บวชนาคไทยแท้บ้านหนองขาว เมืองกาญจน์
ชาวมอญเป็นผู้ที่มีความรู้ทางศาสนาและประเพณี มีการบันทึกความรู้วิทยาการต่างๆ ทั้งเรื่องศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม ประวัติสถานที่ บุคคล ตลอดจนวรรณคดีและตำราต่างๆ ลงในคัมภีร์ใบลานและสมุดข่อย ปรากฎให้เห็นทั่วไปตามวัดต่างๆ เอกสารเหล่านี้ช่วยในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตลอดจนภูมิปัญญาได้อย่างดี ดังพบว่าคัมภีร์ใบลานเก่าสุดของวัดม่วงระบุว่าจารที่วัดม่วง พ.ศ. 2181 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าประสาททองในสมัยอยุธยา การอพยพของชาวมอญสู่ไทยนั้นมีการเข้ามาหลายระลอก และทุกครั้งทางการไทยก็ให้การต้อนรับพร้อมจัดตั้งให้อยู่ในไทยอย่างดี เนื่องจากชาวมอญเป็นกำลังสำคัญในการช่วยไทยรบกับพม่าเสมอมา นับตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยกรุงเทพฯ ตอนต้น ทั้งนี้ชาวมอญอพยพนั้นเข้ามาในหลายฐานะ กล่าวคือ ในฐานะเฉลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมา เมื่อพ.ศ. 2138 สมัยสมเด็จพระนเรศวร ในฐานะผู้หนีทัพ เมื่อคราวพม่าเกณฑ์ไปรบศึกฮ่อ พ.ศ. 2205 สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
จากหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ในท้องถิ่น ทำให้ทราบว่าในสมัยอยุธยานั้น มอญในลุ่มน้ำแม่กลองนั้นอพยพมาจากเมืองมอญ เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เมืองกาญจนบุรี บางส่วนได้มาตั้งบ้านเรือนบริเวณสองฝั่งริมน้ำแม่กลอง ตั้งแต่บ้านโป่งถึงบ้านเจ็ดเสมียน โพธารามมากกว่าบริเวณอื่นๆ เพราะเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะในการทำการเกษตร สะดวกต่อการคมนาคม การค้าขาย ทั้งยังเป็นบริเวณที่ใกล้ที่สุดในเส้นทางอพยพจากทางใต้ของพม่า สะดวกต่อการกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดหรือการไปสักการะเจดีย์ชเวดากอง
ชุมชนบ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง กาญจนบุรี ชุมชนบนเส้นทางรบทัพจับศึกมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อหลายร้อยปีก่อน ชาวบ้านยังคงยืนยันว่าต้นตระกูลปู่ย่าตายายเป็นไทยแท้ “วัฒนธรรมบ้านหนองขาวเป็นการผสมผสานกับวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย เนื่องจากอยู่บนเส้นทางเดินทัพทั้งไทยและพม่า…โดยเฉพาะวัฒนธรรมมอญและไทยอย่างละครึ่ง…”
เกิดเป็นมอญ…ต้องบวชในบวรพระพุทธศาสนา
ชาวพุทธโดยรวมมีความเชื่อและศรัทธาว่าลูกผู้ชายเมื่อเติบโตมีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ จะต้องบวชพระ ชาวมอญซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาอันแรงกล้าต่อพุทธศาสนา และมีวัดเป็นศูนย์รวมตลอดจนที่พึ่งพิงทางใจก็มีความเชื่อและศรัทธาเช่นกันว่า การบวชพระเป็นสิ่งที่ต้องถือปฏิบัติในช่วงสำคัญของชีวิตที่จะเปลี่ยนผ่านให้ชายหนุ่มไปสู่ความเป็นผู้มีความรู้ในทางธรรมอย่างลูกผู้ชายโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะการบวชเป็นขบวนการขัดเกลาทางสังคม โดยการให้การอบรมศึกษาตามหลักพุทธศาสนามุ่งสอนให้เป็นคนดี ฝึกเจริญสติ สมาธิ ปัญญา เรียนรู้ที่จะอดทน เมื่อสึกออกมาแล้วจะได้เป็นผู้ใหญ่สามารถเป็นผู้นำครอบครัว และที่สำคัญคือเชื่อว่าพ่อแม่และผู้บวชจะได้บุญกุศลอย่างมากในการบวชอุทิศตนของลูกชาย
การบวชของชาวมอญที่หนองขาวมี 2 ลักษณะ คล้ายๆ กับชาวไทยโดยทั่วไป คือ บวชแบบเงียบๆ เพียงนิมนต์พระอุปัชฌาย์คู่สวดและพระภิกษุนั่งอันดับ มีเครื่องอัฐบริขารครบ เมื่อถึงกำหนดวันเวลาก็พากันไปยังพระอุโบสถเพื่อบวชตามประเพณี และการบวชแบบมีพิธีจัดงาน ซึ่งในแบบหลังนี้เจ้าภาพจะต้องจัดงานใหญ่โตใช้งบประมาณค่อนข้างสูง และต้องเตรียมการเวลาก่อนบวชนานมาก เนื่องมีขั้นตอนและพิธีการต่างๆ ค่อนข้างมาก
บวชนาคมอญ…ความต่างอย่างมีคุณค่า
การบวชเป็นพระภิกษุในทางพุทธศาสนา เรียกว่า “อุปสมบท” แต่หากมีอายุต่ำกว่าพุทธบัญญัติจะบวชได้เพียง สามเณร เรียกว่า “บรรพชา” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าบวชเณรส่วนผู้ที่ก่อนบวชไปอยู่วัด เรียกว่า “พ่อนาค” หรือ “เจ้านาค” หากเป็นสามเณร ก่อนบวชจะเรียกว่า “หางนาค” เช่นเดียวกับทางภาคเหนือที่เรียกว่า “ลูกแก้ว” พิธีการบวชนาคมอญนั้นในอดีตผู้ที่จะบวชจะต้องไปอยู่วัดเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อท่องบทสวดตำราเจ็ดตำนานรวมทั้งบทขออุปสมบท (ขานนาค) ให้แตกฉาน แต่ในปัจจุบันมักอนุโลมให้อยู่วัดเพียง 1 สัปดาห์ เนื่องจากผู้บวชอาจอยู่ในระหว่างศึกษาหรืออาจต้องทำงานการไปอยู่วัดนั้นนับเป็นขั้นตอนเริ่มต้นในการบวชโดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะเป็นผู้นำเจ้านาคไปมอบให้อยู่ในความดูแลของเจ้าอาวาสวัดที่จะบวช และเจ้านาคจะต้องอยู่ที่วัดจนถึงกำหนดวันบวช
วันสุกดิบน้อย…รวมญาติและเพื่อนบ้าน
ประเพณีการบวชของชาวมอญที่บ้านหนองขาวนี้มีพิธีการหลายขั้นตอนใช้เวลาหลายวัน เริ่มจากวันสุกดิบน้อยซึ่งในสมัยโบราณญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านจะมารวมกันที่บ้านเจ้าภาพ เพื่อเอาแรงช่วยกันเตรียมงานด้านต่างๆ ทั้งอาหารคาว หวาน งานจัดทำใบตองสดจัดทำบายศรีจีบหมากพลูเพื่อถวายพระสงฆ์ในวันบวชตลอดจนการจัดเตรียมสถานที่ สมัยโบราณมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การทำขนมจีนแต่ในปัจจุบันมักใช้ซื้อสำเร็จรูปแต่ก็ยังคงต้องเตรียมอาหารอื่นๆ เพื่อรับรองแขกที่มาร่วมงานและพระภิกษุสงฆ์ในงานวันสุกดิบใหญ่และวันอุปสมบทเวลาบ่ายของวันสุกดิบน้อยนี้ ทางครอบครัวและเพื่อนเจ้านาคจะไปรับเจ้านาคจากวัดกลับบ้าน เพื่อชำระร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้ายกขบวนไปลาและขอขมาญาติผู้ใหญ่
วันสุกดิบใหญ่…นาคต้องแต่งหญิงจริงหรือ?
เช้าตรู่วันสุกดิบญาติพี่น้องจะช่วยกันแต่งตัวนาค โดยธรรมเนียมการแต่งตัวนาคนี้แตกต่างจากนาคแบบไทยอย่างชัดเจนผู้ที่ไม่คุ้นเคยอาจเข้าใจสับสนว่านาคมอญต้อง “แต่งหญิง” โดยการนุ่งผ้าม่วงห่มสไบเขียนหน้าทาปากแต่หากได้พิจารณาจะเห็นว่าลักษณะการนุ่งผ้าของนาคมอญคล้ายพระนุ่งสบง ส่วนการห่มสไบก็คล้ายการห่มอังสะของพระมีการแต่งหน้าทาปาก และทัดดอกไม้หูข้างซ้าย และบนไหล่ซ้ายยังพาดผ้าปักลายผืนเล็กคล้ายสังฆาฏิคล้ายกับการบวชลูกแก้ว หรือปอยส่างลองที่มีการแต่งองค์ทรงเครื่องโดยจงใจให้เหมือนกษัตริย์หรือเทวดามาจุติ
การแต่งกายของนาคมอญนี้ มีคติมาจากที่เจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชนั้นยังฉลองพระองค์กษัตริย์ทรงเครื่องมงกุฎประดับเพชรนิลจินดามีเทวดาแปลงเป็นม้ากัณฐกะพาเหาะออกทางหน้าต่างพระราชวังชาวมอญยึดถือตามคตินี้ โดยมีแนวคิดว่าเมื่อผู้จะบวชยังเป็นฆราวาสแม้จะมีทรัพย์สินมากมายเพียงใดแต่เมื่อจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็จำต้องสละสิ่งเหล่านั้นไปสู่เพศอันบริสุทธิ์ การแต่งกายของนาคมอญจึงสวยงามประหนึ่งเป็นกษัตริย์ แต่เหตุที่มีลักษณะคล้ายผู้หญิง เนื่องด้วยญาติผู้หญิงเป็นผู้แต่งให้ ข้าวของเครื่องใช้ก็ใช้ของผู้หญิง ซึ่งงานบวชนี้คนมอญโดยเฉพาะผู้หญิงจะเรียกว่า “งานส่งนาคเข้าโบสถ์” ด้วยผู้หญิงทำได้เพียงเท่านั้นไม่สามารถข้ามเขตธรณีประตูโบสถ์เพื่อร่วมพิธีอย่างผู้ชายได้ จึงเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ญาติฝ่ายหญิงจะได้จับต้องตัวนาค
เจ้านาคขอลาพร้อมขมาบวช
ในช่วงบ่ายจะมีการแห่นาคเพื่อขอลาอุปปัชฌาย์และคู่สวดมีการตั้งขบวนแห่เพื่อขอลาบวช โดยต้องมาขมาที่ศาลใหญ่ของชุมชน คือ ศาลแม่ยาเพื่อให้ท่านได้รับรู้ว่าลูกหลานจะบวชเรียนเสียก่อนเวลาแห่นาคไปจะไม่ให้เจ้านาคเท้าสัมผัสพื้นดิน เพราะถือว่าเจ้านาคเป็นผู้บริสุทธิ์ต้องสะอาดเสร็จจากศาลแม่ยา เจ้านาคจะไปวัดเพื่อขมาพระอุปปัชฌาย์แล้วจึงไปลาพระวัดคู่สวด เมื่อถึงเขตวัดพ่อนาคต้องลงจากหลังม้า เมื่อขมาเสร็จแล้วจึงมาขึ้นมาใหม่การที่ไม่ขี่หลังม้าเข้ามาบริเวณวัดเพื่อเป็นการเคารพต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากขอขมาพระสงฆ์แล้วจะเคลื่อนขบวนกลับไปบ้านและจะมีการแย่งชิงตัวเจ้านาค ตามความเชื่อว่าคนจะบวชต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ จึงได้บวชเรียนมีการต่อรองเจรจากับเจ้าภาพกับเพื่อนฝูงว่าจะให้บวชหรือไม่ ช่วงแห่กลับจะขี่หลังคนแทนม้าและต้องเขย่าขย่มให้นาคประคองตัวไม่หล่นลงจากหลังจึงสามารถบวชได้เปรียบเหมือนมารผจญ
ย่ำน้ำค้างวันบวช…ปลงกรรมฐาน
เช้าตรู่ของวันบวชนี้เจ้านาคจะแต่งกายนุ่งผ้าจีบหน้านาง สวมเสื้อขาว และใส่เสื้อคลุมสีขาวทับ มีการห่มผ้าสไบไขว้ สวมกำไลข้อมือ แต่งหน้าตาอย่างสวยงาม สวมชฏา โดยในเวลาย่ำรุ่งจะมีพิธี “ย่ำน้ำค้าง” โดยโบราณเชื่อว่าเป็นการให้เจ้านาคมาเดินปลงกรรมฐาน โดยเจ้านาคจะไม่สวมรองเท้าเช่นเดียวกับพระเมื่อออกบิณฑบาตร ทั้งนี้ลักษณะการแต่งตัวแบบเครื่องทรงเทวดามีความหมายว่าเป็นเครื่องทรงกษัตริย์เพื่อให้นาคได้ปลงกรรมฐาน เพื่อให้นาคได้ปลงเพราะเมื่อเดินแห่แล้วก่อนจะปลงผมนาคจะต้องถอดเครื่องประดับทั้งหมดออกเป็นการแสดงความสละ ความไม่ยึดติดในทรัพย์สมบัติในความงาม ขบวนแห่นี้จะเดินเท้าไม่มีการแห่อย่างเมื่อเย็นวาน กลุ่มจะเดินกันไปช้าๆ ร้องรำทำเพลงเป็นระยะทางไกลๆ ราว 30 นาที พิธีนี้ชาวมอญให้ความสำคัญก่อนพ่อนาคจะเข้าบวช หลังจากนั้นจะเดินกลับบ้านไปนำญาติพี่น้องเพื่อนบ้านตักบาตร และรอฤกษ์และปลงผมเพื่อบวชต่อไป
ปลงผมและสรงน้ำนาค
ตอนสายเริ่มพิธีปลงผมนาคและสรงน้ำก่อนทำพิธีพ่อนาคจะต้องขอขมาต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่การปลงผมนาคตามประเพณีจะให้บิดามารดาตัดผมพ่อนาคก่อนตามด้วยญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงเรียงวงตามลำดับ มารดาจะเป็นผู้ที่ถือถาดปูลาดด้วยใบบัวคอยรอรับเส้นผมพ่อนาค เสร็จแล้วมารดาจะห่อเส้นผมด้วยใบบัวอฐิษฐานขอให้ลูกหลานบวชเรียนอยู่รมเย็นในร่มกาสาวพัตร์พุทธศาสนาจีรังยั่งยืน จากนั้นนำห่อผมไปไว้บนคบไม้ใหญ่หรือลอยน้ำ ซึ่งเป็นความเชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ขั้นตอนการปลงผมเป็นขั้นตอนสำคัญที่สร้างความปิติแก่พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ถึงกับหลั่งน้ำตา
การอาบน้ำนาคหลังจากปลงผมเริ่มจากพ่อแม่และญาติพี่น้องตามลำดับ การแต่งกายหลังพิธีปลงผมแล้วนาคต้องนุ่งขาวห่มขาว และห่มผ้าสไบสีขาวไม่แต่งหน้าหรือสวมใส่เครื่องประดับใดๆ การเลี้ยงพระสงฆ์เพล เรียกว่า “ฉลองก่อนเข้าโบสถ์” โดยการถวายภัตราหารเพลพระสงฆ์ 25 รูป ปัจจุบันลดจำนวนพระสงฆ์ลง
ตอนบ่ายจะเป็นขั้นตอนการบวชจะเริ่มนำนาคไปอุปสมบทที่วัดการแต่งกายของนาคจะนุ่งขาวห่มขาวไม่แต่งหน้าหรือใส่เครื่องประดับใดๆ ในอดีตมีผ้าปักที่เป็นผ้าคลุมศีรษะของนาคจากนั้นมีการจัดริ้วขบวนแห่นาคไปวัดซึ่งจัดต่างไปจากขบวนแห่ลาบวช โดยให้พ่อถือตาลปัตรพระสะพายบาตรเดินนำหน้าริ้วขบวน ตามด้วยแม่ถือพุ่มพานแว่นฟ้าผ้าไตรตาม ญาติพี่น้องถือพุ่มต้มเทียนและไทยธรรมดอกไม้บายศรีตามด้วยขบวนนักดนตรี และพ่อนาคที่ล้อมรอบด้วยญาติและเพื่อน พ่อนาคจะพนมมือถือดอกไม้ ธูปเทียนเดินตามขบวนด้วยความสงบจนถึงเขตวัดให้หยุดบูชาอฐิษฐานบอกเจ้าที่วัดหรือศาลเจ้าประจำวัด ให้ปกปักคุ้มครองเจ้านาคจากนั้นจึงนำนาคเข้าบริเวณโบสถ์แห่เดินประทักษิณเวียนขวามือรอบโบสถ์สามรอบเป็นการบูชาตามประเพณี และมีการเสมาของโบสถ์ คือเมื่อผ่านลูกนิมิตรจะต้องนำกรวยดอกไม้จากมือพ่อนาคที่พนมอยู่นั้นไปวางที่เสมาหนึ่งกรวย แล้วนำกรวยดอกไม้ใหม่ใส่มือนาคอีก ทำแบบนี้จนครบเสมาทั้งสามรอบส่วนรอบโบสถ์สุดท้ายจัดให้พ่อนาคหยุดนั่งลงบนเสื่อตรงพัทธสีมาโบสถ์ บิดามารดาทั้งสองเอาผ้าจีวรส่งให้พ่อนาคโดยวางพาดบนแขนทั้งสองข้างของเจ้านาค นาคจะนั่งท่าคุกเข่าพนมมือ ทำพิธีบูชา
โปรดญาติพี่น้องเกาะชายผ้าเหลือง
การที่นาคใหม่บวชแล้วให้ญาติพี่น้องได้รับส่วนกุศลจากการบวชเรียกว่า พิธีโปรดญาติโปรดชายผ้าเหลืองเป็นคติความเชื่อที่ว่าได้บุญมาก พิธีนี้เริ่มจากบิดามารดาออกเดินจูงพ่อนาคออกไปนอกกำแพงแก้วโบสถ์มารดาเดินตามหลังพร้อมญาติพี่น้อง เดินออกไปตามทางจนสุดทาง ผู้ร่วมงานก็นั่งรออยู่ระหว่างสองทางเดิน บิดามารดาจึงจูงพ่อนาคหันหน้ากลับโบสถ์เดินพนมมือถือผ้าไตรมาอย่างช้าๆ ส่วนญาติพี่น้องนาคเพื่อนฝูงที่รออยู่สองข้างทางเมื่อนาคเดินผ่านมาถึงตนก็พนมมือไหว้เอามือเกาะชายผ้าเหลืองเบาๆ พอเป็นพิธีแล้วเอาเงินเหรียญบาทใส่ผ่ามือนั้น “โปรยทานหรือโยนทาน” จึงก้าวข้ามทรณีประตูโบสถ์เข้าไปภายใน แต่โดยมากญาติพี่น้องจะอุ้มพ่อนาคเข้าไป เพราะเกรงจะถูกสะดุดทรณีประตูโบสถ์หกล้มเกิดการบาดเจ็บ เป็นความเชื่อมาตั้งแต่โบราณว่า “ถ้าเหยียบเป็นทรณีศาลจะเกิดเสนียดจัญไร ไม่ดีแก่พ่อนาค” เมื่อนาคเข้าไปนั่งในโบสถ์เรียบร้อยแล้วบิดาจะมอบผ้าไตรให้นาค นาคกราบและนั่งคุกเข่าประนมมือท่ามกลางคณะสงฆ์ กล่าวคำขอบวชต่อหน้าพระอุปปัชฌาย์ และต้องมีพระคู่สวดอย่างน้อย 5 รูป มีการสอบถามคุณสมบัติของพ่อนาครวมทั้งข้อห้ามต่างๆ จากนั้นจะมีการสวดญัตติจตุตกรรม แล้วพระอุปปัชฌาย์ก็สั่งสอนพระใหม่ตามพระวินัยกรณีกิจที่ไม่ควรกระทำของเพศสมณะ และมีการถวายไทยทานสวดอนุโมทนาให้แก่พระบวชใหม่ซึ่งจะมีการกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพระบุรุษ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการบวชของชาวมอญ
อ้างอิง
จวน เครือวิชฌยาจารย์. ประเพณีมอญที่สำคัญ. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2543
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา และคนอื่นๆ. ลุ่มน้ำแม่กลอง : ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ “เครือญาติ” มอญ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547
สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, พรทิพย์ อุศุภรัตน์ และ ประภาศรี ดำสอาด. สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : มอญ. นครปฐม :สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 2542