป็นที่ประกอบพิธี ชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นชั้นบนสุด ใช้เป็นที่จัดวางเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชผักที่ได้มาจากไร่ข้าว เช่น ฟักทอง พริก ถั่ว มัน เผือก และข้าวโพด นอกจากนี้ยังวางเครื่องมือที่ใช้ในการทำไร่ไว้ด้วย
เมื่อถึงเวลาจึงเชิญเจ้าพิธี ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ปราชญ์ชุมชน 4 คู่ จะเป็นผู้ทำการอธิษฐานจิต อัญเชิญพระแม่โพสพ มาสถิตในลานพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้ที่มาร่วมงาน โดยการอัญเชิญเป็นภาษากะเหรี่ยง ต่อจากนั้นเจ้าพิธีทั้ง 4 คู่ จะผูกข้อมือเรียกขวัญให้กันและกัน ก่อนจะทำการผูกข้อมือให้คนที่มาร่วมงาน ซึ่งการผูกข้อมือเรียกขวัญต้องใช้สิ่งของเป็นเครื่องประกอบพิธีทั้งหมด 7 อย่าง อาทิ ข้าวสุก ข้าวเหนียวปั้น ข้าวเหนียวปลายแหลม ทองโยะน้ำ อ้อย กล้วย ดอกไม้และด้าย
ปัจจุบันประเพณีบุญข้าวใหม่ จึงพบเห็นได้เพียงในพื้นที่ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรีเท่านั้น ซึ่งงานพิธีจะจัดขึ้น 3 วัน 3 คืน เริ่มตั้งแต่คืนวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนยี่ ไปสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนยี่ ชาวบ้านในพื้นที่จึงขอให้เยาวชน หนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยง หันมามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีบุญข้าวใหม่ เพราะเป็นประเพณีที่ดีงามและทรงคุณค่าให้อยู่คู่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่ ตลอดไป
การจัดเตรียมสถานที่
ทำประรำพิธี ทำเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยม วิธีการทำประรำ นำเสาทำจากไม้ไผ่ มาสานขัดแตะเป็นตารางล้อมเป็นสี่เหลี่ยม มีประตูเข้าออก 2 ด้าน นำต้นกล้วย ต้นอ้อย มาผูกไว้ที่ทางเข้าออกทั้งสองด้าน ตรงกลางยกพื้นสูงจะนำโต๊ะมาวางก็ได้ นำผ้าขาวมาปูยาวคลุมโต๊ะ ต้องมีเสาที่ทำจากไม้ไผ่ลำยาว ที่ปลานของเสาไม้ไผ่จะผูกด้วยรวงข้าวใหม่ที่ตัดมาและดอกหงอนไก่ผูกติดไว้ที่ปลายเสา
ของที่ใช้ประกอบพิธี
- ชุดเรียกขวัญ 1 ชุด ประกอบด้วย
1) ด้ายดิบ หรือลู่เช่ สีขาวหรือสีเหลือง ในอดีตทำจากฝ้ายปลูกไว้ในหมู่บ้าน นำมาปั่น และฝั้นเป็นด้าย ปัจจุบันยังคงมีบ้านนางติปงเชิงผาสุวรรณ ที่ยังคงใช้เครื่องมือและสามารถทำได้
2) ข้าวปั้น หรือหมี่ถู้คู้ ลักษณะเป็นข้าวสุกนำมาปั้นเป็นก้อน
3) ข้าวเรียกขวัญ หรือ หมี่ถุง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทำจากข้าวเหนียวใส่กล้วยห่อด้วยใบตองหรือใบไผ่ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม นำไปต้มให้สุก จะมีหมี่ถุงที่แทนผู้หญิงลักษณะเป็นเป็นคู่มัดรวมกันด้านแหลมอยู่ทางเดียวกัน ส่วนแทนผู้ชายหรือตัวผู้ จะนำมาต่อกัน จะมีปลายแหลมสองด้านหัวท้าย
4) อ้อย หรือ ชี่พุก ตัดเป็นท่อนๆ
5) กล้วยสุก หรือสะกุ่ยซ้งเม่ง กล้วยน้ำว้าสุกใส่ทั้งหวี
6) ดอกไม้ป่า หรือ โพ้ววี้ เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ไม่สูงมาก ขยี้ใบจะมีกลิ่นหอมแบะใช้รักษาหวัดได้
7) น้ำ หรือ ที่ใส่แก้วหรือขัน
- พันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์พืชในไร่ (ทุกคนสามารถนมาเข้าร่วมพิธีได้)
- อุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับการทำไร่ ทำนา เช่น เคียว กระด้ง กระบุก เสียม ฯลฯ (ทุกคนสามารถนำมาเข้าร่วมพิธีได้)
- นกผิ้วโป่วโย้ว ทำจากไม้ เป็นสัญลักษณ์แทนแม่โพสพ
- หวี กระจก แป้ง น้ำหอม มวยผม ผ้าโพกหัว เครื่องแต่งกายของผู้หญิง
ของทุกอย่างที่เตรียมไว้จะนำไปตั้งไว้บนโต๊ะหรือพื้นที่ยกสูงตรงกลางประรำพิธี
การประกอบพิธี
พระสงฆ์สวดมนต์ในบริเวณประรำพิธีเพื่อเป็นสิริมงคลต่อจากนั้นผู้เฒ่าแก่ที่มีผัวเดียวเมียเดียวที่ยังอยู่ร่วมกัน กี่คู่ก็ได้เป็นผู้ประกอบพิธีต่อการทำพิธีเรียกขวัญข้าวทำเหมือน เรียกขวัญคน และกล่าวของคุณแม่โพสพถือว่าเสร็จพิธี อาจจะผูกข้อมือด้วยก็ได้ หลังจากนั้นผู้ที่นำเมล็ดพันธุ์พืช หรือเมล็ดพันธุ์ข้าวที่แต่ละคนเตรียมมานำกลับไปที่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคล นำไปเทรวมกับเมล็ดพันธุ์ที่บ้านรอการปลูกต่อไป ประเพณีกินข้าวใหม่ ตรงกลางคือประรำพิธีที่จัดไว้ประกอบพิธีผู้ประกอบพิธีจะใช้ไม้ไผ่เหลือง 9 ปล้องเคาะเพื่อทำพิธีเรียกขวัญข้าว ขอบคุณแม่โพสพ และขอพร
แหล่งอ้างอิง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี. (2554). ชาติพันธ์กาญจนบุรี. กรุงเทพฯ: พรสวรรค์การพิมพ์.