โบราณสถานที่สำคัญของวัดเขารักษ์

บ้านเขารักษ์อยู่ในเขต ตำบลดอนแสลบเป็น 1 ใน 4 ตำบลของอำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี และเป็นตำบลที่มีเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โดยมี “พระปรางค์วัดเขารักษ์” ตั้งอยู่หมู่ 5 บ้านเขารักษ์ เป็นพยานถึงความเสียสละของบรรพชนที่ร่วมปกป้องแผ่นดินจากอริราชศัตรู พระปรางค์เขารักษ์ ตั้งอยู่หมู่ 5 บ้านเขารักษ์ อยู่ระหว่างเส้นทางตลาดใหม่ – อำเภอเลาขวัญ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 8 พอเข้าเขต อำเภอห้วยกระเจา ก็จะเห็นพระปรางค์ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขาที่ปกคลุมด้วยป่าไม้อันเขียวขจี โดยองค์พระปรางค์เป็นศิลปะแบบขอม รูปทรงคล้ายฝักข้าวโพด ตั้งอยู่บนยอดเขารักษ์ มีกำแพงอิฐโดยรอบ มีบันไดนาคขึ้นสู่ยอดเขาจำนวน 352 ขั้น สิ่งก่อสร้างทั้งสามนี้ใช้อิฐแบบเดียวกัน สันนิษฐานสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีตำนานเล่าต่อกันมาว่าสมัยสงครามไทย-พม่า สถานที่แห่งนี้เป็นเส้นทางเดินทัพผ่านไปตีกรุงศรีอยุธยา บรรพชนไทยที่นี่เสียสละต่อสู้สกัดทัพพม่าจนสูญเสียชีวิตไปจำนวนมาก หลังสงครามสงบจึงสร้างพระปรางค์ขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ และเรียกเขาลูกนี้ว่าเขาลูกรัก ต่อมาเพี้ยนเป็นเขารักษ์ในปัจจุบัน

ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงถนนขึ้นสู่ยอดเขารักษ์ และปรับพื้นที่บริเวณลานพระปรางค์เขารักษ์จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวอีก ด้านคือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวีรกรรมของบรรพชนในอดีต ตำนานการก่อสร้างพระปรางค์ ความเชื่อ ความศรัทธา วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น นำมาเรียบเรียงเป็นเนื้อหาสาระจัดงานการแสดงแสง สี เสียง ตำนานพระปรางค์เขารักษ์ ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2550 ถือว่าประสบผลสำเร็จ ได้รับความสนใจจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ส่วนราชการ สื่อมวลชน จนได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยวปี 2551 ของจังหวัด และเมื่อปี พ.ศ. 2551 อบต.ร่วมกับ ททท.กาญจนบุรี จัดการแสดงแสง สี เสียง วันที่ 21 มีนาคม 2551 เวลา 20.00 น. บริเวณลานพระปรางค์เขารักษ์” การแสดงจะแบ่งเป็นเรื่องราวการต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินจากการรุกรานของ กอง ทัพพม่าที่เดินทัพผ่านไปตีกรุงศรีอยุธยา
การก่อสร้างพระปรางค์ การนำเสนอความเชื่อของคนลับแลที่เล่าสืบต่อกันมาว่าอาศัยอยู่ภายในถ้ำบริเวณ เขาแห่งนี้ ระฆังศักดิ์สิทธิ์ที่ฝังในสระน้ำเชิงเขา เมื่อเกิดฝนแล้งแล้วขุดขึ้นมาเคาะฝนจะตกลงมา พุทธาภินิหาริย์ของพระสงฆ์ที่สามารถปลุกเสกม้าเลื้อยไม้ให้มีชีวิตเป็นพาหนะ ออกบิณฑบาตในฤดูฝน ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน และการแสดงรำเหย่ย ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งนอกจากการชมการแสดงแสง สี เสียงแล้ว ช่วงวันที่ 20-22 มีนาคม ทางวัดเขารักษ์ยังจัดให้มีงานนมัสการพระปรางค์และปิดทองรอยพระพุทธบาท ซึ่งงานนี้จัดมาหลายสิบปีจนเป็นประเพณีท้องถิ่นแล้ว

วัดเขารักษ์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 1 บ้านเขารักษ์ หมู่ที่ 5 ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจาจังหวัดกาญจนบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๙๑ ไร่ วัดเขารักษ์ สร้างเมื่อพ.ศ. 2529 เป็นวัดเก่าต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์สร้างอาคารเสนาสนะต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยมา เช่น บูรณะอุโบสถ พระปรางค์ สร้างวิหาร ศาลาอเนกประสงค์ ศาลาประชาคม เป็นต้น

   

โบราณสถานที่สำคัญของวัดเขารักษ์

จากการศึกษาของ วรวุธ  สุวรรณฤทธิ์ (2537 : 48 – 49) กล่าวว่า องค์พระปรางค์ก่อสร้างอยู่บนยอดเขาแห่งแรกของไทย  เป็นปรางค์แบบเขมร  ทรงฝักข้าวโพด  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  สูงประมาณ  15  เมตร  ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน  ยอดปรางค์เป็นกลีบขนุนมี  7  ชั้น  มีซุ้มจตุรทิศประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนแต่หักหายไป  ด้านหน้าปรางค์มีฐานก่อด้วยอิฐยาวประมาณ 15 × 9 เมตร  มีใบเสมาทำด้วยหินชนวนปักอยู่รอบ ๆ มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบขนาดยาว  42 × 28 เมตร สูง  1  เมตร  มีบันไดคอนกรีตเป็นทางเดินขึ้นเขาทั้งหมด  357  ขั้น เป็นพระปรางค์องค์เดียวที่สร้างบนยอดเขา

ปัจจุบัน ทางวัดเขารักษ์ได้บูรณะพระปรางค์ สร้างวิหาร รวมทั้งบูรณะกำแพงแก้วใหม่  ทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิม  กรมศิลปากรไม่อนุญาตให้บูรณะต่อ  ปัจจุบันกรมศิลปากรกำลังเข้าไปบูรณะใหม่

ตำนานพื้นบ้าน

ประวัติการสร้างพระปรางค์บนยอดเขารักษ์ มีตำนานที่เล่าสืบกันมาว่า  ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีคนหนึ่ง มีลูกสาวแสนสวยคนหนึ่ง  จึงเกิดความรักและหวงแหนลูกสาวคนนี้มาก  ไม่ยอมให้ชายหนุ่มมาติดต่อ  โดยขังลูกสาวไว้บนยอดเขา   ความสวยของลูกสาวเศรษฐีร่ำลือไปทั่ว  เจ้าชายเมืองต่าง ๆ ต้องการได้ลูกสาวเศรษฐีไปเป็นคู่ครอง  จึงพากันยกกองทัพมาเพื่อจะแย่งชิง  แล้วเกิดการต่อสู้กันในบริเวณแถบนั้น  ดังปรากฏชื่อภูเขาลูกต่าง ๆ ว่า  เขาคลุกคลี  เขาธนู  เขาคันหอก  ในที่สุดลูกสาวเศรษฐีตัดสินใจกระโดดลงจากเขาเสียชีวิต  เศรษฐีมีความรักและอาลัยลูกสาวตนอย่างมาก  จึงได้ก่อสร้างพระปรางค์ขึ้นบนยอดเขาและเรียกชื่อว่า  เขารักษ์  หรือเขาลูกรักษ์

 

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *