ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

           ในสมัยที่ตั้งเมืองใหม่ พ.ศ. ๒๓๗๔ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในปัจจุบัน ถูกเรียกว่า “หน้าเมือง” และสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ชาวญวนที่อพยพลี้ภัย ได้เข้าตั้งบ้านเรือนในบริเวณหน้าเมืองนี้ด้วยพิธีสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองได้กระทำติดต่อมาแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว ฉะนั้นความขลังความศักดิ์สิทธิ์จึงมาเป็นอันดับหนึ่ง ถือว่าเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพสักการะ และนับถือศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองกาญจนบุรี สามารถดลบันดาลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชาวเมืองกาญจนบุรีอักษรจารึกหลักศิลาเมืองกาญจน์ ณ ศาลหลักเมืองกาญจนบุรี

          ” ปีมะโรงจัตวาศก ตั้งพระราชพิธีมลํกกลางเมือง ทุกป้อมประตูหอรบ ฝรั่งยิงปืนตามฤกษ์ มี โขน ละครหนังไทย จีน ปรบไก่ ๓ วัน มีดอกไม้รุมพุ่ม และการถวายไทยทาน กระจาดผ้าสงบแด่พระสงฆ์ทุกองค์แผ่กุศลให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง วันศุกร์ขึ้นค่ำหนึ่ง เดือน ๘ ปีระกานพศกให้พระราชวรินทร เจ้ากรมพระตำรวจเป็นพระยาประสิทธิสงคราม รามภักดีศรีพิเศษประเทศนิคมภิรมย์ราไชยสวรรค์ พระยากาญจนบุรีครั้นกลับเข้าไปเฝ้า โปรดเกล้าว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นทางอังกฤษ พม่ารามัญไปมาให้สร้างเมืองก่อกำแพงขึ้นไว้ จะได้เป็นชานพระเขื่อนเพชรเขื่อนขันธ์มั่นคงไว้แห่งหนึ่งแล้ว จะได้ป้องกันสมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎร พระพุทธศาสนาจะได้ถวายถ้วน ๕๐๐ พระพรรษา

          เจ้าพระยาพระคลังผู้ว่าที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระมหาโยธา พระยาท้ายน้ำ ออกมาตรวจทวิไชยภูมิตั้งเมืองพอมีราชการฝ่ายตะวันตกมา ให้หากลับเข้าไป ณ กรุงเทพฯ  ท่านผู้ปกครองกาญจนบุรีเป็นผู้สำเร็จกิจการต่อไป ประทานเครื่องอาถันออกมา เทียนไชย สายสิน แผ่นทองอาถัน ศิลา อาถัน กับรูปราชสีห์ รูปช้าง รูปเต่า และปลูกโรงพระราชพิธี ๗ โรง สวดพระพุทธมนต์ ๓ วัน ประชุมพระอมรราชาคณะ ฐานานุกรม อันดับ ๖๐ รูป อธิบดีนาหมื่นสี่พระยา พระหลวงขุนหมื่นกรมการชาวด่าน เมืองขึ้น ๙ เมือง โหรพราหมณ์ปุโรหิตาจาฤก ณ วันพฤหัสบดีขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ เวลาเช้า ๔ โมง ๙ บาทได้พระฤกษ์ ฝรั่งยิงปืนเอาฤกษ์ และตั้งหอทานเลี้ยงพระสงฆ์สามเณร ชายหญิง ๓ วัน และประตูก่อกำแพงป้อมตามฤกษ์ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๗๔ พระพรรษาเศษ เดือนล่วง ๒๐ วัน จุลศักราช ๑๑๙๓ ปีเถาะ นักษัตรตรีศก ล่วงพระยาพระหลวงขุนหมื่น กรมการ ๕๖๐ คน ก่ออิฐสิ้น ๒,๔๘๓,๕๐๐ ศิลารากป้อมกำแพงแสนเศษปูน ๖๑๗ เกวียน ทำแล้ววันพฤหัสแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง สมโภชให้ตั้งโรงทำทาน ๔ ประตูเมือง เลี้ยงพระสงฆ์สามเณร ชายหญิง ๓ วัน

          ส่วนจารึกอีกสองหลัก เป็นอักษรจารึกบนหลักศิลาเมืองกาญจนบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศาลหลักเมืองกาญจนบุรี แผ่นแรกเป็นจารึกหลักที่ ๑๔๒  ทำด้วยหินทราย ขนาดกว้าง ๓๑ เซนติเมตร สูง ๙๗ เซนติเมตร ๑ ด้านมี ๓๒ บรรทัด  พบใกล้ๆ หน้าศาลหลักเมือง ณ ปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี วันเดือนปีที่พบก็ไม่ปรากฎ อักษรที่มีในจารึกคือไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์ บัญชี/ทะเบียนวัตถุ ๑) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “กจ. ๑ จารึกก่อกำแพงป้อมประตูเมืองกาญจน์” และ ๒) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๖ ตอนที่ ๑ กำหนดเป็น “หลักที่ ๑๔๒ ศิลาจารึกหลักเมืองกาญจนบุรี”

ดังนั้นที่ของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของประตูเมือง  อำเภอเมืองกาญจนบุรี  มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยจัตุรมุขสร้างขึ้นใหม่เมื่อ  พ.ศ. ๒๕๐๓  แทนศาลาหลังเดิมซึ่งชำรุดทรุดโทรม  ตัวอาคารเปิดโล่ง  ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง  เป็นเสาไม้หัวเม็ดทรงมันสูง ๑ เมตร ลงรักปิดทอง ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนี้  มีจารึกเป็นหินทรายสีแดงขนาดกว้าง  ๓๒ เซนติเมตร  สูง  ๑  เมตร  หน้า  ๑๗ เซนติเมตร อักษรภาษาไทยมี ๑ ด้าน  ๓๒  บรรทัด  กล่าวถึงการก่อสร้างป้องกำแพงเมืองกาญจนบุรีที่ปากแพรก

          ศาลหลักเมืองเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองกาญจนบุรีมาก  ดังจะเห็นได้จากเวลามีงานประเพณีสำคัญต่างๆ เช่น งานบวช  แต่งงาน โกนผมไฟเด็ก  ผู้คนจะมาไหว้เพื่อบกกล่าวเจ้าพ่อศาลหลักเมืองเสมอ  แม้แต่รถบรรทุกคันที่เล่นผ่านบริเวณนี้ก็ยังบีบแตรแสดงความเคารพ  ปัจจุบันเทศบาลเมืองกาญจนบุรีได้จัดงานไหว้ศาลหลักเมืองขึ้นในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี

 

แหล่งอ้างอิง

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี.  (2547).  แหล่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี.  กาญจนบุรี: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *