บ้านโคก”ลาวครั่ง มนต์ขลังแห่ง“ผี” อวดวิถี“จักรยานโบราณ”

 “ชาติพันธุ์ลาวครั่ง        งานหอฯกลางเดือนเจ็ด
อาชีพเกษตรกรรม                 วัฒนธรรมงานบวช
สิ่งอยากอวดจักรยานโบราณ     แห่ธงสงกรานต์ยิ่งใหญ่”

          นี่คือคำขวัญประจำหมู่บ้าน“โคก” หมู่บ้านชื่อสั้นๆที่หากใครได้ลองไปสัมผัสกับวิถีชุมชนที่นี่แบบไม่ฉาบฉวย ก็จะพบว่าบ้านโคกมีหลายสิ่งหลายอย่างน่าสนใจให้ชวนค้นหากันไม่น้อยเลย

 บ้านโคก ลาวครั่ง
          หมู่บ้านโคก หรือ “บ้านโคก”(หมู่ 3) ตั้งอยู่ใน ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ชาวบ้านโคกสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ “ลาวครั่ง” ซึ่งพี่ “พนม หลวงประสาน” วิทยากรนำเที่ยวประจำหมู่บ้าน เล่าให้ผมฟังว่า
ลาวครั่งคือชาวลาวที่มาจากแถบ “ภูคัง”(เทือกเขาแถบหลวงพระบาง)ในประเทศลาว (สปป.ลาว) จึงถูกเรียกว่า “ลาวภูคัง” ก่อนที่จะเพี้ยนเป็น “ลาวครั่ง” หรือบางทีก็เรียกว่า “ลาวเต่าเหลือง” เพราะนิสัยของชาวลาวพวกนี้ชอบอยู่เป็นอิสระตามป่าเขา คล้ายกับลักษณะของเต่าภูเขาชนิดหนึ่งที่มีกระดองสีเหลือง
นอกจากนี้ลาวครั่งในสมัยก่อนยังถูกเรียกว่า “ลาวขี้ครั่ง” ซึ่งพี่พนมบอกว่า “ขี้ครั่งเป็นคำที่เขาใช้ด่ากัน” ก่อนจะเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวลาวกลุ่มใหญ่ได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสยาม โดยกระจายตัวอยู่ในเขตภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือ ครั้นพอถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวลาวครั้งที่อยู่ในนครปฐมได้อพยพขึ้นเหนือ มาตั้งรกรากอยู่ที่อำเภออู่ทองในปัจจุบัน เป็นชาวลาวครั่งแห่งบ้านโคกในทุกวันนี้

          ในการอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโคกพี่พนมมีเกร็ดสนุกมาเล่าให้ฟังว่า ชาวลาวบรรพบุรุษได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่แถว “หนองตาสาม”(ชื่อในปัจจุบัน) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก
“เดิมหนองแห่งนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “หนองปลาสาม” มาจากขนาดความใหญ่ของปลาที่แบ่งเป็น สามเกรด คือปลาหนึ่ง(ใหญ่น้อยที่สุด) ปลาสอง และปลาสามที่มีขนาดใหญ่ที่สุด นั่นเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้ ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นหนองตาสามดังในปัจจุบัน”

ส่วนที่มาของชื่อบ้านโคกนั้น มีข้อมูลในเอกสารจากหมู่บ้านระบุว่า เดิมที่นี่เป็นพื้นที่โคกป่าละเมาะ ที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งเสือ ช้าง เก้ง และ “กระต่าย” ที่มีอยู่มากที่สุด ชาวลาวครั่งที่อพยพมาอยู่จึงเรียกที่นี่ว่า “โคกขี้กระต่าย”
แต่ภายหลังพื้นที่ป่าละเมาะได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นไร่นา โคกป่าละเมาะจึงกลายเป็นโคกห้างนา เนินเลี้ยงวัวควาย ชื่อโคกขี้กระต่าย จึงกลายมาเป็น “บ้านโคก” จนถึงทุกวันนี้

ภาษาที่ใช้
          ภาษาลาวครั่งจัดอยู่ในภาษาตระกูลไทสาขาตะวันตกเฉียงใต้ มีความคล้ายคลึงกับภาษาลาวในแถบภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศลาว เช่น แขวงหลวงพระบาง แขวงไชยะบุรี รวมทั้งภาษาที่พูดในจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลยซึ่งอยู่ใกล้กับแขวงดังกล่าว และยังคล้ายกับภาษานครไทยที่พูดในจังหวัดพิษณุโลก
ระบบเสียงภาษาลาวครั่งคล้ายภาษาไทย ต่างกันที่ภาษาลาวครั่งมีเสียง “ย” ขึ้นจมูกเหมือนภาษาไทยถิ่นอีสาน และมีหน่วยเสียงพยัญชนะควบกล้ำจำกัด เดิมภาษาลาวครั่งไม่มีเสียงสระเอือ เช่น เกลือ ออกเสียง เกีย หน่วยเสียงวรรณยุกต์มีจำนวนเท่ากับภาษาไทยคือ 5 หน่วยเสียง แต่ต่างกันที่ระดับเสียงขึ้นลง ส่วนคำศัพท์ลาวครั่งที่ออกเสียงเหมือนกับภาษาอีสานที่เราจะหยิบยกมานำเสนอมีดังนี้ บักเขียบ ” น้อยหน่า ” มักนัด ” สับปะรด ” แข้ว ” ฟัน ” เสี่ยว ” เพื่อน ” เฮ็ดเวียก ” ทำงาน ” เป็นต้น

 

เครื่องแต่งกายของคนในชุมชน
          ชาวลาวครั่งนิยมทอผ้าซิ่นและผ้าห่ม โดยใช้ฝ้ายและไหมเป็นวัสดุสำคัญ เทคนิคที่ใช้มีทั้งการจกและมัดหมี่ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวครั่งคือผ้าซิ่นมัดหมี่ต่อตีนจก ตัวตีนซินจกทอด้วยเส้นไหม ซึ่งผ่านการมัดให้เป็นลวดลายแล้วทอสลับกับการชิดซึ่งเป็นลายเส้นตรง จากนั้นทอด้วยตีนจกซึ่งเป็นฝ้าย นิยมทำพื้นเป็นสีแดง และทำลวดลายทรงเลขาคณิตซึ่งไม่มีรูปแบบตายตัว
ผ้าซิ่นตีนจกนี้อาจทอตัวซิ่นเป็นผ้าไหมมัดหมี่ ล้วนไม่สลับกับชิดก็ได้ นอกจากนี้ผ้าซิ่นมัดหมี่ต่อจากตีนจก ชาวลาวครั่งยังมีซิ่นดอกดาวซึ่งนิยมทอสีพื้นด้วยสีเข้มแล้วจกลายสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ด้วยโทนสีอ่อนเข้มสองสามสี
ปัจจุบันชาวลาวครั่งแต่งกายตามสมัยนิยม ในโอกาสพิเศษ เช่น วันเทศกาล หรือในงานประเพณีต่าง ๆ ผู้สูงอายุจะนุ่งซิ่นผ้าทอของลาวครั่ง ใส่เสื้อคอกระเช้าหรือเสื้อตามสมัยนิยมแล้วห่มผ้าสไบเฉียง

ขนมพื้นเมือง
          ” ขนมตาวัวตาควาย ” ขนมพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อของคนลาวครั่ง บ้านโคก สุพรรณบุรี หากใครที่ได้ไปเที่ยวชุมชนบ้านโคกต้องลองทานให้ได้สักครั้งนะคะเพราะเป็นขนมที่ไม่ได้หากินกันได้ง่าย ๆ และส่วนประกอบหลักๆ คือ
1.ถั่วเหลือง
2.กระเทียม
3.พริกไทย
4.มะพร้าว
5.ใบเตย
6.แป้งข้าวเหนียว


สิ่งอยากอวดจักรยานโบราณ
          บ้านโคกเป็นชุมชนเกษตรที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำเกษตรปลูกพืชผักมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่นี่เป็นดังครัวของอำเภออู่ทอง เพราะเป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตพืชผักส่งไปขายทั่วทั้งอำเภออู่ทองและพื้นที่ใกล้เคียง

          พี่“อำพร ลีสุขสาม” หรือ “ผู้ใหญ่เงาะ” ผู้ใหญ่หญิงแห่งบ้านโคกคนปัจจุบัน บอกว่าสมัยก่อนที่ยังมีรถยนต์ไม่มาก พาหนะหลักที่ชาวบ้านโคกใช้ในการสัญจรไป-มา บรรทุกผลผลิตทางการเกษตร ใช้ขนผัก ข้าว ก็คือ “จักรยาน”
“คนสมัยก่อนเขาใช้จักรยานบรรทุกสิ่งของกันได้ถึง 100 โล(กิโลกรัม)ก็ยังมี”
ผู้ใหญ่เงาะ บอกกับผมพร้อมเล่าว่า สมัยก่อนจักรยานมีความผูกพันกับชาวบ้านโคก เป็น “วิถีจักรยาน” ที่ผูกพันกับชุมชน มาวันนี้แม้รถยนต์จะถูกใช้เป็นพาหนะหลัก แต่ชาวบ้านโคกส่วนหนึ่งก็ยังคงปั่นจักรยานกันอยู่ ที่สำคัญก็คือมีจักรยานส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านโคกใช้เป็น “จักรยานโบราณ” หลายคันมีอายุร่วม 100 ปี

“เราจึงมีการรวมกลุ่มจัดตั้ง “ชมรมจักรยานโบราณบ้านโคก”ขึ้น เดิมเป็นการรวมกลุ่มกันขี่เพื่อไปร่วมงานพิธีในชุมชน เช่น ร่วมขบวนแห่ธงสงกรานต์ 4 หมู่บ้าน(บ้านโคก บ้านหนองตาสาม บ้านท่าม้า และบ้านหนองเสือ” ขี่จักรยานไปร่วมงานสงกรานต์ และขี่ไปร่วมงานอื่นๆที่เจ้าภาพขอให้นำจักรยานไปสร้างสีสัน” ผู้ใหญ่เงาะเล่าให้ฟัง
ด้วยเสน่ห์แห่งวิถีจักรยานผสานกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมและวิถีการเกษตรอันโดดเด่นของบ้านโคก ทำให้ทาง “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” หรือ อพท. เล็งเห็นในศักยภาพของชุมชนแห่งนี้ จึงเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงส่งเสริมให้ชาวบ้านโคกจัดกิจกรรมท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชุมชน เชื่อมโยงกับชุมชนที่มีศักยภาพที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง สามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันได้

นั่นจึงทำให้เกิดกิจกรรม “การท่องเที่ยวด้วยการปั่นจักรยานโบราณ” ขึ้นที่ชุมชนบ้านโคก ซึ่งวันนี้ยังเป็นโครงการในระดับนำร่องเพื่อให้ชุมชนได้เตรียมความพร้อม เรียนรู้ศึกษาข้อดีข้อเสีย ก่อนจะพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวมาร่วมทำกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้นี้

 

มนต์ขลังหอเจ้านาย
          ชาวบ้านโคกในวันนี้ยังคงมีการสืบทอดประเพณีวิถีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามาจากลาวหลวงพระบาง อีกทั้งยังมีระบบความเชื่อที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะชาวบ้านโคกมีความเชื่อความศรัทธาทั้งในทางพระพุทธศาสนาและในเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติหรือที่เรียกกันว่า “ผี”
พี่พนมอธิบายว่า ชาวบ้านโคกนับถือผีใน 2 แบบด้วยกันคือ ผีเทวดาและผีเจ้านาย ผีเทวดาคือรุกขเทวดาที่เคยคุ้มครองบ้านเมืองตั้งแต่สมัยอยู่หลวงพระบาง

          ส่วนผีเจ้านายตามความเชื่อของชาวบ้านโคกนั้น คือผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ซึ่งพี่พนมย้ำว่าเป็น “ผีดี” ที่มาคอยช่วยปกปักรักษาหมู่บ้านและชาวบ้าน โดยมี “พ่อกวน”(กวน) ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมต่อทางจิตวิญาณกับผีเจ้านาย รวมถึงเป็นผู้นำทางความเชื่อและเป็นหัวหน้าในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผีเจ้านายซึ่งมีที่สถิตอยู่ที่ “หอเจ้านาย” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำหมู่บ้าน
หอเจ้านาย มีลักษณะเป็นลานโล่งที่ด้านหน้า ส่วนด้านท้ายมีต้นไม้ใหญ่ตั้งตระหง่าน ถัดไปเป็นศาลเพียงตาขนาดย่อมจำนวน 7 หลังตั้งเรียงกันไปแบบแถวหน้ากระดาน นับเป็นบรรยากาศที่ดูแล้วช่างขรึมขลังยิ่งนัก
“หอเจ้านายเป็นดังหลักเมือง ใจเมือง ศูนย์รวมจิตใจและที่ยึดเหนี่ยวของชาวบ้านโคก สมัยก่อนพอถึงฤดูทำไร่นา ชาวบ้านก็จะมาขอผีเจ้านายให้ทำการเพาะปลูกได้ดี ลูกหลานใครเจ็บไข้ได้ป่วย พ่อ-แม่ก็จะมาขอให้ผีเจ้านายช่วยรักษาพร้อมบนบานศาลกล่าว ซึ่งพ่อกวนเมื่อทราบอาการก็จะอ้างอิงการรักษาจากตำราใบลาน”

พี่พนมเล่าก่อนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หอเจ้านายบ้านโคกยังมีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นดังสิ่งคุมความประพฤติ สิ่งกำกับการกระทำและจิตใจของคนในหมู่บ้านให้ทำแต่ความดี ใครที่ทำไม่ดี ผิดจารีต ผิดวิถี หรือที่เรียกว่า “ผิดผี” ต้องมาสารภาพต่อเจ้าพ่อกวน พร้อมแก้บนขอขมา ซึ่งเจ้าพ่อกวนจะเป็นคนตัดสินว่าต้องขอขมาแก้บนอย่างไร
“ทุกๆปีที่บ้านโคกจะมีการจัดงานเลี้ยงผีขึ้นในช่วงราวเดือน 7 ไทย(ราวมิถุนายน) มีการจัดงานกัน 2 วัน คือวันสุกดิบและวันงานจริง โดยพ่อกวนจะเป็นผู้กำหนดวันเวลาที่แน่นอนในช่วงใกล้ก่อนวันงาน” พี่พนมกล่าว

ด้วยความสำคัญตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้หอเจ้านายถูกยกให้เป็นไฮไลท์สำคัญในเส้นทางปั่นจักรยานโบราณเที่ยวบ้านโคก ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงวิถีจารีตของชาวบ้านทีนี่ และให้คนภายในพื้นที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์วิถีเหล่านี้ไว้

ปั่นจักรยานโบราณไปไหว้ผี
          กิจกรรมนำร่องท่องเที่ยวด้วยการขี่จักรยานโบราณทัวร์บ้านโคกนั้นมีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นการปั่นชมวิถีชาวบ้าน ชมไร่นา แปลงผักปลอดสารพิษ และไฮไลท์คือการไหว้ผีที่หอเจ้านาย

สำหรับจักรยานโบราณที่นี้แม้มันจะมีคันโต สูง ดูเหมือนจะปั่นยาก แต่อันที่จริงปั่นไม่ยาก(จะมียากบ้างสำหรับคนไม่เคยในช่วงขึ้น-ลง เพราะมันสูง) แถมยังปั่นสบายไม่กินแรง เพราะช่วงเท้าถีบมันพอดีกับจังหวะก้าวเดินของเรา
เมื่อสมาชิกนักปั่นที่นัดไว้มากันพร้อมตา ผู้ใหญ่เงาะก็ออกปั่นนำ โดยจุดแรกที่พวกเราไปแวะก็คือ “บ้านเก่า 3 หลัง” ซึ่งเป็นบ้านเรือนไม้หลังใหญ่อายุหลายสิบปี (หรืออาจถึง 100 ปี) จำนวน 3 หลังสร้างอยู่ใกล้ๆกันด้วยรูปแบบบ้านดั้งเดิมของชาวชุมชนบ้านโคก

จากนั้นเราปั่นไปต่อยังจุดไฮไลท์คือที่หอเจ้านาย เพื่อทำการสักการะผีเจ้านายเพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับหอเจ้านายและการนับถือผีของชาวบ้านโคก ที่มีพี่พนมเป็นคนถ่ายทอดข้อมูลดังที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น
เสร็จแล้วผู้ใหญ่พาปั่นชิลล์ ชิลล์ ไปชมบรรยากาศท้องไร่ท้องนา ชมแปลงผักปลอดสารพิษของชาวบ้าน ซึ่งระหว่างนี้มีกลุ่มเด็กๆในหมู่บ้านเมื่อรู้ข่าวก็ได้ออกมาแจมปั่นจักรยานร่วมขบวนไปด้วยกันเกิดเป็นคณะใหญ่ดูครึกครื้น
ขบวนจักรยานโบราณไปจอดอีกครั้งริมท้องทุ่งนาวิวดี เพื่อหยุดแวะเติมพลังกันด้วยอาหารที่ทางชาวบ้านจัดเตรียมมานั่นก็คือ “ข้าวเหนียวหัวหงอก”ที่เป็นข้าวเหนียวคลุกมะพร้าวใส่เกลือนิดหน่อย รสกลมกล่อมเค็มๆมันๆ กับ “ข้าวเหนียวปลาทอด” ที่ใครไม่รู้ทอดปลาได้เด็ดนัก ชาวคณะที่ร่วมปั่นต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อร่อยจริงๆ

หลังเตรียมพลังข้าวเหนียวแล้วก็ได้เวลาปั่นกลับมายังจุดเริ่มต้นที่บ้านผู้ใหญ่ ก่อนที่แต่ละคนจะแยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน
และนี่ก็คือกิจกรรมนำร่องท่องเที่ยวบ้านโคกด้วยจักรยานโบราณ ซึ่งขบวนสมาชิกนักปั่นในวันนั้น หลายๆแม้คนดูจะโบราณไม่ต่างจากจักรยานสักเท่าไหร่ แต่คุณลุงคุณป้าที่ใจดีเหล่านั้นต่างมีความมุ่งมั่น มีใจให้เหลือเฟือ
ที่สำคัญคือทุกคนยังดูแข็งแรงเปี่ยมกำลังวังชา ซึ่งนั่นคงเนื่องมาจากผลพวงแห่งวิถีจักรยานแห่งบ้านโคก เพราะการปั่นจักรยานอย่างสม่ำเสมอนั้น ช่วยให้เรามีสุขภาพดีมีอายุยืนยาวได้โดยไม่ต้องไปสรรหายาวิเศษใดๆมากิน

ปัจจุบันชาวบ้านโคกยังมีการรวมกลุ่มปั่นจักรยานกันอยู่เป็นประจำ พร้อมกันนี้ยังมีโครงการนำร่องกับกิจกรรมปั่นจักรยานโบราณท่องเที่ยวในหมู่บ้านและเชื่อมโยงกับหมู่บ้านอื่น ซึ่งผู้สนใจอยากร่วมปั่นกับชาวบ้านโคกสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ ผู้ใหญ่เงาะ 084-457-7271 หรือ ที่อพท. 084-163-7599

แหล่งอ้างอิง

ปิ่น บุตรี. บ้านโคก”ลาวครั่ง มนต์ขลังแห่ง“ผี” อวดวิถี“จักรยานโบราณ”.  เผยแพร่: 21 พ.ย. 2556. จาก : https://mgronline.com/travel/detail/9560000144543

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *