รำตง

ความเป็นมา

รำตง เป็นการละเล่นของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิแบะอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี “ตง” เป็นการออกเสียงตามภาษาไทยชาวกะเหรี่ยงจะออกเสียงว่า “โตว” คำว่า ตง หรือ โตว นี่คงจะมาจากเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ ยาว 1 ปล้อง เจาะเป็นช่องตรงกลางเพื่อให้เกิดเสียงดังกังวาน

“การละเล่นรำตง” เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (โปว์) ในท้องที่บ้านกองม่องทะ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความเชื่อมั่นและความศรัทธา  โดยยกหลักธรรมคำสอนในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนคติความเชื่อต่างๆ เพื่อใช้เป็นการอบรมสั่งสอนลูกหลานชาวกะเหรี่ยง การละเล่นรำตง  จัดเป็นนาฏกรรมที่ปรากฏมานานกว่า 200 ปี ในอดีตนิยมแสดงกันอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันกลับปรากฏเฉพาะในงานพิธีกรรมสำคัญซึ่งเป็นงานประจำปีของชนเผ่าเท่านั้น

“รำตง หรือ เท่อลี่ตง” ในภาษากะเหรี่ยงนั้น หมายถึง การเหยียบย่ำ หรือการเต้นรำ ให้เข้าจังหวะ เมื่อเคาะแล้วจะมีเสียงดัง ตง ตง ตง ตง โดยมีเครื่องเคาะจังหวะที่ทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการเลียนเสียงมาจากเครื่องดนตรีเฉพาะที่เรียกว่า “วาเหล่เคาะ” เป็นชื่อเรียกเครื่องดนตรีซึ่งเป็นเครื่องกำกับจังหวะประเภทหนึ่งของชาวกะเหรี่ยง ทำจากไม้แดงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฉิ่งวางหงายทางด้านบนอยู่มุมใดมุมหนึ่ง

รำตงมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับผู้คิดค้นท่ารำและเพลงจะตั้งชื่อตามคณะของตนเอง การแสดงรำตงของชาวกะเหรี่ยงโปว์ปัจจุบันเหลืออยู่ 5 ชุด คือ รำตงอะบละ รำตงเหร่เร รำตงไอ่มิ รำตงหม่องโยว์การแสดงของเด็ก และรำตงหม่องโยว์การแสดงของผู้ใหญ่ รำตงเป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงที่ผสมผสานทั้งการร้อง การรำ และการทำจังหวะ พร้อมกับการแสดงอารมณ์และความรู้สึกออกมาอย่างอิสระ

 

ลักษณะการเล่น

การแสดงรำตง เป็นการร้องและรำที่ใช้เสียงดนตรีประกอบในการแสดงเป็นผู้หญิงหรือชายก็ได้โดยทั่วไปนิยมใช้ผู้แสดงหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานจำนวน 12 – 16 คนหรืออาจมากกว่าทั้งนี้อยู่กับสถานที่แสดงซึ่งอาจเป็นเวทีในร่มหรือสนามหญ้าการแสดงมีการตั้งแถวผู้แสดงเป็นแถวลึกประมาณ
5 – 6 แถวและยืนห่างกันประมาณ 1 ช่วงแขน ชุดที่ใส่ในการแสดงรำตง เป็นชุดกระโปรงปักด้วยด้ายสีสด คาดเข็มขัดเงินที่ที่เอว เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบด้วยการแสดงคือกลองสองหน้า ระนาด ฆ้องวง พิณหรือปี่ ฉิ่งตง (ไม้ไผ่ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เพราะเป็นร่องใช้ไม้ตีให้จังหวะ) เนื้อร้องของเพลงลำตรงมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของกะเหรี่ยงการอบรมให้เป็นคนดีและเกี่ยวกับพุทธศาสนาท่าทางที่รำคล้ายกับฟ้อนพม่า

 

ความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชุมชน

รำตงนอกจากจะเป็นสื่อกลางเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีแล้วยังเป็นการส่งเสริมให้สังคมของชาวกะเหรี่ยงเติมเต็มทางด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ศิลปะการแสดงพื้นบ้านนี้มีลักษณะเด่นและความน่าสนใจในด้านที่ให้ความสำคัญในเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา โดยมุ่งเน้นไปที่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงทั้งหลายได้ซึมซับเอาคุณค่าความดีงามในคติธรรม ตลอดจนแนวทางในการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคติธรรมเรื่องการสร้างความสามัคคี อันเป็นการสร้างค่านิยมที่ดีให้กับกลุ่มชน อีกทั้งยังเป็นทางออกและทางต่อสู้สำหรับความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเป็นการกล่อมเกลาจิตใจและปลูกฝังความดีงามให้กับลูกหลาน

สังคมชาวกะเหรี่ยงแทบทุกครัวเรือนประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมและกสิกรรมเป็นหลักโดยเฉพาะการทำไร่ ทำนาซึ่งปรากฎให้เห็นในแทบทุกพื้นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงที่มีความเชื่อเคารพในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นภูตผีปีศาจหรือเทพยดาฟ้าดิน ซึ่งเทพเข้าที่ชาวกะเหรี่ยงให้ความเคารพนับถือ นอกจากความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามที่ตนนับถือแล้ว พระแม่โพสพ หรือเทพธิดาแห่งข้าว (พิบุ๊โย) ก็คือเทพเจ้าที่ชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อและศรัทธาว่าท่านคือผู้ที่จะปกป้องดูแลและมีส่วนทำให้ผลิตผลที่ได้จากการเพาะปลูกข้าวมีความอุดมสมบูรณ์

การทำบุญข้าวเปลือกใหม่ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างช้านานในงานจะมีพิธีอย่างหนึ่งซึ่งเป็นความเชื่อของ ชาวกะเหรี่ยงในการแสดงความขอบคุณพระแม่โพสพ โดยจะเริ่มทำพิธีตั้งแต่ขึ้น 1 – 15 ค่ำ เดือน อ้าย (ประมาณเดือนธันวาคม – มกราคม) ในการบุญข้าวเปลือกแต่ละปีนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำข้าวมารวมกันที่วัดตามจิตศรัทธาของแต่ละบ้านที่จะมาทำบุญ โดยข้าวที่นำมาถวายนี้จะมอบให้กับทางวัดเพื่อดำเนินการต่อไป เช่น ไว้ประกอบอาหาร ไว้ช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน และนำมาคืนในปีถัดไปหรือขายเพื่อนำปัจจัยมาซื้ออุปกรณ์ในวัดเพื่อซ่อมแซมทำนุบำรุงต่อไป

สำหรับพิธีกรรมนั้นจะมีการประกอบพิธีกรรมรับขวัญข้าวใหม่ และขอบคุณพระแม่โพสพ พิธีกรรมนี้จะเริ่มในเดือดอ้าย (มกราคม) ซึ่งขั้นตอนจะเริ่มด้วยการนำเครื่องเซ่นไห้ว ซึ่งเป็นอาหารเจ ที่จัดเตรียมไว้มาถวายพระแม่โพสพ ณ ศาลเจ้า อาหารที่จัดเตรียม ประกอบไปด้วย กล้วยน้ำว้าสุก 3 หีว ต้นอ้อย 3 ต้น ขนมทองโย๊ะ (ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วมาตำผสมกับงาดำที่คัวสุกใส่เกลือพอสมควร) ใส่ลงในถาด หรือกระบะ 3 ที่ ข้าวเหนียวนึ่งคลุกมะพร้าวผสมเกลือป่น ปั้นเป็นรูปกลมๆ ไม่จำกัดจำนวน ข้าวสวย (ข้าวใหม่) 1 ถ้วย น้ำสะอาด 1 แก้ว ดอกไม้ ธูป เทียน และสายสิญจน์ 1 ม้วน จากนั้นทำพิธีถวายอาหาร เมื่อถวายอาหารเสร็จจึงทำพิธีผูกข้อมือ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล และมีการรำตงถวายพระแม่โพสพด้วย

นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงบางคนใช้การแสดงรำตงเพื่อเป็นการแก้บนก็มี ซึ่งจะกระทำกับภายหลังจากที่มีการนำข้าวขึ้นยุงฉางเป็นที่เรียบร้อย โดยวิธีการแก้บนชาวบ้านจะต้องนำอาหารคาวหวาน และการแสดงรำตงมาแก้บน สำหรับสิ่งของที่ใช้ร่วมในการแก้บน ได้แก่ ข้าวในไร่ที่ปลูกในปีนี้ เผือก มัน หรือพืชผักที่ปลูกในปีนั้นๆ  ข้าวเหนียวปั้นคลุกมะพร้าวเกลือ ขนมทองโย๊ะ (ข้าวเหนียวนำมาผสมงาเกลือ) ดอกไม้ที่ปลูกในไร่ หรือปลูกในบ้าน เทียนเหลืองหรือเทียนขี้ผึ้ง 5 เล่ม น้ำขมิ้นส้มป่อย 1 แก้ว น้ำดื่ม 1 แก้ว ขนมบัวลอยพื้นบ้าน (ไม่ใส่ไข่) รวมถึงกับข้าวอื่นๆ สำหรับเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานโดยความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงโดยส่วนใหญ่จะมีความเชื่อที่ว่า หากท่านใดไม่แก้บนตามที่กล่าวมานั้นก็มักจะประสบความเคราะห์กรรมต่างๆ เช่น บุคคลในบ้านจะเจ็บป่วย ล้มหายตายจาก หรือเกิดอุบัติเหตุจากสิงสาราสัตว์ ครอบครัวจะเดือดร้อนไม่มีความสุข ผีป่าผีเรือนจะลงโทษไม่มีความสุขความเจริญในครอบครัว

รำตงนอกจากจะเป็นสื่อกลางเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีแล้วยังเป็นการส่งเสริมให้สังคมของชาวกะเหรี่ยงเติมเต็มทางด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ศิลปะการแสดงพื้นบ้านนี้ยังมีลักษณะเด่นและความน่าสนใจในด้านที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาโดยมุ่งเน้นไปที่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงทั้งหลายได้ซึบซับเอาคุณค่าความดีงามในคติธรรม ตลอดจนแนวทางในการดำรงชีวิตตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคติธรรมเรื่องราวการสร้างความสามัคคีอันเป็นการสร้างค่านิยมที่ดีให้กับกลุ่มชนอีกทั้งยังเป็นทางออกและทางต่อสู้สำหรับความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเป็นการกล่อมเกลาจิตใจและปลูกฝังความดีงามให้กับลูกหลาน  และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการแสดงรำตงคือ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชุมชนนักอนุรักษ์ทั้งในด้านเอกลักษณ์และจารีตประเพณี การแสดงรำตงยังคงปรากฏถึงจารีตปฏิบัติ อันถือเป็นธรรมเนียมสำคัญได้แก่ การบูชาในสิ่งที่ควรแก่บูชา ในที่นี้คือการบูชาแม่พระโพสพในพิธีกรรมทำบุญข้าวใหม่ซึ่งชาวกะเหรี่ยงให้ความสำคัญในฐานที่เป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมโดยตรง ดังนั้นพวกเขาจึงทำการบูชาด้วยการมอบสิ่งที่ดีต่อผู้มีพระคุณและถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาในสังคม

แหล่งอ้างอิง

ณัฐกานต์ บุญศิริ. (2548). การแสดงพื้นบ้านของขาวกะเหรียง:กรณีศึกษารำตงบ้านใหม่พัฒนา อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปรียา ดวงเที่ยง (และคนอื่นๆ). (2551). การแสดงรำตงของชาวไทยเชื่อสายกะเหรี่ยงโป บ้านห้วยดินดำ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี. ศิลปะนิพนธ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. กรุงเทพฯ:        สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์.

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *